หลักการสำคัญของโลกธุรกิจที่เรารู้จักดีคือหน่วยธุรกิจทั้งหลายต่างต้องการสร้างผลประโยชน์อย่างสูงสุด (Maximize Profit) ให้กับตัวเองทั้งสิ้น เป็นรูปแบบที่ระบบทุนนิยมถูกวิพากษ์มาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะดูล้าสมัยไปแล้ว และองค์กรชั้นนำทั้งหลายต่างพูดเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในเกมธุรกิจกลับมีให้เห็นไม่มากนัก
แต่ก็ยังไม่หมดความหวัง
สำนักข่าว THE STANDARD เข้าร่วมงาน Movin’ On 2018 ที่เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ซึ่งชูประเด็นสำคัญเรื่องการสัญจรที่ยั่งยืน (Sustainable Mobility) ได้เห็นโลกอนาคตที่ขยับเข้าใกล้สิ่งที่เราเคยเรียกว่าความฝันมากขึ้นเรื่อยๆ ความจริงจังของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกในการปรับตัวให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่แสนจะเปราะบาง รวมถึงความหวังที่น่าจะจุดประกายให้กับภาคธุรกิจไทยด้วย
เศรษฐกิจหมุนเวียน การสัญจร เมืองอัจฉริยะ และความยั่งยืน
งาน Movin’ On 2018 by Michelin จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘World Summit on Sustainable Mobility’ ตีความเรื่องการสัญจรอย่างยั่งยืนได้ครบทุกมิติ สิ่งสำคัญคือการหยิบยกเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาเป็นธงสำคัญเพื่อกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนตระหนักถึงการเคลื่อนโลกทั้งใบนี้ไปข้างหน้าบนหลักการที่ไม่เพียงคำนึงถึงแต่ภาวะโลกร้อนหรือเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น แต่เพื่อความอยู่รอดของตัวมนุษย์เอง
กระทรวงอุตสาหกรรมให้นิยามเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า “เศรษฐกิจที่คุณค่าของวัตถุดิบ ทรัพยากร และผลิตภัณฑ์ได้รับการรักษาให้คงไว้นานที่สุดและมีการสร้างของเสียที่ต่ำที่สุด ซึ่งตามความหมายนี้แล้ว ระบบเศรษฐกิจที่มีการหมุนเวียนจะมีคุณสมบัติที่สามารถฟื้นคืน กลับสู่สภาพเดิม และสามารถคงภาคส่วนต่างๆ ที่อยู่ภายในระบบให้มีคุณภาพและคุณค่าสูงสุด”
แม้ความหมายดังกล่าวอาจจะไม่สอดคล้องกับลักษณะของเศรษฐกิจกระแสหลักปัจจุบันที่เน้นผลิตสินค้า (Make) ใช้งาน (Use) และทิ้งเป็นของเสีย (Dispose) เท่าใดนัก แต่หลายฝ่ายก็เชื่อว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนคือทางออกเดียวสำหรับมนุษยชาติที่เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างชาญฉลาด คุ้มค่า คำนึงถึงการฟื้นคืนสภาพของทรัพยากรผ่านการหมุนเวียนผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ และวัตถุต่างๆ ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ภาพที่ค่อนข้างชัดเจนคือการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิล (Recycle) ที่โลกพูดถึงกันมานานแล้ว
แนวคิดที่ท้าทายคือเป็นไปได้หรือไม่ที่ภาคธุรกิจจะผลิตสินค้าออกมาให้ใช้งานได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค และลดทอนการเบียดเบียนธรรมชาติลง
เรื่องนี้พูดง่ายแต่ทำยาก โชคดีที่ยังมีองค์กรจำนวนมากที่ยังเชื่อในการทำสิ่งยากๆ ให้เกิดขึ้น
ผู้เล่นรายสำคัญของธุรกิจยางรถยนต์อย่าง Michelin ประกาศเป้าหมายใหญ่ที่ท้าทายที่สุดของวงการอุตสาหกรรม ในปี 2048 ยางรถยนต์ของ Michelin จะนำเข้ากระบวนการรีไซเคิลได้ 100% โดยจะผลิตด้วยวัตถุดิบชีวภาพและวัตถุดิบรีไซเคิลถึง 80% ซึ่งทุกวันนี้ยังมีสัดส่วนเพียง 28% เท่านั้น วัตถุดิบชีวภาพที่ใช้ในการผลิตยาง ได้แก่ ยางธรรมชาติ น้ำมันดอกทานตะวัน หรือน้ำมันหอมระเหย (ลิโมนีน) ปัจจุบัน Michelin ใช้วัตถุดิบส่วนนี้ 26% ขณะที่อีก 2% จะใช้วัตถุดิบรีไซเคิลอย่าง เหล็ก หรือผงยางรีไซเคิล
สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งคือเทคโนโลยีขั้นสูงที่ใช้ในกระบวนการผลิตซึ่งต้องอาศัยโครงการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ เช่น โครงการ BioButterfly ที่เปิดตัวเป็นครั้งแรกในปี 2012 ซึ่งนำวัตถุดิบโพลิเมอร์ความยืดหยุ่นสูงสังเคราะห์จากมวลชีวภาพอย่าง ไม้ ฟาง หรือหัวบีต เข้ามาใช้ในห่วงโซ่อุปทานของ Michelin
โจทย์สำคัญคือการนำวัตถุดิบรีไซเคิลมาใช้ในสัดส่วนที่สูงขึ้น 15 เท่าตัวในปี 2048 ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ล่าสุด Michelin เพิ่งเข้า Lehigh Technologies บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีผงยางรีไซเคิล หรือผงยางไมโครไนซ์ (Micronized Rubber Powder – MRP) ซึ่งสามารถใช้แทนน้ำมันและวัตถุดิบประเภทยางอื่นๆ มาเสริมกำลังและผลักดันเรื่องนี้เต็มตัว
Michelin เปรียบเทียบการประหยัดต้นทุนทรัพยากรธรรมชาติเมื่อเป้าหมายปี 2048 เป็นจริงตามที่ตั้งเอาไว้ได้น่าสนใจ นั่นคือการลดการใช้งานน้ำมันถึง 33 ล้านบาร์เรลต่อปี ซึ่งรถโดยสารส่วนบุคคลทั่วไปสามารถใช้วิ่งได้ถึง 6.5 หมื่นล้านกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับปริมาณพลังงานที่ใช้ในฝรั่งเศสทั้งประเทศ 1 เดือนเต็ม
ภาพด้านบนคือยางต้นแบบในอนาคตที่ Michelin สร้างจากเครื่องพิมพ์สามมิติด้วยแนวคิดการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัตถุดิบรีไซเคิลเป็นองค์ประกอบหลัก ไม่เพียงแต่แข็งแรง ทนทาน และมีอายุการใช้งานนานแล้ว ยางชิ้นนี้ยังสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบของรถ สื่อสารกับยานยนต์หรืออุปกรณ์อื่นได้ผ่านไอโอที และยังสามารถชาร์จพลังงานไฟฟ้าไปในตัวได้อีกด้วย
นิโคลา โบมองต์ ผู้อำนวยการจัดงาน Movin’ On และรองประธานอาวุโส Sustainable Development and Mobility ของ Michelin ระบุว่าองค์กรของเขาดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ที่สหประชาชาติประกาศเมื่อปี 2015 ซึ่งรูปแบบการทำธุรกิจจากนี้ต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติให้คุ้มค่าที่สุด
“ที่ Michelin เราไม่ได้ขายแต่ยางอีกต่อไป” นิโคลากล่าว
แทนที่จะผลิตยางจำนวนมากๆ ออกมาขายตามปกติ Michelin จะให้ลูกค้าบางกลุ่มธุรกิจ เช่น สายการบิน เช่าใช้ยางสำหรับอากาศยาน เมื่อถึงกำหนดจะนำยางกลับมาซ่อมบำรุงและใช้งานใหม่หมุนเวียนในระบบเพื่อยืดอายุการใช้งานยางให้ยาวออกไป นิโคลามองว่าการสัญจร (Mobility) คือพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันภาคธุรกิจต้องผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัย มีประสิทธิภาพที่ดี คุ้มค่าเงิน และผู้คนสามารถเข้าถึงได้ด้วย
ในงาน Movin’ On 2018 by Michelin ไม่เพียงแต่เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นประเด็นใหญ่เท่านั้น ยังมีเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับการสัญจรของผู้คน ปัญญาประดิษฐ์ และบทบาทของอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง หรือไอโอที (Internet of things) ในอนาคต รวมทั้งเรื่องเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ด้วย
กำ เหอ ผู้อำนวยการ Solution & Consulting for Alibaba Cloud America เล่าเรื่อง Alibaba City Brain Platform ซึ่งเปลี่ยนโฉมหน้าของการบริหารจัดการเมืองด้วยปัญญาประดิษฐ์บนระบบคลาวด์ ซึ่งบริการจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ที่รวบรวมจากภาครัฐ เครือข่ายฐานข้อมูลภาคเอกชน ข้อมูลการสัญจรของรถบนท้องถนน พฤติกรรมของผู้คนในพื้นที่ รวมถึงระบบเซนเซอร์ที่กระจายไปทั้งระบบไอโอที ซึ่งจะช่วยนำไปวางแผนและจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หน่วยงานด้านความปลอดภัย พลังงานทดแทน บริการด้านสาธารณสุข ไปจนถึงการดูแลระบบงานจราจรบนท้องถนนด้วย
ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดอุบัติเหตุและมีผู้บาดเจ็บ รถพยาบาลซึ่งเชื่อมต่อกับระบบเมืองอัจฉริยะจะส่งข้อมูลเข้าไป จากนั้นระบบจะตรวจสอบสภาพการจราจรขณะนั้นเพื่อช่วยคำนวณเส้นทางที่สั้นที่สุดแก่รถพยาบาล และให้สัญญาณไฟจราจรที่เอื้อต่อการเดินทางเร่งด่วนของรถคนนั้นๆ ทำให้ผู้บาดเจ็บถูกส่งถึงมือแพทย์ได้เร็วขึ้นเป็นเท่าตัว ปัจจุบันระบบ City Brain ถูกใช้งานที่เมืองหางโจวและซูโจวในประเทศจีน นอกจากนี้รัฐบาลมาเลเซียก็เลือกใช้งานที่กัวลาลัมเปอร์ด้วย
การผลักดันเรื่องเมืองอัจฉริยะไม่เพียงแต่รัฐบาลของแต่ละประเทศและบริษัทด้านเทคโนโลยีเท่านั้น ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น หรือ HSBC เริ่มปล่อยกู้ให้กับธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการสัญจรและติดต่อสื่อสารเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนโครงการสีเขียวอีกด้วย HSBC ประเมินว่าเม็ดเงินสำหรับการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากนี้ไปอีก 14 ปีข้างหน้า หรือปี 2032 จะมีมูลค่ารวมถึง 90 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งรูปโฉมของเมืองอัจฉริยะในวันข้างหน้าจะไม่เพียงแต่ทันสมัยเท่านั้น แต่จะต้องอยู่กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนด้วย
“เรายินดีที่จะประกาศว่าเศรษฐกิจหมุนเวียนกำลังก้าวไปข้างหน้า (Circular Economy is Movin’ On)”
เป็นประโยคสำคัญจากทีมผู้จัดงานที่สรุปจบซัมมิตระดับโลกครั้งนี้ได้ดีทีเดียว แม้กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมงานจะเป็นองค์กรจากสหรัฐอเมริกาและประเทศกลุ่มยุโรปที่ทั้งโครงสร้างพื้นฐานและโครงสร้างทางความคิดต่อเรื่องดังกล่าวจะแข็งแรงอยู่แล้ว แต่แนวคิดจากงาน Movin’ On 2018 by Michelin นี้ยังเป็นประโยชน์กับประเทศไทยด้วย ซึ่งจำเป็นที่ผู้ที่บริหารประเทศและผู้ที่มีส่วนในการกำหนดทิศทางของชาติควรจะรับรู้ เข้าใจ และนำประโยชน์จากหลักคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้พัฒนาและยกระดับทุกภาคส่วน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนบนพื้นฐานของการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและคุ้มค่า
ความร่วมมือจากภาคธุรกิจดูจะเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน หลายแบรนด์จากงานนี้มองตรงกันเรื่องการก้าวข้ามจากมุมมองอันคับแคบของเรื่องยอดขายและผลกำไรเป็นกอบเป็นกำไปสู่การผลิตสินค้าที่ใช้งานได้ยาวนานขึ้น ลดปริมาณของเสียลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อนั้นจะเกิดคุณค่าต่อตัวสินค้า มีมูลค่าเพิ่ม และเป็นรากฐานที่มั่นคงให้กับบริษัทในอนาคต
ธรรมชาติอยู่ได้ คนจึงอยู่ได้ ธุรกิจก็ไปต่อ
อ้างอิง: