วานนี้ (11 สิงหาคม) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง ‘สถานการณ์การเมืองไทย ณ วันนี้’ ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2567 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,147 คน สำรวจผ่านทางออนไลน์และภาคสนาม พบว่า กลุ่มตัวอย่างสนใจข่าวการเมืองในช่วงนี้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 43.42 โดยสนใจข่าวยุบพรรคก้าวไกลเป็นพิเศษ ร้อยละ 75.65
เมื่อเปรียบเทียบสถานการณ์การเมือง ณ วันนี้กับช่วงที่ผ่านมา คิดว่าแย่ลง ร้อยละ 67.57 ด้านความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเศรษฐา กลุ่มตัวอย่างรู้สึกไม่ค่อยเชื่อมั่น ร้อยละ 63.73 ด้านกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็เห็นว่าควรปรับ ร้อยละ 55.62 สุดท้ายมองว่าทิศทางการเมืองไทยต่อจากนี้น่าจะแย่ลง ร้อยละ 68.44
พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลโพลสะท้อนความวิตกกังวลของประชาชนต่อสถานการณ์การเมืองปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะการยุบพรรคก้าวไกลที่กระตุ้นความสนใจข่าวการเมือง การมองว่าการเมืองแย่ลง สะท้อนถึงความไม่พอใจต่อการบริหารงาน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ แม้จะมีความคืบหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็ยังไม่เพียงพอ ความเชื่อมั่นในรัฐบาลที่ต่ำ และการสนับสนุนการปรับครม. แสดงถึงความคาดหวังในการเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นความท้าทายที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน
ขณะที่ ดร.งามประวัณ เอ้สมนึก อาจารย์ประจำโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจข่าวการเมืองเพิ่มมากขึ้น โดยมุ่งความสนใจไปที่กรณีการยุบพรรคก้าวไกลเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการสำรวจครั้งนี้อยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ยุบพรรคก้าวไกล พร้อมกับเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 10 ปี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567
ส่งผลให้ สส. พรรคก้าวไกล ที่เหลืออยู่ 143 คน ต้องหาพรรคสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน เพื่อไม่ให้ขาดสมาชิกภาพ สส. ต้องมีการจัดการเลือกตั้ง สส. พิษณุโลก เขต 1 และต้องเลือกรองประธานสภา คนที่ 1 คนใหม่ เพื่อแทนปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง รวมทั้งต้องมีการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านคนใหม่แทนชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกลเดิมอีกด้วย
ผลโพลครั้งนี้สะท้อนมุมมองของประชาชนต่อสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันว่ามีสถานการณ์แย่ลง และมุมมองต่อทิศทางการเมืองไทยในอนาคตว่ามีแนวโน้มที่แย่ลงด้วย อีกทั้งประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นต่อการบริหารของรัฐบาล สิ่งเหล่านี้อาจเป็นมุมสะท้อนจากสถานการณ์ความผันผวนทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้