×

ทิศทางไทยสู่จอเรดาร์โลก เข้าร่วม IPEF, OECD และ BRICS แล้วได้อะไร

06.08.2024
  • LOADING...

ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ความร่วมมือกับนานาประเทศถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมีเครื่องมือสำคัญที่เรียกว่า ‘กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ’ ซึ่งปัจจุบัน 3 กรอบที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-Operation and Development), BRICS ที่ไทยอยู่ระหว่างสมัครเข้าร่วม และกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ที่ไทยได้เข้าร่วมแล้ว

 

การเข้าร่วมกรอบความร่วมมือพหุภาคีเหล่านี้เป็นไปตามนโยบายหลักของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ที่มุ่งเป้าขยายบทบาทและนำไทยกลับสู่จอเรดาร์โลก ด้วยการดำเนินนโยบายการทูตเชิงรุกเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือ ตลอดจนผลประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เข้าสู่ภาวะ ‘โลกแบ่งขั้ว (Multipolar World)’ มากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้การตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกกรอบความร่วมมือต่างๆ ไม่เพียงถูกจับจ้องแค่ในประเด็นเศรษฐกิจ แต่ยังถูกมองว่าอาจกลายเป็นการเลือกข้างหรือแสดงจุดยืนในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งของเกมการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ

 

ความเข้าใจในแง่มุมต่างๆ ของกรอบความร่วมมือเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ส่งผลให้กระทรวงการต่างประเทศตัดสินใจจับมือกับ THE STANDARD จัดเสวนาโต๊ะกลมหัวข้อ ‘ทิศทางไทยในจอเรดาร์โลก: IPEF, OECD และ BRICS’ เพื่อแสดงให้เห็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังคิดและทำในการเข้าร่วมกับทั้ง 3 กรอบความร่วมมือ โดยมีการเชิญนักวิชาการ ตลอดจนสื่อมวลชนไทยและต่างประเทศ ร่วมพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมอง ซึ่งข้อสรุปที่ได้ช่วยสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและถูกต้องมากขึ้น

 


 

IPEF, OECD และ BRICS คืออะไร?

 

IPEF

 

กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือ IPEF (Indo-Pacific Economic Framework) ริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกากับประเทศหุ้นส่วนในภูมิภาค เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2022 ประกอบด้วย 4 เสาความร่วมมือ คือ การค้า, ห่วงโซ่อุปทาน, เศรษฐกิจที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจที่เป็นธรรม

 

เป้าหมาย: ยกระดับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกัน เสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือความท้าทายต่างๆ ในยุคหลังการแพร่ระบาดของโควิด เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล การเสริมสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain)

 

สมาชิก: 14 ประเทศ

 

สหรัฐฯ, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ฟิจิ, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไทย (เข้าร่วมตั้งแต่เริ่มต้น), มาเลเซีย, สิงคโปร์, เวียดนาม, ฟิลิปปินส์ และบรูไน

 

มูลค่า GDP รวมกัน 40% ของ GDP โลก ครอบคลุม 60% ของประชากรโลก

 


 

OECD

 

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD (Organisation for Economic Co-Operation and Development) ก่อตั้งขึ้นในปี 1961 โดยเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลที่ทำงานร่วมกับรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบายและพลเมืองของประเทศต่างๆ เพื่อสร้างนโยบายที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิต ส่งเสริมความเจริญรุ่งเรือง ความเสมอภาค โอกาส และความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน ภายใต้วิสัยทัศน์ Better Policies for Better Lives

 

ไทยได้แสดงเจตจำนงในการสมัครเป็นสมาชิก OECD เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา โดยถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญเพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และทำให้ไทยกลับมาเป็นที่ยอมรับในเวทีโลกมากขึ้น แต่กระบวนการในการสมัครทั้งหมดยังคงมีความท้าทาย และอาจต้องใช้เวลาดำเนินการอีกหลายปี

 

เป้าหมาย: เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและสังคมในหมู่ประเทศสมาชิก ปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่งเสริมการค้าเสรี และให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา ทั้งในประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา โดยมีบทบาทให้ความช่วยเหลือทั้งด้านข้อมูลวิจัย การให้คำปรึกษา และแนวปฏิบัติที่ดี ตลอดจนการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

 

สมาชิก: 38 ประเทศ

 

สมาชิก OECD ส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีรายได้ในระดับ ‘สูงมาก’ โดยถูกขนานนามว่าเป็น ‘คลับคนรวย (The Rich Man’s Club)’

 

มูลค่า GDP รวมกัน 42.8% ของ GDP โลก ประชากรรวม 1.38 พันล้านคน

 


 

BRICS

 

BRICS เป็นการรวมกลุ่มกันของประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ก่อตั้งในปี 2009 โดยตัวย่อมาจากอักษรตัวแรกของประเทศสมาชิก ซึ่งในช่วงเริ่มต้นมี 4 ประเทศ ได้แก่ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย และจีน ทำให้ชื่อเรียกในช่วงแรกคือ BRIC ก่อนจะกลายเป็น BRICS หลังการเข้าร่วมของแอฟริกาใต้ในปี 2010 ขณะที่ปัจจุบันมีสมาชิกใหม่เพิ่มอีก 4 ประเทศ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2024

 

สำหรับไทย ได้เริ่มผลักดันกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างจริงจังในปี 2023 และขณะนี้อยู่ระหว่างการรอพิจารณา โดยมุ่งหวังจะเป็นสมาชิก BRICS ประเทศแรกในอาเซียน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้ยื่นขอสมัครเป็นสมาชิก BRICS แล้วเช่นกัน

 

เป้าหมาย: กลุ่มความร่วมมือของประเทศกำลังพัฒนาที่มีความสำคัญ เพื่อท้าทายอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศร่ำรวยในอเมริกาเหนือและยุโรปตะวันตก โดยการดำเนินการของ BRICS ยึดหลักการไม่แทรกแซง เสมอภาค และได้ประโยชน์ร่วมกัน

 

สมาชิก: 9 ประเทศ

 

บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้, อิหร่าน, อียิปต์, เอธิโอเปีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

มูลค่า GDP รวมกัน 37.3% ของ GDP โลก ครอบคลุม 45% ของประชากรโลก

 


 

ทำไมไทยต้องเข้าร่วม?

 

สาลินี ผลประไพ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า การเข้าร่วม OECD ของไทยมีข้อดีเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานของประเทศไปสู่การเติบโตที่แข็งแรงและยั่งยืน โดยเปรียบให้เห็นภาพเหมือนกับการที่เราไปสมัครเป็นสมาชิก ‘ฟิตเนส’ เพื่อออกกำลังกายและทำให้สุขภาพดี และยังมีเทรนเนอร์ช่วยอำนวยความสะดวก ซึ่งก็เหมือนกับการเข้าเป็นสมาชิก OECD ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานของไทยและยังได้รับคำแนะนำจากประเทศสมาชิก

 

ส่วนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก BRICS เธอกล่าวว่า จุดมุ่งหมายหลักของรัฐบาลไทยคือต้องการขยายตลาดและเพิ่มโอกาสให้ภาคเอกชนและภาคธุรกิจไทยได้เข้าไปสู่ประเทศที่มีศักยภาพซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ

 

ส่วนการเข้าร่วมเป็นสมาชิก IPEF นั้น ใจไทย อุปการนิติเกษตร รองอธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ ชี้ว่า ไทยมองที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก จากการที่สมาชิก IPEF 14 ประเทศมีขนาด GDP คิดเป็นกว่า 40% ของ GDP โลก อีกทั้ง 7 ประเทศสมาชิกยังเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยอยู่ใน 10 อันดับแรกของประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุด

 

นอกจากนี้โครงการการลงทุนภายใต้ BOI ก็เป็นการลงทุนที่มาจากประเทศสมาชิก IPEF เช่นกัน ซึ่งแน่นอนว่าการมีความร่วมมือกับประเทศเหล่านี้ย่อมสร้างความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจให้กับไทยได้

 

ด้าน รศ. ดร.จิตติภัทร พูนขำ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่าการพิจารณาเข้าร่วม IPEF, OECD และ BRICS ของไทย ต้องมองด้วยมุมมอง 3C ได้แก่

 

Context หรือบริบทของโลก ที่ภูมิรัฐศาสตร์กลายมาเป็นโจทย์ใหญ่แทนที่โลกาภิวัตน์ (Globalization) โดยมหาอำนาจมองฝั่งตรงข้ามเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งกรณีสหรัฐฯ คือการแข่งขันกับมหาอำนาจและมองจีนเป็นคู่แข่ง โดยต้องคงความเป็นผู้นำและสร้างพันธมิตรใหม่ เช่นพันธมิตรกลุ่มย่อยในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เช่น Quad, AUKUS และ IPEF

 

Choices หรือทางเลือกของไทย โดยแนวทางของไทยที่ไม่เลือกข้างนั้นเป็นวิธีคิดที่ถูก แต่การเลือกหรือไม่เลือกข้างอาจเป็นตัวเลือกของรัฐใดรัฐหนึ่ง เช่นเรื่องผลประโยชน์หรือยุทธศาสตร์ของชาติ เช่น อินโดนีเซีย ที่เลือกเป็นสมาชิก OECD ไม่เลือก BRICS เพราะอยากเป็นประเทศอุตสาหกรรมภายในปี 2045

 

ขณะที่ไม่ว่าจะเลือกแบบใด ไทยยังมีโอกาสและข้อจำกัด รวมถึงปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เสมอ เช่น เรื่องภาพลักษณ์ของประเทศ

 

นอกจากนี้การเลือกอยู่ข้างใดยังสะท้อนคุณค่าบางอย่างนอกเหนือจากผลประโยชน์ เช่น การที่อินโดนีเซียอยากสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD แต่เจอข้อกังขาจากอิสราเอล สืบเนื่องจากประเด็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ และการที่อินโดนีเซียเป็นประเทศมุสลิม

 

Content หรือเนื้อหาสาระของกรอบที่ไทยจะเข้าร่วม โดยคำถามง่ายๆ คือมีโอกาสและข้อจำกัดอะไรในเนื้อหาสาระของกรอบความร่วมมือเหล่านั้น เช่นในแง่ของโอกาส OECD มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด และอาจเป็นเรื่องของโอกาสในการขยายหรือเจาะตลาด

 

โดยทั้ง OECD และ IPEF มีข้อดีในการเป็นโจทย์เพื่อพิจารณาเรื่องการปฏิรูปภาคเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้าง ตลอดจนโอกาสในการรักษาสมดุลเชิงรุก แต่ในอีกด้านก็มีความท้าทายด้านเงื่อนไขที่ต้องปฏิบัติตามหลังการเข้าเป็นสมาชิก ส่วน BRICS มีความท้าทายในเชิงของภาพลักษณ์เรื่องการเลือกข้างหรือการไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน

 

การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก

 

การเข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ‘การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก’ ซึ่งที่ผ่านมาถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยสาลินีอธิบายความหมายของคำนี้ว่าเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีหัวใจหลักคือการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับประเทศผ่านการทูต แบ่งออกเป็น 2 แนวทาง คือ

 

  • การใช้เครื่องมือทางการทูต ผลักดันเป้าหมายทางเศรษฐกิจ
  • การใช้ประโยชน์จากเครื่องมือและช่องทางทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันเป้าหมายด้านการต่างประเทศ

 

สำหรับสิ่งที่กระทรวงการต่างประเทศกำลังดำเนินการตามแนวทางการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกหลักๆ มี 3 อย่าง คือ

 

Competitiveness: การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับการพัฒนาและมาตรฐานของไทยให้เป็นที่น่าสนใจ

Visibility: การทำให้ประเทศไทยมีความหมายและภาพลักษณ์ที่ดีในสายตานานาชาติ

Impact: การมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และมีความสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในเวทีโลก

 

โดยรองอธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศชี้ว่า การขับเคลื่อนการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกนั้นมุ่งเป้าไปที่การขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีศักยภาพสูง เพื่อยกระดับมาตรฐานของไทยทั้งทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ และความโปร่งใส ซึ่งจะทำให้ไทยมีความน่าดึงดูดและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

 

ขณะที่การดำเนินการต่างๆ ยังเป็นการทำให้ไทยสามารถรับมือต่อความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การ Disruption หรือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีใหม่ๆ และเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคงในอนาคต

 

ภาคเอกชนไทยมองอย่างไร?

 

ในมุมของภาคเอกชนต่อการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือ IPEF, OECD และ BRICS ดร. ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานคณะอนุกรรมการกฎระเบียบการค้าและพหุภาคี ให้ความเห็นว่าทั้ง 3 กรอบนั้นยังมีการ ‘ผสมรวมกัน’ ทั้งในแง่การค้าและการเมือง

 

แต่ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงนี้ ไทยจำเป็นต้องเกาะติดและเข้าร่วมกรอบความร่วมมือเหล่านี้เพื่อการเดินหน้าทางเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งหากไม่ดำเนินการอาจทำให้ไทยตกขบวนไปอยู่แถวหลังในเวทีโลก

 

“นายกฯ คนก่อนๆ บอกว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ปัจจุบันนี้เขาทิ้งเราแล้ว เราต้องเกาะเขาอย่าปล่อยให้เขาทิ้งเราไป” ดร. ภก.นิลสุวรรณ กล่าว

 

“อันนี้คือการแข่งขันที่เข้าขั้นระดับสงครามทางการค้าไปแล้ว เราจะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ สิ่งที่เราพูดกันวันนี้คือหนทางที่เราจะไปข้างหน้า และต้องเกาะให้ติด และแซงไปอยู่ระดับเดียวกัน ไม่ให้เขาทิ้งเราไป”

 

ขณะที่เขามองว่าแต่ละกรอบความร่วมมือต่างมีจุดเด่น โดย OECD เป็นประเทศกลุ่มอุตสาหกรรม และมีมาตรฐานในการทำงานด้านต่างๆ ทั้งการผลิตสินค้าและสิ่งแวดล้อม และมีระบบที่ดี ซึ่งง่ายต่อไทยในการเข้าไปศึกษาและเรียนรู้ แม้ว่าอาจใช้เวลาในกระบวนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกค่อนข้างนาน เปรียบได้กับการที่จะได้ ISO 9000 ที่ต้องใช้เวลานาน

 

ส่วน IPEF นอกจากจะมีมาตรฐานที่ดี ยังมุ่งเน้นการประสานความร่วมมือด้านกฎระเบียบข้ามประเทศให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งประเทศสมาชิกสามารถมีบทบาทในการร่วมร่างกติกาเพื่อนำมาใช้

 

ในขณะที่ BRICS นั้นเขามองว่ามุ่งเน้นการพูดคุยความร่วมมือเรื่องการเงิน เศรษฐกิจ การค้า โดยมีหัวใจหลักคือการสร้างค่าเงินให้คงที่ โดยสามารถใช้เงินสกุลอื่นในการติดต่อทางการค้า ไม่ต้องผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

 

ไม่ ‘เลือกข้าง’ แต่เลือก ‘ประเด็น’

 

นิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การที่ไทยจะเข้าไปเป็นสมาชิก OECD และ BRICS รวมถึงเข้าเป็นสมาชิก IPEF แล้วนั้น สะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่ไทยกำลังทำอยู่ คือการเตรียมตัวและยกระดับมาตรฐาน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งท้ายที่สุดคือต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทย

 

เขายืนยันว่าทุกกรอบความร่วมมือที่ไทยจะเข้าไปเป็นสมาชิกนั้นผ่านการคิดมาอย่างดี (Well Thought Through) บนพื้นฐานความจริงที่ว่าไทยเป็นประเทศอำนาจขนาดกลางหรือ Middle Power ซึ่งต้องบริหารจัดการกับความสัมพันธ์ของกลุ่มประเทศต่างๆ เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่การเข้าข้างขั้วใดขั้วหนึ่ง

 

สำหรับคำถามว่าการที่ไทยเลือกจะสมัครเป็นสมาชิก BRICS จะส่งผลให้ไทยได้รับผลกระทบหรือถูกมองว่าเลือกข้างหรือไม่ โดยชี้ว่าไทยได้ประโยชน์จากการที่วางตัวเองเป็นประเทศอำนาจขนาดกลาง และทำให้สามารถเลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยได้ โดยแนวนโยบายการทูตของไทยที่เรียกกันว่า ‘ไผ่ลู่ลม (Bamboo Diplomacy)’ นั้นมีการพัฒนาและเปลี่ยนไปแล้ว จากการที่ต้องเลือกข้าง มาเป็นการเลือกประเด็น และมองว่าสิ่งใดที่เป็นประโยชน์ต่อเรา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising