วันนี้แล้วที่ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ลีกลูกหนังขวัญใจมหาชน จะกลับมาเปิดม่านฤดูกาลเริ่มต้นการแข่งขันกันอีกครั้งอย่างเป็นทางการ ในคู่แรกระหว่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด พบกับฟูแลม
ในการกลับมาครั้งนี้นอกเหนือจากความเคลื่อนไหวปรับทัพเสริมทีมของบรรดาสโมสรต่างๆ ที่เป็นไปอย่างคึกคักแล้ว (ยกเว้นทีมเดียวที่คุณก็รู้ว่าใคร) ยังมีความเปลี่ยนแปลงในระดับที่สำคัญมากเกี่ยวกับเรื่องของการแข่งขัน เพื่อให้มาตรฐานของลีกสูงขึ้นตามราคาค่าลิขสิทธิ์ด้วย
มีอะไรที่จะเปลี่ยนไปบ้างนั้นเดี๋ยวมาดูกัน
เริ่มจาก VAR ก่อนเลย!
VAR อัปเดตแพตช์
สิ่งแรกที่มีการเปลี่ยนแปลงคือระบบช่วยตัดสินด้วยวิดีโอ (Video Assistant Referee หรือ VAR) ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องที่ชวนปวดหัวที่สุดของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เนื่องจากมีการตัดสินที่ผิดและพลาดกันบ่อย รวมถึงไม่ชัดเจนด้วย
ในฤดูกาลที่แล้ว คณะกรรมการ PGMOL ที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการตัดสินในพรีเมียร์ลีก พยายามหาทางสร้างความกระจ่างด้วยการทำรายการ Mic’d Up ที่จะมาวิเคราะห์การตัดสินในจังหวะที่เป็นปัญหา แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นนัก
สำหรับฤดูกาลนี้ พรีเมียร์ลีกมีการเพิ่มขั้นตอนเข้าไป โดยอิงตัวอย่างจากฟุตบอลยูโร 2004 ที่จะมีการขึ้นหน้าจอในสนามเพื่อชี้แจงว่าเกิดปัญหาในจังหวะไหนที่ VAR ต้องเข้ามาแทรกแซงการตัดสินในสนาม รวมถึงจะมีการรายงานผลการตัดสินอัปเดตแบบเรียลไทม์ผ่านบัญชี X (Twitter) ที่ใช้ชื่อว่า ‘Premier League Match Centre’ (@PLMatchCentre)
อย่างไรก็ดี @PLMatchCentre ไม่ได้ฉายภาพให้เห็นการทำงานแบบสดๆ แค่จะรายงานผลการตัดสินเท่านั้น ซึ่งลีกประเทศอื่นอย่างบุนเดสลีกาเขามีมาตั้งแต่ฤดูกาล 2021/22 แล้ว ขณะที่ลาลีกาถึงขั้นปล่อยเสียงสนทนาของผู้ตัดสินในเหตุการณ์ปัญหาหลังเกมจบลงในเวลาไม่กี่ชั่วโมง
Referee’s Call ชื่อใหม่ในขวดเก่า
พรีเมียร์ลีกฤดูกาลที่แล้วมีการตัดสินพลาดรวมกันมากกว่า 100 ครั้ง ซึ่งหลายครั้งดูเหมือน VAR จะเข้ามามีอิทธิพลเหนือผู้ตัดสินในสนามจนเกินไปในความรู้สึกของผู้ชม จนผู้ตัดสินดูไม่เป็นตัวของตัวเอง
ในฤดูกาลนี้พรีเมียร์ลีกจึงชูคำว่า ‘Referee’s Call’ หรือ ‘นี่คือการตัดสินจากผู้ตัดสินเอง’ เพื่อตอกย้ำว่าผู้ตัดสินที่ 1 ในสนามคือคนที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินเกม หรือพูดง่ายๆ ก็คือเกมจะดำเนินไปตามการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินในสนาม
ยกเว้นเสียแต่จะมี ‘หลักฐาน’ ที่ชัดเจนมากพอว่ามีความผิดพลาดหรือรายละเอียดที่ตกหล่นชัดเจนมากพอที่จะทำให้ VAR แทรกแซงและให้ความเห็นเกี่ยวกับการตัดสิน
แต่ในมุมของผู้เชี่ยวชาญแล้วเรื่องนี้ก็ไม่ค่อยต่างอะไรจากเดิมเท่าไร เพราะมันก็คือร่างทรงของคำว่า Clear and Obvious Error นั่นเอง
SAOT ของดีไม่ต้องตีเส้นล้ำหน้าเอง
ของดีจริงๆ ที่จะช่วยให้เกมฟุตบอลชัดเจนขึ้นมากก็คือ ระบบการช่วยตัดสินลูกล้ำหน้าแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automated Offside Technology หรือ SAOT)
ปกติแล้วลูกล้ำหน้าที่มีปัญหาจะต้องกลับมาเช็กผ่านระบบ VAR ซึ่งผู้ตัดสิน VAR มีหน้าที่ที่จะต้องเช็กจากมุมกล้องแล้วลากเส้นเพื่อดูว่าล้ำหน้าหรือไม่ แน่นอนว่าถึงจะเป็นผู้ตัดสินฝีมือดีแค่ไหน โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดจากการตัดสินล้ำหน้ามีแน่นอน และผลของมันบางครั้งก็ร้ายแรงด้วย
ระบบ SAOT จะเข้ามาช่วยในเรื่องนี้ โดยการใช้กล้องจากหลังคาสนามในมุมต่างๆ ช่วยจับภาพและประมวลผลออกมาเป็นภาพ 3 มิติ แสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการล้ำหน้าเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งเราได้เห็นมาแล้วในฟุตบอลโลก 2022 รวมถึงฟุตบอลยูโร 2024 และยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก
พรีเมียร์ลีกคาดหวังว่า SAOT จะช่วยลดเวลาในการตัดสินลูกล้ำหน้าได้ถึงเหตุการณ์ละ 31 วินาที เอากลับไปเป็นเวลาในการแข่งขันแทน (บางทีก็ลากเส้นกันงงๆ ถึง 4-5 นาที)
เพียงแต่ SAOT จากผู้พัฒนาเจ้าใหม่ Second Spectrum จะยังมาไม่ทันเปิดฤดูกาล โดยคาดว่าจะนำมาใช้ได้ในช่วงหลังปฏิทินทีมชาติใน 3 เดือนแรกของพรีเมียร์ลีก (เดือนกันยายน-พฤศจิกายน) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมาทันในเดือนตุลาคม
แฮนด์บอลที่กลับมาเป็นแฮนด์บอล?
หลายปีมานี้ทุกคนหัวจะปวดกับกฎแฮนด์บอลจนแทบจะเป็นคนที่ไม่รู้จักกันแล้ว แต่ในฤดูกาลนี้มีความพยายามที่จะทำให้แฮนด์บอลกลับมาเข้าใจได้ง่ายขึ้น
แต่ความพยายามนั้นไม่ได้มากมายอะไรนัก เป็นแค่การระบุว่า “ถ้าบอลแฉลบจากเท้าหรือจากส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายแล้วเปลี่ยนทิศไปโดนแขน จะไม่ถือว่าเป็นการทำแฮนด์บอล” ต่อให้แขนจะมีการเหยียดจากตัวหรือยกขึ้นสูงเหนือศีรษะก็ตาม
ที่ทำแบบนี้ก็เพื่อหวังจะลดการให้จุดโทษที่ดูหยุมหยิมที่มีมากเหลือเกินในฤดูกาลที่ผ่านมา เพียงแต่ถ้าเป็นจังหวะที่บอลแฉลบเปลี่ยนทิศแค่เล็กน้อยแล้วไปโดนมือหรือแขน ผู้ตัดสินก็ยังสามารถให้แฮนด์บอลและจุดโทษในกรอบเขตโทษได้อยู่ดี
มีอะไรที่ใหม่อีก?
- VAR จะลดการแทรกแซงในจังหวะยิงจุดโทษ หากมีผู้เล่นฝ่ายใดขยับเข้ากรอบเขตโทษก่อนผู้ทำหน้าที่จะยิง จากเดิมที่จะต้องตรวจและให้ยิงใหม่ จะเปลี่ยนเป็นให้ยิงใหม่เฉพาะการขยับเข้าเขตโทษของผู้เล่นคนนั้นๆ มีผลต่อจังหวะการเล่นที่ชัดเจน
- จังหวะ DOGSO หรือ Denying an Obvious Goal-Scoring Opportunity หรือการขัดขวางจังหวะการทำประตูที่ชัดเจนนั้น จะเป็นใบแดงเฉพาะการขัดขวางจังหวะการเล่นโดยที่ไม่พยายามเล่นบอล เช่น การดึงหรือรั้ง แต่ถ้าเป็นจังหวะที่พยายามเล่นบอล เช่น แหย่ขาสกัดหรือแฮนด์บอลแบบไม่ตั้งใจ จะเป็นแค่ใบเหลืองเท่านั้น
- การทดเวลา (Added Time) จะกลับมาเป็นปกติ ไม่มีการยืดไปเกินจนเตะกันมากกว่า 100 นาทีอีกแล้ว โดยจะมีเกณฑ์ในการคำนวณเวลาที่เสียไปในเกมใหม่ เช่น การฉลองประตูจะบวกเพิ่ม 30 วินาทีพอ
ทั้งหมดนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางการตัดสิน ที่พรีเมียร์ลีกคาดและหวังว่าจะทำให้เกมฟุตบอลนั้นสนุกขึ้น มีอรรถรสมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือชัดเจนและโปร่งใสยิ่งขึ้นในฤดูกาลใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น
หวังว่าจะช่วยให้ดีขึ้นจริงๆ นะ ดูบอลไปหัวจะได้ไม่ปวดไป!
อ้างอิง: