×

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ต่อสถานการณ์หุ้นกลุ่มเทค

07.08.2024
  • LOADING...
เศรษฐกิจสหรัฐฯ

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจ ทิศทางอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งกระแสการลงทุนที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีผลมาจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความไม่สงบและภาวะสงครามระหว่างประเทศที่เกิดขึ้นในยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลาง เป็นปัจจัยที่ยังรอความชัดเจนและพร้อมสร้างความผันผวนใหม่ได้ หากมีความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น

 

ในแง่ของตัวเลขเศรษฐกิจ การรายงานตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ตัวเลขอัตราการว่างงานที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดการณ์ โดยแตะระดับ  4.1% อีกทั้งตัวเลขอัตราการว่างงานเฉลี่ย 3 เดือนปรับเพิ่มสูงขึ้น 0.5% จากจุดต่ำสุด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่ามีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะต่อไป ต่อเนื่องด้วยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงแรงจาก 3.3% มาแตะระดับ 3.0% สอดคล้องกับมุมมองของ Fed ที่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับตัวลงสู่ระดับ 2.0% ตามคาด

 

ดังนั้น Fed มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้ถึง 3 ครั้งในปีนี้ จากการคาดการณ์ดังกล่าว ทำให้ค่าเงินสหรัฐฯ เริ่มอ่อนค่าลง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ทั้งนี้ ค่าเงินสหรัฐฯ ยังต้องประสบกับแรงขายอย่างรุนแรง เป้าหมายที่โดนขายออกมามากคือหุ้นกลุ่ม เทคโนโลยี เป็นหุ้นที่นักลงทุนส่วนใหญ่ถือครองอยู่เป็นจำนวนมากและค่อนข้างกระจุกตัว

 

อีกเหตุการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจแต่ขอแตะนิดเดียวคือ โดนัลด์ ทรัมป์ ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ถูกลอบสังหารแต่ก็รอดมาได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดหุ้นเสียทรงกันนิดหน่อย แต่ผมมองว่าเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เปลี่ยนเป็นขาลง พร้อมกับแรงขายหุ้นเทคโนโลยีเป็นประเด็นที่ส่งผลต่อภาวะการลงทุนอย่างแท้จริงครับ

 

ดัชนี MSCI ACWI เดือนกรกฎาคม ปรับตัวลง 0.1% โดยดัชนีหุ้นในตลาดหลักปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าตลาดเกิดใหม่ สะท้อนจากดัชนี MSCI World ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.1% ขณะที่ MSCI EM ปรับลดลง 1.3% โดยแรงกดดันหลักมาจากทางฝั่ง MSCI Asia ex Japan ที่ตลาดปรับตัวลง 1.7% โดยประเทศหลักที่ปรับตัวลงแรงคือ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น ในขณะที่ตลาดหุ้นในประเทศเกิดใหม่ในเอเชียใต้ที่ไม่มีหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ กลับปรับตัวสูงขึ้นสวนทิศทางของตลาดหุ้นขนาดใหญ่ เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

 

ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีของสหรัฐฯ ปิดปรับตัวลง 0.40% จาก 4.75% ในเดือนมิถุนายน มาอยู่ที่ 4.36% ในเดือนกรกฎาคม และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวลง 0.26% จาก 4.40% ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 4.14% ในเดือนกรกฎาคม ถือว่าเป็นการปรับตัวลงที่สูงและเร็วมาก ซึ่งสอดรับกับแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในส่วนราคาทองปรับตัวขึ้น 3.6% เป็น 2,410.78 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สอดคล้องกับค่าเงินสหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง 1.2% ราคาน้ำมันดิบเบรนต์ปรับตัวลง 9.0% เป็น 78.63 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายหลังสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านและอิสราเอลดูลดระดับลง

 

สำหรับตลาดหุ้นไทยเดือนที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 0.5% แต่ตั้งแต่ต้นปีปรับตัวลงถึง 7.6% ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า MSCI ACWI มากที่ปรับตัวขึ้น 10.2% โดยช่วงต้นเดือนดัชนี SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดโลก ตามการคาดการณ์ที่ Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายปีนี้ แต่ดัชนีตลาดหุ้นไทยตอบรับเชิงบวกได้ไม่นานครับ เรามีประเด็นทางการเมืองสำคัญที่เข้ามากดดันหลายคดี โดยใกล้ถึงวันที่ศาลจะอ่านคำวินิจฉัยตัดสินคดี ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี ทรงตัวที่ระดับ 2.33% ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 10 ปี ปรับตัวลง 0.08% เป็น 2.59% ไม่มีนัยอะไร ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติมีสถานะขายสุทธิ 1.19 แสนล้านบาทในตลาดหุ้นไทย และขายสุทธิ 2 หมื่นล้านบาทในตลาดตราสารหนี้จากต้นปี ขณะที่ค่าเงินบาทเทียบ USD แข็งค่าขึ้น 2% เป็น 35.98 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนกรกฎาคม 2567 แต่อ่อนค่ากว่า 5.4% จากต้นปี

 

มุมมองการลงทุนเดือนสิงหาคม ความกังวลยังให้น้ำหนักที่เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์กันหรือไม่ ซึ่งจะกระทบภาวะการลงทุนได้ในที่สุด เพราะอัตราการว่างงานส่งสัญญาณจะมีโมเมนตัมต่อเนื่องไม่น่าจะหยุดได้ง่ายนัก รวมๆ ก็น่าจะถึงเวลาขายกลุ่มเทคโนโลยี และหาจังหวะกระจายการลงทุนออกจากสกุลเงินสหรัฐฯ ผมมองว่าภาวะแบบนี้อาจยาวถึงสิ้นปีได้

 

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยเรา มองว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีจะแกว่งไปมาอยู่แถวนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ปัจจัยหลักที่ยังให้น้ำหนักคือความนิ่งของสถานการณ์การเมืองของไทยเอง ซึ่งหากการเมืองภายในประเทศเราชัดเจน บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยของเราจะเห็นทางเดินชัดเจนขึ้นเช่นกันครับ

 

ผมยังคงให้คำแนะนำเป็นแบบ Moderate คือมีหุ้น 50% เป็นสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ประเทศละ 10% เวียดนาม อินเดีย ไทย รวมกันไม่เกิน 15% และจีน 5% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้เอกชนระยะกลางที่อยู่ในระดับ Investment Grade 15% ตลาดเงิน 10% ที่เหลือ ลงทุนใน น้ำมัน ทอง และ REIT รวมกัน 10%

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X