×

ศึกชิงเหรียญทองโอลิมปิกสุดโหดจักรยานโรดเรซ

31.07.2024
  • LOADING...
โอลิมปิก จักรยานโรดเรซ

วลาเราพูดถึงคำว่า ฝรั่งเศส กับ จักรยาน อยู่ในประโยคเดียวกัน

 

สิ่งที่แฟนกีฬาจะนึกขึ้นมาก็คือ ศึกจักรยานทางไกลตูร์เดอฟรองซ์ ซึ่งเพิ่งจบลงไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

 

แต่ปีนี้เราต้องเพิ่มคำว่าโอลิมปิกเข้าไปในประโยคด้วย

 

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ตูร์เดอฟรองซ์ซึ่งแข่งกันมา 111 ปี ไม่สามารถปิดรายการที่กรุงปารีส หนแรกในประวัติศาสตร์

 

สาเหตุเพราะเมืองหลวงของฝรั่งเศสต้องมีการเตรียมพร้อมกับมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ

 

แม้ตูร์เดอฟรองซ์ยิ่งใหญ่สำหรับคนท้องถิ่นเพียงใด ก็ต้องยอมหลีกทางไปลงเอยที่เมืองนีซแทน

 

เราต้องทำความเข้าใจกันด้วยว่า จักรยานสำหรับโอลิมปิกแล้ว มีมากมายหลายประเภท แบ่งเป็นทั้งเอาต์ดอร์และอินดอร์

 

ไหนจะยังมีทั้งเสือหมอบและเสือภูเขา

 

เสือหมอบอย่างเดียวก็ยังแบ่งประเภทอีกว่า แข่งแบบเป็นสเตจ หรือแข่งแบบวันเดียวจบ หรือแข่งแบบจับเวลา

 

แค่นี้แท็กติกที่ใช้แข่งก็ต่างกันแล้ว

 

ผมคงเขียนถึงเฉพาะรายการโรดเรซวันเดียวจบ ซึ่งจะแข่งวันที่ 3 สิงหาคม หรือเพียง 13 วันหลังจบจากตูร์เดอฟรองซ์

 

ว่ากันว่าปีนี้แม้จะพอมีตัวเต็งแบบจับต้องได้ 3-4 ราย แต่ภาพรวมต้องจัดว่าคาดเดาผู้ชนะได้ยากมาก

 

เชื่อหรือไม่ว่าโรดเรซในโอลิมปิกไม่เคยมีแชมป์ซ้ำหน้า

 

ปีนี้ก็จะเป็นเช่นนั้นด้วย เนื่องจาก ริชาร์ด คาราปาซ เหรียญทองที่โตเกียว ปี 2020 กลับไม่ถูกเอกวาดอร์เลือกเข้าทีม กลายเป็น โจห์นาธาน นาร์บาเอซ ติดเข้ามาแทน เพราะพวกเขาได้รับโควต้า เพียงหนึ่งเดียว

 

ทาเดจ์ โพกาช่าร์ (ขวา) กับ โยนาส วินเกอการ์ด (ซ้าย) 2 ยอดนักปั่นที่ไม่ได้เข้าร่วมโอลิมปิกเกมส์ 2024 ในครั้งนี้

 

ทาเดจ์ โพกาช่าร์ สุดยอดนักปั่นยุคปัจจุบันชาวสโลวีเนีย ครองแชมป์มาทั้ง จิโร่ ดิตาเลีย และตูร์เดอฟรองซ์ดีกรีเหรียญทองแดง โอลิมปิก โตเกียว ก็ตัดสินใจถอนตัวบอกว่าร่างกายอ่อนล้า ขอพักผ่อน เตรียมสู้ศึกชิงแชมป์โลกเพื่อครองเสื้อสายรุ้งที่ซูริก ซึ่งเส้นทางจะยากกว่าโอลิมปิกอย่างมาก ในวันที่ 29 กันยายน

 

โยนาส วินเกอการ์ด รองแชมป์ตูร์เดอฟรองซ์ก็ไม่ติดทีมเดนมาร์ก สาเหตุสำคัญเพราะเส้นทางไม่ค่อยเหมาะกับสไตล์อย่างเขา

 

ระยะแข่งโอลิมปิกครั้งนี้ก็ต้องถือว่าไกลมาก 273 กิโลเมตร ไกลสุดในประวัติศาสตร์การแข่งโอลิมปิก

 

แฟนกีฬาจักรยานน่าจะรู้จักรายการคลาสสิกวันเดียวจบ อย่างทัวร์ออฟฟลานเดอร์ส

 

ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า นี่คือมินิทัวร์ออฟฟลานเดอร์สเหมือนกัน

 

เพราะรูปแบบเส้นทางค่อนข้างคล้ายคลึง จะไม่เจอภูเขาสูงตระหง่านเป็นอุปสรรค แต่มีเนินดักอยู่หลายจุด รวมทั้ง โกต เดอ ชาโตฟอร์ (ระยะ 900 เมตร ความชัน 5.7%) ที่นั่นจะมีอนุสรณ์สถาน ฌัคส์ อองตีล ตำนานนักปั่นฝรั่งเศสตั้งอยู่

 

เส้นทางจะวกกลับเข้าปารีส วนอีก 3 รอบ รอบละ 18.4 กิโลเมตร ทั้งต้องเจอโค้งที่จัดว่ายาก และเจอกับเนินที่เป็นถนนหิน บุตต์ มงท์มาร์ท (ระยะ 1 กิโลเมตร ความชัน 6.5%)

 

ผ่านพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ข้ามแม่น้ำแซน เลียบชายฝั่งด้านซ้าย จากนั้นเหลือทางตรงให้สปรินต์สู้ 230 เมตรสุดท้ายบนทร็อกคาเดโร โดยมีฉากหลังเป็นหอไอเฟล

 

เส้นทางการแข่งขันจักรยานประเภทถนนในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ (ภาพ: Paris 2024)

 

คำว่า มงท์มาร์ท ความหมายจะประมาณทางชันสุดแสนทรมาน

 

ถ้าวันแข่งมีฝนลงด้วยละก็ คนดูอย่างเราๆ ท่านๆ เตรียมเห็นความบันเทิงกันได้เลย

 

จะว่าไป ผมชอบการแข่งจักรยานในแบบคลาสสิก วันเดียวรู้ผล มากกว่าแบบสเตจด้วยซ้ำ

 

5 รายการสำคัญของโลกต่างมีเอกลักษณ์ของตัวเอง

 

มิลาน-ซานเรโม ซัดกันไกลมาก เป็น 300 กิโลเมตร แต่ส่วนใหญ่เป็นทางราบ เหมาะกับนักปั่นสปรินเตอร์

 

ทัวร์ออฟฟลานเดอร์ส หรือ รอนเด วาน วลานเดอเรน ศึกถนนหิน จัดขึ้นวันอาทิตย์ต้นเดือนเมษายน มีความโดดเด่นตรงการเจอเนินถนนหินที่ชัน แต่ระยะทางไม่ไกลมาก ผู้ที่หวังจะชนะรายการนี้ต้องพยายามเกาะกลุ่มหัวแถวเอาไว้ตลอดเวลา

 

รูปแบบของโอลิมปิกครั้งนี้ก็น่าจะคล้ายคลึงกัน

 

ปารีส-รูเบซ์ (นรกแห่งภาคเหนือ) ภาพนักปั่นหน้าเปื้อนโคลนเข้าเส้นชัยแทบเป็นเรื่องปกติ บนเส้นทางต้องเจอถนนหินสุดยาก ก่อนมาเข้าเส้นชัยในเวโลโดรม ผู้ชนะรายการนี้มีทั้งร่างกายที่ทรหดแข็งแกร่งไม่พอ ยังต้องมีดวงประกอบยางไม่พังไปเสียก่อนด้วย

 

ลีเอช-บาสตอญ-ลีเอช จัดขึ้นปลายเดือนเมษายน ถือเป็นรายการเก่าแก่มาก จัดมาตั้งแต่ปี 1894 บนเส้นทางจะมีเนินที่ชันและไกลพอตัวที่อาร์เดนส์ เหมาะกับนักปั่นระดับลุ้นแชมป์รายการใหญ่ๆ

 

จิโร ดิ ลอมบาร์เดีย หรือศึกแห่งใบไม้ร่วง เพราะจัดช่วงเดือนตุลาคมหรือปลายกันยายน เส้นทางมีเนินชัน แถบทะเลสาบโคโม บ่อยครั้งที่แชมป์จะเป็นพวกนักปั่นที่ขึ้นเขาเก่งและพอจะมีพลังสปรินต์หน้าเส้น

 

มาว่ากันถึงผู้ที่ลุ้นเหรียญทองหรือขึ้นโพเดียมโอลิมปิก กรุงปารีส

 

ชาติที่บ้าคลั่งเรื่องการแข่งจักรยานคลาสสิกอย่างมากก็คือเบลเยียม

 

เรมโค่ เอฟเวนโพล (ซ้าย) กับ วูท ฟาน เอิร์ท (ขวา) 2 ตัวเต็งในจักรยานโอลิมปิกครั้งนี้ คว้าไปแล้วคนละ 1 เหรียญให้กับเบลเยียม ในประเภทไทม์ไทรอัล

 

พวกเขาได้โควตามาแข่งทั้งสิ้น 4 คน รวมทั้งสองตัวท็อป เรมโค่ เอฟเวนโพล อดีตแชมป์โลกปี 2022, อันดับสาม ตูร์เดอฟรองซ์ สัปดาห์ก่อน พ่วงด้วย ลีเอช-บาสตอญ-ลีเอช สองสมัย กับ วูท ฟาน เอิร์ท เหรียญเงินโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมา

 

ปัญหาคือเสือสองตัวจะอยู่ถ้ำเดียวกันได้ไหม พวกเขาจะยอมร่วมมือร่วมแรงกันเพียงใด และใครที่ถูกวางให้เป็นผู้นำ

 

ดังนั้น ชาติที่ชอบรายการคลาสสิกไม่แพ้กันอย่างฮอลแลนด์อาจได้เปรียบ แม้จะส่งแข่งได้แค่ 3 คน แต่ แมตธิว แวน เดอ พูล น่าจับตามองอย่างมาก ทั้งในฐานะแชมป์โลกคนล่าสุด, เคยคว้าแชมป์ทัวร์ออฟฟลานเดอร์สมา 3 หน และปารีส-รูเบซ์ ทั้งปี 2023 และ 2024

 

เขาเหมือนใช้เวทีตูร์เดอฟรองซ์เตรียมร่างกายเพื่อมาชิงทอง

 

เดนมาร์กก็อาจสอดแทรกหวังอย่างน้อยขึ้นโพเดียมกับ แมดส์ พีเดอร์เซ่น สมาคมหวังปั้นเขาเต็มกำลัง เหลือเพียงรอดูว่าร่างกายจะฟื้นกลับมาเต็มร้อยหรือยัง เพราะเขาล้มฟาดพื้นในการแข่งตูร์สัปดาห์แรก จนต้องถอนตัวไม่แข่งสเตจ 8

 

รวมทั้งแฟนๆ ฝรั่งเศสก็มีลุ้นเหรียญทองไม่น้อย เพราะเส้นทางเข้ากับสไตล์นักปั่นอย่าง จูเลี่ยน อลาฟิลิปป์ อย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม อลาฟิลิปป์อาจลางไม่ค่อยดี เพราะว่าแชมป์โรดเรซโอลิมปิกตั้งแต่ปี 1996 ต่างต้องได้สตาร์ทตูร์เดอฟรองซ์มาก่อนหน้าทั้งสิ้น

 

แต่อลาฟิลิปป์กลับไม่ได้ลงแข่ง

 

บีเนียม เกอร์เมย์ ม้ามืดจากเอริเทรีย ผู้ทำผลงานได้ดีในตูร์เดอฟรองซ์ 2024

 

ม้ามืดอีกคนได้แก่ บีเนียม เกอร์เมย์ ความหวังเดียวจากเอริเทรีย เพิ่งชนะ 3 สเตจตูร์ และครองเสื้อเขียวด้วย

 

“ถ้าผมยังรักษาฟอร์มจากตูร์ และมีการแข่งที่ดี อะไรก็เกิดขึ้นได้ ผมคงไม่ต้องไปไหน ถ้ามัวแต่คิดว่าไม่มีโอกาส ผมกำลังมีโมเมนต์ที่สุดยอด ตั้งเป้าขอลุ้นขึ้นโพเดียม”

 

มันน่าจะเหมือนสงครามบนจักรยานที่ฟาดฟันกันเป็นเวลา 6-7 ชั่วโมง อย่างไม่มีลดราวาศอก

 

ชาติใหญ่ๆ อย่างฝรั่งเศส, เบลเยียม, เดนมาร์ก, สหราชอาณาจักร และสโลวีเนีย มีโควตาชาติละ 4 คน ส่วนสเปน, อิตาลี, ฮอลแลนด์ และออสเตรเลีย ชาติละ 3 คน

 

ด้วยขนาดทีมที่เล็กลงก็ต้องเปลี่ยนแท็กติก ต่างไปจากการแข่งขันปกติที่มีเพื่อนช่วยออกแรง 6-7 คน สามารถส่งตัวไล่เก็บพวกเบรกอเวย์สัก 3-4 คนยังได้

 

แต่พอเหลือสมาชิกกันเพียง 3-4 คน ถ้าชาติอื่นไม่ช่วยออกแรงไล่ เพื่อนร่วมทีมก็คงหมดแรงจะไล่ล่าเบรกอเวย์ทัน

 

เหมือนที่เคยเกิดกับ มาร์ค คาเวนดิช ที่ลอนดอนปี 2012

 

สมัยนั้นคาเวนดิชมาแข่งด้วยฐานะเต็งจ๋า เขาคือสปรินเตอร์เก่งสุดของโลก

 

เหรียญทองแทบไม่ไปไหน ถ้าเกิดต้องสปรินต์หน้าเส้น

 

ดังนั้น พอเกิดการเบรกอเวย์ออกไปก็ไม่มีใครช่วยทีมสหราชอาณาจักรไล่บี้ ปล่อยให้คาเวนดิชลงเอยอย่างผิดหวัง ไม่มีเหรียญใดๆ คล้องคอ

 

เฟรม-ธนาคาร ไชยยาสมบัติ ตัวแทนหนึ่งเดียวจากประเทศไทยในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้

 

อนึ่ง คนไทยเราก็ต้องพยายามส่งใจช่วย เจ้าเฟรม-ธนาคาร ไชยยาสมบัติ หนุ่มเชียงรายวัย 25 ปี ให้ฮึดสู้กับคู่แข่งระดับ 5 ดาวอยู่บนเส้นทางให้ได้นานที่สุด

 

สามารถจบการแข่งขันมีอันดับ และเป็นอันดับที่ดีที่สุดของเอเชียอย่างที่เจ้าตัวตั้งเป้าเอาไว้

 

เท่าที่ผมค้นดู ไทยไม่เคยมีนักปั่นชายลงแข่งโอลิมปิกโรดเรซมาตั้งแต่ปี 1976 แล้ว

 

ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising