หลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 ในทะเลฮิวงะ เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้เกิดสึนามิสูง 50 เซนติเมตร ที่ท่าเรือมิยาซากิ และ 40 เซนติเมตร ที่ท่าเรือโทสะชิมิสึ ความกังวลถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ใน ‘แอ่งนันไค’ ซึ่งเชื่อมต่อกับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งล่าสุดนี้ ก็แพร่ไปตามสื่อของทางการญี่ปุ่น
ต้นทางของข่าวมาจากคำเตือนของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น หรือ JMA ในช่วงค่ำของวันเดียวกันนั้นว่า ‘มีความเป็นไปได้สูงกว่าปกติ’ ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ในแอ่งนันไค ซึ่งจะก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ตามมา ให้ประชาชนเตรียมพร้อมแต่ไม่ต้องอพยพ และยังเน้นย้ำว่าคำเตือนนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดแผ่นดินไหวดังกล่าวในเร็วๆ นี้แต่อย่างใด เพียงแต่ให้ตื่นตัวและเตรียมความพร้อมตามที่เคยฝึกซ้อมไว้เท่านั้น
แผ่นดินไหวในแอ่งนันไค คืออะไร
แอ่งนันไค หรือ Nankai Trough เป็นร่องน้ำลึกรูปตัว U ลึกประมาณ 4,000 เมตร บนพื้นทะเลทางใต้ของนันไคโด หรือเขตทะเลใต้ของประเทศญี่ปุ่น เขตนี้กินพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่บางจังหวัดทางใต้ของภูมิภาคคิงกิ ไปจนถึงหลายจังหวัดทางใต้ของภูมิภาคชิโกกุ และบริเวณแอ่งนันไคนี้เอง ที่เป็นที่ตั้งของรอยเลื่อนสำคัญที่มีความยาวมากกว่า 800 กิโลเมตร
รอยเลื่อนดังกล่าวเป็นแนวมุดตัวหลักของแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ ที่เคลื่อนเข้าไปใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซียในอัตราเร็ว 3-5 เซนติเมตรต่อปี รอยเลื่อนนี้มีลักษณะเป็น ‘รอยเลื่อนย้อนมุมต่ำ’ (Thrust Fault) คือทำมุมชันน้อยกว่า 45 องศา ซึ่งจัดเป็นประเภทรอยเลื่อนอันตรายที่ก่อให้เกิดแผ่นดินไหวเมกะทรัสต์ ที่มีขนาดใหญ่กว่า 8.0 ขึ้นไป และก่อให้เกิดคลื่นสึนามิขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ จากการดีดตัวของเปลือกโลกที่ถูกกดทับไว้
รอยเลื่อนที่แอ่งนันไค มีฝั่งตะวันออกเริ่มต้นจากปากแม่น้ำฟูจิในอ่าวซุรุงะ จังหวัดชิซึโอกะ ลากยาวลงใต้สู่ชายฝั่งโอมาเอซากิ จากนั้นเลี้ยวไปทางตะวันตกเฉียงใต้ ผ่านชายฝั่งแหลมชิโอโนะและแหลมมุโระโตะ จนไปสุดฝั่งตะวันตกบริเวณทะเลฮิวงะ ใกล้เกาะคิวชู ซึ่งก็คือบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.1 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา รอยเลื่อนที่มีความยาวระดับนี้ สามารถสร้างแผ่นดินไหวใหญ่ถึงระดับเมกะทรัสต์ได้ทุกคาบเวลา 100-200 ปี
สำหรับประวัติแผ่นดินไหวเมกะทรัสต์ในรอยเลื่อนนี้ มีบันทึกว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 684 โดยหากเรามองตามภาพบนคือแบ่งรอยเลื่อนออกเป็นโซน A ถึง E โดยมีโซน A และ B ในทะเลนันไค โซน C และ D ในทะเลโทนันไค และโซน E ในทะเลโทไค แผ่นดินไหวต่างๆ ที่ผ่านมา
- แผ่นดินไหวฮาคุโฮ ขนาด 8.4 ในปี 684 มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
- แผ่นดินไหวนินนะ นันไค ขนาด 8.6 ในปี 887 มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
- แผ่นดินไหวไม่ระบุชื่อ ขนาด 8.4 ใน ปี 1096 ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
- แผ่นดินไหวโควะ นันไคโด ขนาด 8.0 ในปี 1099 ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
- แผ่นดินไหวไม่ระบุชื่อ ขนาด 7.0 ในปี 1360 ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
- แผ่นดินไหวโชเฮ ขนาด 8.4 ในปี 1361 ไม่ระบุจำนวนผู้เสียชีวิต
- แผ่นดินไหวเมโอ ขนาด 8.3 ในปี 1498 มีผู้เสียชีวิตหลายพันราย เกิดแผ่นดินไหวดับเบิลช็อกในปีเดียวกันด้วย
- แผ่นดินไหวเคอิโช ขนาด 7.9 ในปี 1605 มีผู้เสียชีวิตหลายพันราย
- แผ่นดินไหวโฮเออิ ขนาด 8.6 ในปี 1707 มีผู้เสียชีวิต 5,000 คน
- แผ่นดินไหวดับเบิลช็อกโทไค ขนาด 8.4 และแผ่นดินไหวนันไค ขนาด 8.4 ในปี 1854 เกิดคลื่นสึนามิสูง 22 เมตร มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน
- แผ่นดินไหวโทนันไค ขนาด 7.9 ในปี 1944 มีผู้เสียชีวิต 1,251 คน
- แผ่นดินไหวนันไค ขนาด 8.0 ในปี 1946 เกิดคลื่นสึนามิสูง 6.9 เมตรมีผู้เสียชีวิต 1,330 คน
ตามข้อมูลชุดนี้ หากนับจากแผ่นดินไหวนันไค 2 ครั้งสุดท้าย ที่เกิดในปี 1944-1946 จนถึงวันนี้ก็จะเป็นเวลา 78 ปี ใกล้ถึงรอบเกิดซ้ำพอดี จึงมีเหตุสร้างความกังวลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า อาจใกล้เวลาที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกครั้งในเขตนันไคโด โดยเฉพาะตามประวัติมีหลายครั้งที่จะเกิดแผ่นดินไหวชนิดดับเบิลช็อก คือมีเมนช็อก 2 ครั้งตามกันมา ไม่ว่าจะเป็นปีเดียวกันทั้ง 2 ครั้งแบบเหตุการณ์ในปี 1854 หรือห่างกัน 2 ปีในเหตุการณ์ครั้งหลังสุด จนต้องมีการออกมาประกาศคำเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังล่วงหน้า ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีคำเตือนในลักษณะนี้ออกมา
แม้ว่าการพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวให้แม่นยำใน 3 ปัจจัย ทั้งเวลา ขนาด และพิกัด เหมือนการพยากรณ์พายุจำพวกไต้ฝุ่นหรือไซโคลนเพื่อให้ประชาชนอพยพได้ทันท่วงทีนั้น จะยังไม่สามารถทำได้ในวิทยาการของโลกยุคปัจจุบัน แต่เพื่อลดการสูญเสีย หน่วยงานของญี่ปุ่นจึงต้องออกแบบคำเตือนในลักษณะการกำหนดพื้นที่เสี่ยงภัยเฉพาะเหตุ ที่ประชาชนในพื้นที่นี้จะได้รับการอพยพล่วงหน้า หากมีแนวโน้มว่าจะเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขึ้นมา โดยทางการจัดชุดเฝ้าระวังที่จะเริ่มทำงานทันทีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.8 ขึ้นไปจากแอ่งนันไค เพราะอาจเป็นแผ่นดินไหวนำหรือฟอร์ช็อกของแผ่นดินไหวเมนช็อกขนาด M8+ ที่จะตามมา ชุดเฝ้าระวังนี้จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะประกาศคำเตือนล่วงหน้าออกมาในระดับใดภายใน 2 ชั่วโมง เช่น ให้ดำเนินชีวิตตามปกติ แต่ให้เตรียมพร้อมสำหรับการอพยพไว้ หรือให้ผู้ที่เดินทางลำบาก เช่น ผู้พิการ อพยพไว้ล่วงหน้า เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังในกรณีที่อาจเกิดคลื่นสึนามิขึ้นมาจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 8.0 จากแอ่งนันไคในครั้งต่อไป เพราะจากการที่รอยเลื่อนอยู่ไม่ไกลจากฝั่งทะเล คลื่นสึนามิจึงอาจมาถึงชายฝั่งเร็วมากในเวลาเพียง 3-15 นาที ประชาชนจึงต้องตื่นตัวเตรียมพร้อม หากมีสัญญาณเตือนขึ้นมาก็ให้อพยพออกห่างจากชายฝั่งโดยทันที
ภาพ: Kyodo via Reuters
อ้างอิง: