×

ชีค ฮาสินา จาก ‘ไอคอนประชาธิปไตย’ สู่ ‘ผู้นำเผด็จการ’ ที่ชาวบังกลาเทศขับไล่

07.08.2024
  • LOADING...

ชีค ฮาสินา นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งบังกลาเทศที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ลาออกจากตำแหน่งและขึ้นเครื่องบินลี้ภัยออกนอกประเทศไปยังอินเดียอย่างกะทันหันเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม สิ้นสุดการครองอำนาจยาวนานรวม 20 ปี ท่ามกลางการประท้วงโค่นล้มรัฐบาลที่ทวีความรุนแรง คร่าชีวิตประชาชนไปเกือบ 300 คน ในขณะที่ผู้ประท้วงหลายพันคนบุกเข้าไปภายในบ้านพักของเธอในกรุงธากา

 

การลี้ภัยของฮาสินาเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ประท้วงใหญ่ นำโดยกลุ่มนักศึกษาที่ปะทุขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีชนวนเหตุจากความไม่พอใจต่อระบบโควตาตำแหน่งงานในรัฐบาลที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสถานการณ์ประท้วงลุกลามเป็นความรุนแรง และเกิดการปะทะระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับกองกำลังรักษาความมั่นคง

 

วิกฤตต่างๆ ที่พาเธอมาถึงจุดสิ้นสุดของอำนาจเกิดขึ้นเพราะอะไร จากนักการเมืองหญิงที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องเป็น ‘ไอคอนประชาธิปไตย’ ของชาวบังกลาเทศ แต่มาวันนี้ถูกประณามว่าเป็น ‘เผด็จการ’ ที่ผู้คนต่างเกลียดชัง

 

เส้นทางสู่อำนาจ

 

ฮาสินาเกิดในครอบครัวมุสลิมในเบงกอลตะวันออกในปี 1947 โดยมีบิดาคือ ชีค มูจิบูร์ เราะห์มาน (Sheikh Mujibur Rahman) อดีตประธานาธิบดีคนแรกของบังกลาเทศ ผู้ได้รับการยกย่องเป็น ‘บิดาแห่งชาติ (Father of the Nation)’ จากการนำประเทศประกาศเอกราชจากปากีสถานในปี 1971

 

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นบุตรสาวของอดีตผู้นำ แต่ชีวิตในเส้นทางการเมืองของฮาสินา อาจเรียกได้ว่าถูกขับเคลื่อนด้วยโศกนาฏกรรม โดยในปี 1975 ขณะที่เธออายุได้ 28 ปี บิดามารดาของเธอและพี่น้องอีก 3 คน รวมถึงคนรับใช้ในบ้านรวมทั้งหมด 18 ชีวิต ถูกกองกำลังทหารบุกเข้าไปในบ้าน และลงมือสังหารระหว่างการก่อรัฐประหาร ซึ่งเธอและน้องสาวรอดชีวิตเนื่องจากอยู่ที่เยอรมนี

 

นักวิเคราะห์มองว่าโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ ผลักดันให้ฮาสินาเดินเข้าสู่เส้นทางการเมือง

 

หลังการรัฐประหาร เธอต้องลี้ภัยในอินเดียก่อนจะกลับสู่บังกลาเทศในปี 1981 และกลายเป็นผู้นำพรรคการเมืองของบิดา คือพรรค Awami League หรือพรรคสันนิบาตมุสลิมอวามี

 

บทบาททางการเมืองของเธอ เริ่มด้วยการจับมือกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อจัดการประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยในช่วงที่ประเทศถูกปกครองโดย พล.อ. ฮุสเซน มูฮัมหมัด เออร์ชาด (Hussain Muhammed Ershad) การลุกฮือของประชาชนส่งผลให้ฮาสินากลายเป็นที่รู้จักในระดับประเทศอย่างรวดเร็ว และถูกขนานนามเป็นสัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยของประเทศ ณ เวลานั้น

 

อย่างไรก็ตาม เส้นทางการเมืองของเธอไม่ได้ราบรื่น โดยผลจากการเคลื่อนไหวต่อต้านการปกครองของกองทัพ ทำให้เธอถูกกักตัวในบ้านพักหลายครั้งในช่วงทศวรรษ 1980

 

แต่ท้ายที่สุดในการประท้วงใหญ่ปี 1990 พล.อ. เออร์ชาดยอมลงจากอำนาจ และพรรคของเธอกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด กระทั่งในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1996 พรรคของเธอสามารถเอาชนะ และทำให้เธอได้ครองเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก แม้ว่าต่อมาจะพ่ายแพ้ให้กับพรรค BNP ในการเลือกตั้งปี 2001 แต่ท้ายที่สุดก็กลับมาชนะ และขึ้นสู่อำนาจได้อีกครั้งหลังการเลือกตั้งในปี 2009 และครองอำนาจยาวนานถึงปัจจุบัน

 

ผู้รอดชีวิตทางการเมือง

 

ฮาสินายังถือเป็นผู้รอดชีวิตทางการเมืองที่แท้จริง โดยหลังกลับมาเป็นผู้นำฝ่ายค้านในปี 2001 บรรยากาศการเมืองในบังกลาเทศก็เต็มไปด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบ

 

โดยในปี 2004 เธอเผชิญความพยายามลอบสังหารด้วยระเบิดมือ ซึ่งส่งผลให้การได้ยินมีปัญหา

 

ขณะที่ในปี 2007 ภายหลังการสิ้นสุดรัฐบาลพรรค BNP เกิดการประท้วงใหญ่ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 40 คน ส่งผลให้มีการตั้งรัฐบาลรักษาการโดยผู้บัญชาการกองทัพเข้ากุมอำนาจ และประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือสถานการณ์

 

ในช่วงนั้นฮาสินาเดินทางไปหาบุตรชายและบุตรสาวที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ก่อนจะเดินทางไปยังสหราชอาณาจักร แต่รัฐบาลรักษาการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสั่งห้ามเธอกลับเข้าประเทศ และมีความพยายามออกหมายจับและตั้งข้อหาในคดีต่างๆ รวมถึงคดีฆาตกรรม เพื่อบีบบังคับให้เธอลี้ภัยอยู่นอกประเทศ

 

แต่ฮาสินาประกาศต่อสู้และยืนยันว่าข้อกล่าวหาทั้งหมดไม่เป็นความจริง ก่อนที่หมายจับและคำสั่งห้ามเข้าประเทศจะถูกยกเลิกไปในที่สุด ทำให้เธอสามารถเดินทางกลับบังกลาเทศได้หลังผ่านไป 51 วัน

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเธอยังคงถูกจับกุมและดำเนินคดี รวมถึงกักตัวในบ้านพักหลายครั้ง ก่อนจะมีการจัดเลือกตั้งอีกครั้งในปลายปี 2008 และพรรคของเธอสามารถเอาชนะ ทำให้เธอได้กลับคืนสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

 

ความสำเร็จในการบริหารประเทศ

 

หลังกลับมาครองอำนาจสมัยที่ 2 ฮาสินามุ่งความสนใจในการบริหารประเทศไปที่เศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เคยมีมาก่อนในบังกลาเทศ เช่น โครงข่ายไฟฟ้าที่แข็งแกร่งซึ่งเข้าถึงหมู่บ้านห่างไกล ตลอดจนโครงการขนาดใหญ่ เช่น ทางหลวง ทางรถไฟ และท่าเรือ ในขณะที่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องนุ่งห่มของบังกลาเทศขยายตัวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีการส่งออกไปยังตลาดทั่วโลก ทั้งในยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย

 

บังกลาเทศภายใต้การนำของฮาสินา ฉายภาพความแตกต่างด้านการพัฒนาที่ชัดเจน จากประเทศมุสลิมซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กลับมามีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าเชื่อถือ และกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเร็วที่สุดในภูมิภาค แซงหน้าเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่อย่างอินเดีย

 

รายได้ต่อหัวของประชากรบังกลาเทศเพิ่มขึ้น 3 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่ธนาคารโลกประมาณการว่า มีประชาชนบังกลาเทศมากกว่า 25 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

 

ขณะที่ฮาสินายังมุ่งเน้นการยกระดับชีวิตของผู้หญิงบังกลาเทศ โดยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้รับการศึกษาเท่าเทียมกับผู้ชาย และมีผู้หญิงที่เข้าสู่แรงงานเพิ่มมากขึ้น

 

ในเวทีระหว่างประเทศ ฮาสินายังขยายความสัมพันธ์กับประเทศที่ทรงอำนาจทั้งอินเดียและจีน แม้จะยังมีท่าทีตึงเครียดกับสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกอื่นๆ ที่แสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพสื่อในบังกลาเทศ

 

ประเด็นนี้กลายเป็นที่จับจ้องจากผู้คนในประเทศ โดยนักวิจารณ์กล่าวหาว่ารัฐบาลของเธอใช้เครื่องมือที่รุนแรงเพื่อปิดปากผู้เห็นต่าง ลดเสรีภาพสื่อ และจำกัดการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ซึ่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนยังอ้างว่ามีการบังคับให้ผู้วิพากษ์วิจารณ์เธอหายสาบสูญ แต่รัฐบาลของเธอปฏิเสธ

 

อย่างไรก็ตาม พรรคของฮาสินาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งต่อเนื่องถึง 4 สมัย ท่ามกลางข้อครหาเรื่องการทุจริตอย่างกว้างขวาง โดยในการเลือกตั้งล่าสุดเป็นสมัยที่ 4 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรที่ติดตามสังเกตการณ์ ระบุว่าการจัดเลือกตั้งนั้นเป็นไปอย่างไร้ความน่าเชื่อถือ ไม่เสรี และไม่ยุติธรรม

 

ชนวนวิกฤตประท้วง

 

นักวิเคราะห์ชี้ว่า การที่รัฐบาลของฮาสินาใช้วิธีการที่เข้มงวดและรุนแรงในการจำกัดสิทธิเสรีภาพ และการประท้วงต่อต้านของประชาชน ส่งผลให้บรรยากาศในบังกลาเทศตลอดหลายปีมานี้ตึงเครียดมากขึ้นอย่างชัดเจน

 

การเคลื่อนไหวที่นำโดยนักศึกษา เกิดขึ้นในขณะที่บังกลาเทศกำลังประสบกับภาวะเศรษฐกิจผันผวนอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา

 

โดยหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตั้งแต่ปี 2016 ขณะที่ตัวเลขการส่งออกและทุนสำรองระหว่างประเทศลดลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการจ้างงานที่ลดลง สวนทางกับค่าครองชีพและภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง โดยก่อนการเลือกตั้งในช่วงเดือนมกราคม เริ่มปรากฏการแสดงความไม่พอใจของบรรดาแรงงานต่อการบริหารของรัฐบาล

 

วิกฤตประท้วงที่เกิดขึ้นล่าสุด ปะทุขึ้นจากประเด็นความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรโควตาตำแหน่งข้าราชการพลเรือน ซึ่งการชุมนุมลุกลามกลายเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในวงกว้างขึ้น แต่ฮาสินาเลือกใช้กำลังตำรวจปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างรุนแรง จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 300 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังจับกุมผู้ประท้วงหลายร้อยคนและตั้งข้อหาอาญาที่ร้ายแรง

 

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้เธอลาออกที่เพิ่มมากขึ้น ฮาสินายังคงแสดงท่าทีท้าทาย ทั้งประณามผู้ยุยงปลุกปั่นการประท้วงว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ และเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเธอช่วยกันปราบปรามผู้ก่อการร้ายเหล่านี้

 

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า การตัดสินใจของฮาสินาที่เลือกใช้กำลังต่อผู้ประท้วงรอบนี้เกินกว่าเหตุ ตลอดจนความโกรธแค้นของประชาชนที่สะสมยาวนาน ส่งผลให้ปัญหาลุกลามนำไปสู่จุดแตกหัก

 

“ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา มีการประท้วงมากมายในช่วงที่พรรค Awami League ครองอำนาจ แต่ไม่มีการประท้วงใหญ่ครั้งใดที่ยาวนานและรุนแรงเท่าครั้งนี้” ไมเคิล คูเกลแมน (Michael Kugelman) ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียใต้แห่งศูนย์วิลสัน (South Asia Institute at the Wilson Center) กล่าว

 

นาโอมิ ฮอสเซน ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบังกลาเทศจากมหาวิทยาลัย SOAS ในลอนดอน กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับฮาสินาตอนนี้คือ “จุดจบของระบอบการปกครองที่นำมาซึ่งการพัฒนามากมาย แต่กลับกลายเป็นความเผด็จการที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่ได้เห็นจากการสังหารหมู่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา”

 

เธอกล่าวว่า ตอนนี้ความหวังของชาวบังกลาเทศคือกองทัพจะทำให้เกิดสันติภาพได้ แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีประชาชนแสดงความกังวลว่า เหตุการณ์อาจกลับมารุนแรงและเลวร้ายลง “หากกองทัพไม่สามารถทำให้ผู้คนสงบลงและคลี่คลายปัญหาได้” ซึ่งเธอมองว่าอาจต้องใช้เวลาสักพักก่อนที่บังกลาเทศหลุดพ้น หรือบรรเทาปัญหาความไม่สงบในบ้านเมืองนี้ลงได้

 

ภาพ: STR / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising