สื่อนอกจับตา หาก เศรษฐา ทวีสิน ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไปจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยแค่ไหน โครงการเรือธงของพรรคเพื่อไทยอย่าง Digital Wallet จะได้ไปต่อหรือไม่?
ในวันพรุ่งนี้ (14 สิงหาคม) เวลา 15.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญจะอ่านคำวินิจฉัยซึ่งจะทราบผลชี้ชะตาเศรษฐาว่าจะพ้นจากตำแหน่งนายกฯ คนที่ 30 หรือจะทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) หลุดไปทั้งคณะ หรือสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จะต้องโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่ หรือรัฐบาลสุญญากาศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตาดิจิทัลวอลเล็ตเสี่ยงถึงทางตัน หาก ธปท. ไม่ยอมให้บล็อกเชนเชื่อมกับระบบโอนเงินแบงก์พาณิชย์ หวั่นกระทบระบบการเงินประเทศ
- หนี้ครัวเรือนไทยจ่อโตแซง GDP
- ฟองสบู่ราคาบ้าน 1-3 ล้านใกล้แตก? จากหนี้เสีย 1.2 แสนล้าน หลังคนรายได้น้อย-ปานกลางเริ่ม ‘ผ่อนบ้านไม่ไหว’ จากปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้น
สืบเนื่องจากกรณี 40 สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้ว่าพิชิตขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม เนื่องจากเคยถูกคำสั่งศาลฎีกาคุมขังเป็นเวลา 6 เดือน
แม้พิชิตได้ลาออกไปแล้ว และเศรษฐา ซึ่งดำรงตำแหน่งมาได้ไม่ถึง 1 ปีเต็มนัก ยืนยันว่าเขาบริสุทธิ์
ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง รับคำร้อง 40 สว. ยื่นถอดถอนนายกฯ ขณะที่ 5 ต่อ 4 ไม่มีคำสั่งให้เศรษฐาหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวระบุว่า เศรษฐาจะไม่อยู่ที่ศาลในวันพรุ่งนี้เพื่อฟังคำตัดสิน โดยให้เหตุผลว่าติดภารกิจ แต่จะส่ง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปแทน
สำนักข่าว Bloomberg วิเคราะห์คำวินิจฉัยไว้ 2 ฉากทัศน์ ดังนี้
1. กรณีไม่มีความผิด
คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผลดีกับเศรษฐา หมายความว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะดำเนินไปตามปกติ เนื่องจากหลุดความเสี่ยงคำครหาที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐบาลผสม (Coalition Government) ทันที โดยพรรคเพื่อไทยที่ครองอำนาจอยู่จะยังรักษาตำแหน่งทางการเมืองสูงสุดไว้ได้ เอาชนะพันธมิตรในรัฐบาลผสมฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ถูกตั้งคำถามว่าสนับสนุนคำร้องที่ต่อต้านเศรษฐา
นอกจากนี้ จะเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่กังวลถึงผลกระทบของเสถียรภาพทางการเมือง เนื่องจากรัฐบาลที่นำโดยพลเรือนถือเป็นชัยชนะที่ต่อสู้มาอย่างยากลำบาก หลังจากไทยปกครองโดยสถาบันที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพมาเกือบ 10 ปีเต็ม
อีกทั้งปีนี้กองทุนต่างชาติ (Foreign Funds) ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ดัชนี SET ของไทยลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี ถือเป็นหนึ่งในดัชนีที่มีผลงานแย่ที่สุดในบรรดาดัชนีตลาดหุ้นโลกทั้งหมดที่ Bloomberg ติดตามในปีที่ผ่านมา
แต่เนื่องจากเศรษฐาไม่ได้ถูกสั่งให้พักการปฏิบัติหน้าที่ จึงมุ่งเน้นไปที่การเดินหน้าโครงการแจกเงิน (Digital Wallet) ของรัฐบาลมูลค่าประมาณ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ความสำเร็จของโครงการนี้จะยิ่งตอกย้ำต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลเศรษฐาและพรรคเพื่อไทยที่ครองอำนาจอยู่ หลังจากที่คะแนนนิยมของพรรคลดลงในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
2. กรณีมีความผิด
คำวินิจฉัยไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐาแน่นอน หมายความว่า เศรษฐา และ ครม. จะต้องลาออก ทำให้เกิดการแย่งชิงกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อเจรจาและตกลงกันเกี่ยวกับผู้สมัครรับตำแหน่งนายกฯ คนต่อไป
หลังจากนั้น สส. จะต้องเปิดประชุมเพื่อลงคะแนนเสียงเลือกนายกฯ คนใหม่ โดยไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการเลือกผู้นำคนใหม่ที่ชัดเจน ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักได้
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองและนักกฎหมายมีความเห็นแตกต่างว่าจำเป็นต้องมีนายกฯ รักษาการในระหว่างนี้หรือไม่ และอาจจำเป็นต้องเป็นเศรษฐา หรือ ‘รองนายกฯ คนใดคนหนึ่งในจำนวน 6 คน’ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความชัดเจนในประเด็นนี้
ทั้งนี้ สถานการณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างความเสี่ยงต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีแรงกดดันทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้เกิดช่องว่างทางอำนาจ การลงทุนจากต่างประเทศอาจหยุดชะงักลง เนื่องจากตลาดต้องรอความชัดเจนก่อนว่าใครจะเป็นผู้นำประเทศ ทว่าเศรษฐาจะทิ้งทวนเศรษฐกิจที่มีอัตราการเติบโต 2% ต่อปี มานานกว่า 10 ปีอีกต่อไปหรือไม่ ท่ามกลางบรรยากาศตลาดและนักลงทุนที่ต่างกังวลปมวิวาทะระหว่างแบงก์ชาติกับรัฐบาลเกี่ยวกับการกำหนดอัตราดอกเบี้ย
Krystal Tan นักเศรษฐศาสตร์จาก Australia and New Zealand Banking Group กล่าวว่า “หากมองด้านเศรษฐกิจ ความกังวลแรกที่อาจเกิดขึ้นคือความเสี่ยงที่จะเกิดการประท้วงและอาจส่งผลต่อความล่าช้าของงบประมาณปี 2568”
ส่วนโครงการ Digital Wallet 10,000 บาท นั้น “หากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถรักษาตำแหน่งนายกฯ ไว้ได้ ก็จะมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะล่าช้าออกไปอีกหรือยกเลิกไปในที่สุด”
จับตาแคนดิเดต 6 คนจากพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีสิทธิเสียบแทนตำแหน่งนายกฯ
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยยังมีผู้สมัคร 2 คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ ได้แก่ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ และ ชัยเกษม นิติสิริ อายุ 75 ปี
ทั้งนี้ เชื่อว่าทั้งคู่มีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากแพทองธารไม่พร้อมสำหรับตำแหน่งนี้ และชัยเกษมมีปัญหาสุขภาพร้ายแรงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ถือเป็น ‘ตัวเต็ง’ ส่วน ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ คืออีกหนึ่งทางเลือกจากกลุ่มอนุรักษนิยม
อ้างอิง: