แบงก์ชาติคาด ดิจิทัลวอลเล็ต ตลอดทั้งโครงการกระตุ้น GDP ได้ 0.9% ต่ำกว่าการประมาณการของกระทรวงการคลังที่ 1.2-1.8% ประเมิน GDP ไตรมาส 2 มีแนวโน้มขยายตัวมากกว่า 2% แม้เศรษฐกิจเดือนมิถุนายนชะลอตัว
วันนี้ (31 กรกฎาคม) ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายองค์กรสัมพันธ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงาน BOT Monthly Briefing โฆษกพบสื่อ เดือนกรกฎาคม 2567 โดยระบุว่า ธปท. ยังไม่ได้รวมผลจากโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต ไว้ในประมาณการเศรษฐกิจ แต่ประเมินว่า หากดิจิทัลวอลเล็ตออกมาทันภายในไตรมาสที่ 4 ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ที่ 0.2-0.3% และจะมีผลต่อเศรษฐกิจลดลงในปี 2568 ส่วนผลต่อเศรษฐกิจ ‘ทั้งโครงการ’ คาดว่าจะอยู่ที่ 0.9%
ตัวเลขดังกล่าวมีขึ้นหลังจากเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลปรับกรอบวงเงินงบประมาณสำหรับโครงการเหลือ 4.5 แสนล้านบาท จากเดิม 5 แสนล้านบาท จากการประมาณการว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการประมาณ 90% จากเป้าหมาย 50 ล้านคน
โดยตัวเลขล่าสุดต่างจากการประมาณการก่อนหน้านี้ของ ธปท. ในรายงานนโยบายการเงินประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ซึ่ง ธปท. เคยประเมินไว้ว่า ผลต่างของการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2567 จากดิจิทัลวอลเล็ตอยู่ที่ 0.6%
ประมาณการล่าสุดของ ธปท. ยังต่างจากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่คาดว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจประมาณ 1.2-1.8% ตลอดทั้งโครงการ
คาด GDP ไตรมาส 2 โตมากกว่า 2%
ชญาวดีกล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมในไตรมาส 2 ยังอยู่ในทิศทางขยายตัวจากไตรมาสก่อน แม้เศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนชะลอลง
โดยชญาวดีเผยว่า ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 อาจขยายตัวมากกว่า 2% ตามมาด้วยราว 3% ในไตรมาส 3 และอีกราว 4% ในไตรมาส 4 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฐานต่ำ
“ไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยขยายตัวจากไตรมาสก่อนจากภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้กิจกรรมในภาคบริการ การจ้างงาน และการบริโภคภาคเอกชน ปรับดีขึ้น ประกอบกับการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรม ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวสูง หลัง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้”
ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าจะแถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ในวันที่ 19 สิงหาคมนี้
สรุปภาวะเศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายน
เศรษฐกิจไทยเดือนมิถุนายนชะลอลงจากเดือนก่อนตามภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนใกล้เคียงกับเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
แนวโน้มระยะต่อไป
ธปท. ระบุว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังมีแรงส่งจากภาคท่องเที่ยวเป็นสำคัญ แต่คาดว่าการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะในบางอุตสาหกรรมที่ได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้รายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนบางกลุ่มยังเปราะบาง
ส่วนระยะต่อไปต้องติดตาม
- ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ
- การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต
- ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์