×

พิษเงินบาทอ่อนค่าฉุดกำไร ‘การบินไทย’ ไตรมาส 2 ร่วง 86% ยังมั่นใจทั้งปี 67 มี EBITDA เกิน 2 หมื่นล้าน-เพิ่มทุนเสร็จออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ตามเป้า

10.08.2024
  • LOADING...
การบินไทย

บมจ.การบินไทย ประกาศเดินหน้าเพิ่มทุนตามแผนเสร็จในสิ้นปีนี้ ดันส่วนผู้ถือหุ้นพลิกเป็นบวก พร้อมยื่นไฟลิ่งในเดือนกันยายนนี้ คาดนำหุ้นกลับมาเทรดอีกครั้งในไตรมาส 2 ปีหน้า 

 

ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย หรือ THAI เปิดเผยในงานแถลงข่าวผลการดำเนินงานไตรมาส 2 และรอบ 6 เดือนแรกของปี 2567 ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 2/67 บริษัทมีกำไรสุทธิที่ 314 ล้านบาท ลดลง 86.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2,273 ล้านบาท ขณะที่มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 4,401 ล้านบาท ลดลง 52.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 9,307 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/67 บริษัทมีค่าใช้จ่ายที่ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว อยู่ที่ 38,056 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 32.1% ส่วนใหญ่เกิดจากค่าใช้จ่ายที่ผันแปรตามปริมาณการผลิตและการขนส่งที่เพิ่มขึ้น โดยบริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงินไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว 5,925 ล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/66 ที่มีกำไร 8,576 ล้านบาท บริษัทและบริษัทย่อยมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS 9) จำนวน 4,796 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์เป็นค่าใช้จ่ายรวม 809 ล้านบาท

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

“ไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัทมีผลการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างเยอะ แต่เป็นตัวเลขทางบัญชีไม่ได้กระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัท เพราะมีผลกระทบจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาค่อนข้างมาก อีกทั้งมีการตั้งด้อยค่าของเครื่องบินแอร์บัส A380 ที่บริษัทขายออกไปแล้ว ส่งผลให้ไตรมาส 2 ปีนี้บริษัทมีกำไรสุทธิลดลงอยู่ที่ 314 ล้านบาท ขณะที่ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ติดลบ 4.31 หมื่นล้านบาท

 

บมจ.การบินไทย แถลงผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกปี 2567

 

โดยผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสที่ 2/67 มีรายได้รวมอยู่ที่ 43,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 4.3% จากไตรมาส 1/67 ซึ่งเป็นไปตามปกติของธุรกิจที่ไตรมาส 2/67 ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณความต้องการเดินทางอยู่ในระดับต่ำที่สุดของปี และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 73.2% 

 

รายได้ 6 เดือนแรกโต 14% 

 

ผลการดำเนินงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมีรายได้รวมที่ 89,936 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน 17,001 ล้านบาท ลดลง 21.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.3% โดยบริษัทมีต้นทุนทางการเงินซึ่งเป็นการรับรู้ตามมาตรฐาน TFRS 9 จำนวน 9,403 ล้านบาท และมีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวที่ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและการด้อยค่าสินทรัพย์

 

ส่งผลให้งวด 6 เดือนแรกของปี 2567 บริษัทมีกำไรสุทธิ 2,738 ล้านบาท ซึ่งออกมาต่ำกว่าที่ประมาณการไว้เล็กน้อย โดยลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 14,795 ล้านบาท เพราะมีผลกระทบจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงไตรมาส 1-2/67 และการตั้งด้อยค่า รวมถึงมีการตั้งด้อยค่าของเครื่องบินแอร์บัส A380 ที่บริษัทขายออกไป และมี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน 18,402 ล้านบาท โดยมี EBITDA สูงกว่าที่ประมาณการตั้งไว้ ในขณะที่กำไรสุทธิต่ำกว่างบประมาณเล็กน้อย อันเป็นผลมาจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้น

 

การบินไทย

ผลการดำเนินงาน บมจ.การบินไทย 2Q67 เทียบ 2Q66

 

ครี่งแรกปี 2567 มี FX Loss 6.4 พันล้านบาท 

 

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2566 ค่าเงินบาทปิดที่ 34.3 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ ณ สิ้นไตรมาส 2/67 ปิดที่ 37.01 บาทต่อดอลลาร์ ส่งผลให้มีผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน (FX Loss) เกิดขึ้นราว 6.4 พันล้านบาท จากผลกระทบของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่ามาตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา แต่ในเดือนสิงหาคมเริ่มเห็นค่าเงินบาทพลิกมาแข็งค่าขึ้นเร็ว โดย ณ วันนี้ (9 สิงหาคม) ค่าเงินบาทอยู่ที่  35.1 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัท

 

ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 บริษัทมีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินทั้งสิ้น 77 ลำ ขณะที่มี Cabin Factor เฉลี่ยที่ 78.1% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยที่ 81.4% และมีจำนวนผู้โดยสารที่ทำการขนส่งรวม 7.68 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8.1 แสนคน หรือ 11.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

นอกจากนี้ ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้บริษัทยังมีเงินสดภายในที่ประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาทซึ่งอยู่ในระดับที่ดี แม้ว่าจะเริ่มทยอยคืนหนี้ไปแล้ว ซึ่งในช่วง 6 เดือนแรกของปี บริษัทได้ชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการไปแล้วรวมทั้งสิ้น 4,644 ล้านบาท และในช่วงครึ่งหลังปีนี้มีแผนจะคืนหนี้อีกรวมราว 7 พันล้านบาท 

 

ภาพรวมผลการดำเนินของบริษัทที่ออกมาดังกล่าวถือว่าเป็นไปตามแผนงานบริษัทที่วางไว้ ส่งผลให้บริษัทมีความพร้อมสามารถจะออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้ในช่วงต้นปี 2568 

 

นอกจากนี้มีความมั่นใจว่าในสิ้นปี 2567 บริษัทจะมี EBITDA เกินระดับ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขจำนวน 2 ข้อสำคัญที่จะทำให้บริษัทออกจากแผนฟื้นฟูฯ และอีกเงื่อนไขคือพลิกส่วนของผู้ถือหุ้นให้กลับมาเป็นบวก ซึ่งจะมาจากผลประกอบการช่วงครึ่งหลังของปีนี้ที่ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ เพราะในช่วงครึ่งหลังของปีจะเริ่มเข้าช่วงไฮซีซันของภาคการเดินทางท่องเที่ยวส่งผลให้มีจำนวนผู้โดยสารเร่งตัวขึ้น

 

ผลการดำเนินงาน บมจ.การบินไทย งวด 6 เดือนแรกปี 2567

 

คาด 3Q67 เงินบาทแข็ง ไม่มีขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

 

ขณะที่ข้อมูลตัวเลขจำนวนผู้โดยในเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ปรับเพิ่มขึ้นเป็นระดับเฉลี่ยประมาณ 45,000 คนต่อวัน ขณะที่ Cabin Factor ปรับเพิ่มขึ้นมาในระดับ 80% และค่าเงินบาทที่เคยอ่อนค่าเริ่มมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 3/67 จะไม่มีผลการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นอีก

 

ทั้งนี้ผลการดำเนินงานช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ออกมาเป็นไปตามแผนงาน และคาดว่าภาพรวมผลการดำเนินงานช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ที่ดีขึ้นดังกล่าวจะเป็นปัจจัยบวกให้มีส่วนผู้ถือหุ้นที่ติดลบลดลง และการดำเนินการเพิ่มทุนเสร็จสิ้นในสิ้นปีนี้ก็จะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญส่งผลให้ส่วนผู้ถือหุ้นของบริษัทในสิ้นปี 2567 สามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้ จาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ที่บริษัทมีส่วนผู้ถือหุ้นติดลบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท 

 

โดยปัจจุบันการบินไทยมีฝูงบินที่ใช้ทำการบินรวม 77 ลำ ในไตรมาส 4/68 จะรับมอบเพิ่มอีก 2 ลำ รองรับช่วงไฮซีซันของการเดินทาง ส่งผลให้สิ้นปี 2567 ฝูงบินของของบริษัทจะมีเครื่องบินรวมเป็น 79 ลำ โดยบริษัทได้กลับมาบินสู่เมืองมิลาน สาธารณรัฐอิตาลี และกรุงออสโล ราชอาณาจักรนอร์เวย์ เพื่อรองรับปริมาณความต้องการเดินทาง และพัฒนาความร่วมมือกับสายการบิน Kuwait Airways ในรูปแบบเที่ยวบินรหัสร่วม (Codeshare) เชื่อมต่อเครือข่ายไปยังจุดหมายปลายทางอื่นๆ ในตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และยุโรป

 

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังไม่สามารถเปิดเส้นทางการบินใหม่ๆ ได้เพิ่ม เพราะยังมีข้อจำกัดของจำนวนเครื่องบินที่จัดหาได้ไม่เพียงพอ ขณะที่ในปี 2568-2569 จะทยอยรับมอบเครื่องบินใหม่เพิ่มมาในฝูงบินอีกจำนวน 23 ลำ อีกทั้งบริษัทยังเช่าเครื่องบินมือสองเพื่อมาทำการบินในช่วงที่รอเครื่องบินใหม่เข้ามา

 

นอกจากนี้บริษัทได้ปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญ โดยปรับกลยุทธ์การขายเป็นแบบ Network มากขึ้น รองรับการเดินทางของผู้โดยสารที่มีจำนวนจุดหมายปลายทางการเดินทางมากกว่า 2 จุดหมายหรือมีการเดินต่อเนื่อง มาแทนรูปแบบเดิมที่เป็น Point-to-Point  ถือเป็นกลยุทธ์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้โดยสารที่สะท้อนจากจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางมากขึ้น ซึ่งมีผลทำให้ผลการดำเนินงานดีขึ้น โดยถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยลดผลกระทบจากโลว์ซีซันได้

 

ความคืบหน้าจ่ายหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ

 

เดินหน้าเพิ่มทุน พร้อมนำหุ้น Resume Trade

 

ปิยสวัสดิ์กล่าวถึงความคืบหน้าของแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทยังคงเดินหน้าขั้นตอนการตามแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งประกอบด้วย 

 

  1. การแปลงหนี้เป็นทุนของเจ้าหนี้

1.1 การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้เป็นทุน (Mandatory Conversion) 

1.2 สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติม (Voluntary Conversion) 

 

โดยหลังแปลงหนี้เป็นทุนจะมีส่วนทุนเพิ่มเข้ามาประมาณ 15,177 ล้านบาท

 

  1. การเพิ่มทุน มูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน

2.1 การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Right Offering: RO) ก่อนการปรับโครงสร้างทุน  

2.2 การเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่พนักงานของบริษัท

2.3 นักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง (Private Placement: PP) 

 

การบินไทย

โครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ

 

โดยคาดว่า การดำเนินการแปลงหนี้เป็นทุนและการเพิ่มทุนจะดำเนินการเสร็จสิ้นในสิ้นปี 2567 พร้อมทั้งยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางในช่วงไตรมาส 2/68 เพื่อยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและหุ้นของการบินไทยกลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในไตรมาส 2/68

 

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวน (Filing) ในช่วงเดือนกันยายนปีนี้ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งคาดว่าจะสามารถนำหุ้นของการ บมจ.การบินไทยกลับเข้าซื้อขาย หรือ Resume Trade ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ในช่วงไตรมาส 2/68  หลังจากบริษัทสามารถดำเนินการได้ครบเงื่อนไขที่กำหนดในแผนฟื้นฟูฯ ในสิ้นปี 2567 

 

 ไทม์ไลน์ยื่นไฟลิ่งและออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ

 

เปิดแผนรับมือ Recession 

 

ด้าน ชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.การบินไทย กล่าวว่า ณ สิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ บริษัทมีเงินสดประมาณ 8.1 หมื่นล้านบาท ดังนั้น เมื่อมองไประยะข้างหน้าบริษัทจึงไม่มีปัญหาด้านสภาพคล่อง แต่ปัจจุบันบริษัทประสบปัญหาด้านโครงสร้างทุนซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไข โดยปัจจุบันบริษัทมีแผนการลงทุนหลักในอนาคตคือ การขยายฝูงบินโดยจัดหาเครื่องบินเพิ่ม ซึ่งยืนยันออร์เดอร์ไปแล้ว 45 ลำ และยังมีออปชันจัดหาเพิ่ม 35 ลำ

“หุ้นเพิ่มทุนในส่วนของ Private Placement จะขายให้นักลงทุนมากกว่าหนึ่งราย ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างประเทศทั้งหมด โดยกรอบใหญ่ในการพิจารณาประเด็นแรกจะเลือกจากนักลงทุนที่ให้มูลค่าหุ้นกับบริษัทมากที่สุด ประเด็นที่สอง สามารถช่วยสร้างมูลค่ากับบริษัทได้หรือไม่ แต่ถ้าพร้อมเงินทุนกับการสร้าง Value Added ให้บริษัทด้วยเราก็จะเลือกรายนั้น”

 

อย่างไรก็ดี หากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในอนาคต และมีผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทในอนาคตให้ไม่เป็นไปตามแผน ก็ปรับตัวรับมือได้โดยสามารถชะลอการขยายฝูงบินในส่วนที่เป็นออปชันได้

 

สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลางในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเดิมมีความกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการดำเนินธุรกิจของบริษัท แต่ประเด็นดังกล่าวยังไม่มีผลให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น

 

ส่วนผลกระทบต่อเส้นการบินของบริษัท ปัจจุบันไม่มีเส้นทางบินในประเทศที่มีสถานการณ์ความไม่สงบบางประเทศ รวมถึงยังมีการปรับเปลี่ยนแผนการเส้นทางการบินใหม่ให้มีความปลอดภัยมากขึ้น และช่วยลดระยะเวลาการเดินทางให้สั้นลง จึงยังไม่มีผลกระทบจากประเด็นดังกล่าว

 

พร้อมลงทุนโครงการ MRO 

 

ชาย กล่าวต่อว่า บริษัทฯ มีความพร้อมในการลงทุนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยาน (Maintenance, Repair and Overhaul: MRO)) ในสนามบินอู่ตะเภา โดยที่ผ่านมาได้ศึกษาโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยมูลค่าการลงทุนของโครงการดังกล่าวได้ เพราะถือเป็นความลับของธุรกิจ

 

ปัจจุบันสำนักงานเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังไม่ได้แจ้งข้อมูลว่าจะยังให้สิทธิ์กับบริษัทในการเข้าไปดำเนินการโครงการ MRO หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันบริษัทไม่ได้มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจแล้ว โดยหาก EEC เปิดประมูลในโครงการนี้บริษัทก็จะพิจารณาเงื่อนไขอีกครั้ง

          

อย่างไรก็ดีบริษัทเป็นผู้ประกอบการสายการบินที่มีดีมานด์เครื่องบินพร้อมเข้าดำเนินโครงการ MRO ร่วมกับพาร์ตเนอร์ที่มีความสนใจ เนื่องจากบริษัทมีฝูงบินขนาดใหญ่ และในอีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีจำนวนเครื่องบินราว 130-150 ลำ จากปัจจุบัน 77 ลำ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising