×

ก้าวไกลเปิดกลโกง ‘3 ล็อก’ ปมทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย กทม. ชี้ สก.บางกลุ่มกดดันผู้ว่าฯ ใช้งบแปรเอื้อประโยชน์พวกพ้อง

โดย THE STANDARD TEAM
29.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (29 กรกฎาคม) ที่พรรคก้าวไกล จัดแถลงข่าวกรณีการทุจริตจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) นำโดย ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางซื่อ, ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) กรุงเทพฯ เขต 9 และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ

 

ศุภณัฐกล่าวว่า การแถลงวันนี้เพื่อตรวจสอบการทุจริตเครื่องออกกำลังกาย หลังตนได้เปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ต่อมา กทม. เริ่มกระบวนการสอบภายใน จนกระทั่งวันที่ 4 กรกฎาคม กทม. แถลงว่าเครื่องออกกำลังกายเหมือนจะมีราคาสูงกว่าท้องตลาด และ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง ให้สรุปผลการสอบสวนภายใน 30 วัน ครบกำหนดไปแล้วเมื่อ 19 กรกฎาคม แต่กลับไม่มีการแถลง

 

กระทั่งวันที่ 24 กรกฎาคม ชัชชาติให้สัมภาษณ์ว่าผลสรุปเอกสารมีความหนาเยอะมาก เป็นชั้นความลับยังไม่สามารถเปิดเผยได้ มีการสอบถามราคาไปยัง 10 บริษัทแต่ไม่ได้รับคำตอบเลย ที่สำคัญคือชัชชาติยังไม่ระบุว่ามีการทุจริตหรือไม่

 

ในฐานะคนที่เปิดเผยข้อมูลนี้และติดตามมาตลอด จึงขอแถลงเพิ่มเติมเผื่อเป็นประโยชน์กับ กทม. ว่า เรื่องนี้มีกระบวนการที่ไม่เหมาะสมอย่างไร โดยมีทฤษฎีที่ตนตั้งชื่อว่า ‘สามล็อก’ เพื่อกำหนดว่าเครื่องออกกำลังกายยี่ห้อไหนจะชนะ และบังเอิญเมื่อเป็นยี่ห้อนี้ จะมีบริษัทนี้ชนะอยู่เสมอ โดยข้อมูลทั้งหมดตนได้มาจาก กทม. เอง

 

ศุภณัฐกล่าวต่อว่า ทฤษฎีสามล็อก ได้แก่

 

  1. ล็อกสเปก จะมีการระบุคำสำคัญ (Keyword) ที่เมื่ออ่านแล้วชัดเจนมากว่าต้องเป็นยี่ห้อไหน เช่น เครื่องออกกำลังกายต้องมีหน้าจอแบบ High Contrast Display โปรแกรมออกกำลังกายต้องมี Leaning, Turning, Crouching เป็นการล็อกให้ยี่ห้อ Pulse Fitness หรือการกำหนดโปรแกรมออกกำลังกาย Horse Racing ซึ่งมีอยู่บริษัทเดียวคือบริษัทจีน WQN Fitness

 

  1. ล็อกสืบราคา เมื่อล็อกสเปกแล้วต่อมาคือทำให้ราคากลางสูง โดยมักมีข้อผูกพันอะไรบางอย่าง เช่น ถ้ามีการเขียนสเปกให้เป็นของยี่ห้อ Pulse Fitness ก็จะมีการสืบราคาซึ่งอย่างน้อย 1 ใน 3 เจ้านั้น ต้องเป็นบริษัท A ตลอดเวลา หรือถ้าเป็นยี่ห้อ WQN Fitness ก็จะสืบราคาจากบริษัท B ทุกครั้ง จึงต้องฝากไปยังกรมบัญชีกลางว่า ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ต้องกำหนดราคากลางของเครื่องออกกำลังกาย

 

  1. ล็อกผลงาน ในกรณีล็อกทั้ง 2 ข้อแรกแล้ว แต่บังเอิญมีคนหลุดมาได้ ก็จำเป็นต้องใช้การล็อกผลงานเพื่อสกัดอีกชั้น ซึ่งที่ผ่านมา กทม. ไม่ได้มีมาตรฐานตายตัว บางโครงการกำหนดวงเงินหรือกำหนดจำนวนสัญญา เช่น ในโครงการมูลค่า 8 ล้านบาท กำหนดต้องมีผลงาน 3 ล้านบาทหนึ่งสัญญา แต่ในอีกโครงการซึ่งแพงกว่ากันไม่มาก 11 ล้านบาท กลับกำหนดตัวผลงานที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน คือต้องมีผลงาน 5 ล้านบาท อย่างน้อย 3 สัญญาในเวลา 4 ปี

 

โดยจากข้อมูลจะเห็นว่า กทม. มีการปรับเรื่องผลงานอยู่ทุกครั้งเพื่อสกัดบางเจ้าออกไป และให้บางเจ้าเท่านั้นเข้ามาได้ ทั้งนี้ เมื่อย้อนไปตั้งแต่ยุค อัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็มีการล็อกสเปกหลายโครงการ ซึ่งไม่ได้หมายถึงอดีตผู้ว่าเกี่ยวข้อง ส่วนยุคผู้ว่าชัชชาติจากที่มีข้อมูลก็มีการล็อกสเปกอย่างต่ำ 12-13 จากทั้งหมด 14 โครงการ

 

ศุภณัฐกล่าวว่า กทม. ไม่สามารถปฏิเสธว่าไม่รับรู้รับทราบได้อีกแล้ว เพราะมีห้างหุ้นส่วนแห่งหนึ่งร้องเรียนว่ามีการล็อกผลงานล็อกสเปก แต่ กทม. กลับตอบว่าห้างหุ้นส่วนดังกล่าวอาจไม่ได้เปิดเผยตัวตนจริงหรือใช้ชื่อปลอม จึงมีมติไม่ขอตอบข้อวิจารณ์ที่เสนอมา เหมือนอ่านแล้วผ่านไป ไม่ได้เปลี่ยนแปลงการจัดทำข้อกำหนดโครงการ (TOR) ใดๆ ทั้งสิ้น

 

ส่วนเรื่องเครื่องออกกำลังกายราคาแพง คณะกรรมการของ กทม. ก็รับทราบ แต่สิ่งที่ กทม. ตอบคือพิจารณาแล้วเห็นว่าราคา 759,000 บาทที่มีการอ้างนั้น เป็นราคาของเครื่องออกกำลังกายภายในบ้าน (Home Use) แต่ราคาที่คณะกรรมการฯ กำหนดเป็นสำหรับผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ (Commercial) ซึ่งมีโครงสร้างและวัสดุที่แข็งแรงทนทาน ประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุง นี่เท่ากับ กทม. ยอมรับหรือไม่ว่าราคา 759,000 บาทเป็นราคาที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ไม่ใช่แค่ กทม. สาเหตุสำคัญเพราะกรมบัญชีกลางไม่มีการกำหนดมาตรฐานราคากลางของเครื่องออกกำลังกาย ทำให้ทุกองค์กรชอบที่จะซื้อเครื่องออกกำลังกายเหล่านี้ และทำให้ทุกองค์กรต้องไปสืบราคาอย่างน้อย 3 เจ้า และเกิดปัญหาตามทฤษฎีสามล็อกที่กล่าวไป จึงขอเรียกร้องให้ กทม. ตอบได้แล้วว่ากระบวนการเหล่านี้ถือเป็นการทุจริตหรือไม่

 

ด้านภัทราภรณ์กล่าวว่า เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตนตั้งญัตติด่วนด้วยวาจาต่อสภา กทม. เรื่องขอให้ กทม. เร่งตรวจสอบความผิดปกติของการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเครื่องออกกำลังกายในสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ซึ่งประธานสภาฯ ก็บรรจุวาระแล้ว แต่พอใกล้เวลาสภา กทม. กลับล่มอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ขอให้ประชาชนร่วมกันตั้งคำถามว่าเป็นเพราะอะไร

 

โดยในครั้งก่อน ตนทวงถามเอกสารรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง TOR ทั้งหมด 24 โครงการจากสำนักวัฒนธรรมฯ ได้รับเอกสารเกือบครบทุกโครงการ ส่วนที่ฝ่ายบริหารได้แถลงข่าวไปว่าการจัดซื้อจัดจ้างและการเขียน TOR ของโครงการทั้งหมดผ่านกระบวนการ e-bidding ถูกต้องตามระเบียบ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แต่ราคาที่สืบมาอาจมีความคลาดเคลื่อน เมื่อตนได้รับเอกสารมาทั้งหมด ก็ยืนยันว่ากระบวนการส่วนใหญ่เป็นไปตามระเบียบจริง แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความผิดปกติ

 

จากที่ สส. ศุภณัฐกล่าวถึงสามล็อก ตนขอพูดแค่สองล็อก คือ (1) คุณสมบัติของผู้เสนอราคา ปกติจะเป็นคุณสมบัติทั่วไป เช่น ไม่อยู่ระหว่างเลิกกิจการ ไม่เป็นบุคคลที่ถูกระบุชื่อไว้ในรายชื่อผู้ทิ้งงาน แต่พอเข้าการแข่งขันจริง กลับมีการเพิ่มกติกาขึ้นมาอีกหลายเรื่องเพื่อสกัดคนอื่น โดยใช้วงเงินขั้นต่ำในการเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับหน่วยงานท้องถิ่นที่ผ่านมา ใช้จำนวนสัญญา และระยะเวลานับย้อนหลัง ซึ่งถ้าด่านแรกผ่านมาได้ ก็จะเจอด่านที่สองคือ (2) รายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะ หรือสเปกของครุภัณฑ์

 

ที่ผ่านมาบริษัทที่ชนะการประมูลตั้งแต่ปี 2564 จะมีแค่ 2-3 เจ้าเท่านั้น ยกตัวอย่างบริษัทแห่งหนึ่ง เรียกว่า ‘บริษัท V’ จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 4 ตุลาคม 2564 ตั้งมาแค่ 10 วันก็ได้ยื่นประมูลเครื่องออกกำลังกายครั้งแรกในวันที่ 14 ตุลาคม แม้ว่าบริษัทจะได้รับอนุมัติเข้าระบบที่ใช้ในการประมูลในวันที่ 18 ตุลาคมก็ตาม พอยื่นครั้งแรกก็ชนะประมูลเลยในโครงการมูลค่าประมาณ 3,495,000 บาท และเมื่อไปดู TOR จะพบว่าเรื่องคุณสมบัติของผู้เสนอราคาไม่ได้ล็อกไว้ แต่ล็อกที่ด่านสองคือสเปกของครุภัณฑ์

 

ต่อมาประมูลครั้งที่สอง วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ก็ชนะอีก ถ้าดู TOR ก็จะพบว่าเริ่มมีด่านแรกตั้งมาแล้ว โดยกำหนดว่าคุณสมบัติผู้เสนอราคาต้องเคยเป็นคู่ค้ากับท้องถิ่นในวงเงินไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท และไม่น้อยกว่าหนึ่งสัญญา และต้องย้อนหลังไม่เกินหนึ่งปีเท่านั้น ทั้งที่ปกติกำหนดไว้ 2 ปี อะไรจะพอดีขนาดนั้น รวมถึงมีการตั้งด่านสองเรื่องสเปก เช่น โหมดออกกำลังกาย Horse Racing

 

จากนั้น 28 กันยายน 2565 ชนะการประมูลครั้งที่ 3 ใช้มุกเดิมเรื่องการกำหนดสเปก เมื่อดูเอกสารจะเห็นว่าแทบจะเป็นการเอาสเปกเครื่องออกกำลังกายของตัวเองให้ กทม. เขียน TOR ประมูลครั้งที่ 4 ก็ทรงเดิม เน้นล็อกสเปกที่ตัวเครื่องออกกำลังกาย มาถึงครั้งที่ 5 ชนะอีกเช่นกัน และประมูลครั้งที่ 6 กำหนดคุณสมบัติ ตัวมูลค่าวงเงินก็เพิ่มขึ้น จำนวนสัญญาก็เพิ่มขึ้น เป็นความบังเอิญที่ TOR เติบโตไปพร้อมกับบริษัทนี้

 

ภัทราภรณ์กล่าวต่อว่า ต่อมามีบริษัทเอกชนเจ้าอื่นส่งหนังสือข้อวิจารณ์ถึงความผิดปกติของทั้งสองล็อกดังกล่าว โดยยื่นวิจารณ์ทั้งหมด 3 โครงการ ในที่สุดคณะกรรมการต้องกลับไปแก้ไขเป็นส่วนใหญ่ เมื่อแก้ไขและเลิกล็อกสเปกบางส่วน บริษัท V จึงแพ้ประมูลทั้งสามโครงการรวด

 

ทั้งหมดนี้คือสภาพของการจัดซื้อจัดจ้างที่บิดเบี้ยว แม้เป็นการทำตามระเบียบตามที่ฝ่ายบริหารของ กทม. แจ้ง ซึ่งเรื่องนี้บริษัทที่เข้าประมูลไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ตนเข้าใจว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กำลังตรวจสอบอยู่ ส่วนฝ่ายบริหารก็ตั้งคณะกรรมการสอบสวน แต่จากที่ผู้ว่า กทม. แถลงเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม บอกว่าไม่มีข้อมูลใหม่ ไม่สามารถเปิดเผยอะไรได้เลย ให้ข้าราชการตรวจสอบกันเอง ก็เป็นที่น่าสงสัยว่าการตรวจสอบนี้มีประสิทธิภาพหรือไม่ คณะกรรมการของผู้ว่า กทม. จงใจดึงเรื่องหรือไม่ จึงหวังว่าในวันพรุ่งนี้ (30 กรกฎาคม) ที่จะมีการแถลงข่าวเรื่องนี้ จะมีข้อมูลมากกว่านี้

 

“เชื่อว่าประชาชนยังติดตามเรื่องนี้อยู่ และต้องการคำตอบที่หนักแน่นชัดเจน ว่าท่านมีเจตจำนงในการต่อต้านการทุจริตอย่างแท้จริง ในฐานสมาชิกสภากรุงเทพมหานครที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร หวังว่าความผิดปกติในการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องออกกำลังกายที่เกิดขึ้น จะไม่ซ้ำรอยอีกในร่างข้อบัญญัติงบประมาณปี 2568 ที่จะเข้าสภากรุงเทพมหานครพรุ่งนี้” ภัทราภรณ์กล่าว

 

ด้านวิโรจน์กล่าวว่า เข้าใจความกระอักกระอ่วนของผู้ว่าชัชชาติ ที่บอกว่า 10 บริษัทที่ขอราคาไปยังไม่ให้ข้อมูลกลับมา ตนเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องขอ ขอแนะนำให้คณะกรรมการของ กทม. สืบราคาเลยจากท้องตลาด ว่าราคาที่เป็นจริงอยู่ที่เท่าไร และราคาที่ประมูลได้ในครั้งนี้แพงเกินจริงหรือไม่ ถ้าข้าราชการไม่ให้ความร่วมมือ ก็ตั้งข้าราชการอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความขาวสะอาดเข้าไปสืบราคา หวังว่าผู้ว่าชัชชาติจะชี้เฉพาะเจาะจงได้ว่ากระบวนการทุจริตนั้นมีหรือไม่ อยู่ที่กระบวนการใด ใครเกี่ยวข้องบ้าง

 

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์นี้ไม่ควรเพ่งเล็งเฉพาะครุภัณฑ์ในการออกกำลังกาย เหตุการณ์เหล่านี้เกิดบ่อยครั้งกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยขอให้โฟกัสที่คำว่า ‘งบแปร’ ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อไม่ดีในการพิจารณางบประมาณ ทางสภากรุงเทพมหานครจะแต่งตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณของ กทม. วงเงินงบประมาณ 90,000 ล้านบาท โดยปกติคณะกรรมการมี 36 ท่าน ประกอบด้วย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 27 คน แบ่งเป็นเพื่อไทย 14 คน ก้าวไกล 6 คน ประชาธิปัตย์ 6 คน และอิสระอีกหนึ่งคน รวมกับคนที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่งตั้งอีก 9 คน ซึ่งไม่ได้มีข้อบังคับใดห้ามคนนอกที่มีความรู้ความสามารถเรื่องงบประมาณหรือการตรวจสอบการทุจริตเข้ามาร่วม

 

กลไกการทำงานคือคณะกรรมการเหล่านี้ จะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีก ในปีงบที่ผ่านมามีการตกลงกันว่าให้สมาชิกสภากรุงเทพมหานครแต่ละคนตั้งอนุฯ ขึ้นมาร่วมกันพิจารณางบ โดยเฉพาะงบในแต่ละเขต เพราะการพิจารณางบของแต่ละสำนักและงบ 50 เขต เป็นภาระที่ใหญ่มาก และต้องทำให้เสร็จภายใน 45 วัน โดยสมาชิกสภากรุงเทพมหานครแต่ละคนตั้งบุคคลภายนอกได้ 3 คน เท่ากับต้องมีคนนอกเข้ามาร่วมอยู่แล้ว 150 คน ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด

 

วิโรจน์กล่าวต่อว่า ครั้งนี้พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันให้ไกลกว่าเดิม โดยเสนอว่าในสัดส่วน 6 คน เราจะเสนอบุคคลภายนอก 2 คนที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวข้องกับการพิจารณางบประมาณและการตรวจสอบทุจริต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน เป็นบรรทัดฐานที่อยากให้เกิดขึ้นในการพิจารณางบประมาณของท้องถิ่นอื่นๆ ตนได้แจ้งผู้ว่าชัชชาติ ทางผู้ว่าก็ยินดีที่จะได้ช่วยกันทำให้งบ กทม. โปร่งใส

 

โดยคณะกรรมการวิสามัญฯ กับอนุฯ จะทำงานร่วมกันในการตัดงบประมาณในโครงการที่ไม่จำเป็น หรือมีความล่าช้าในการดำเนินโครงการ และสำรองงบประมาณเอาไว้เกินจำเป็น และอาจเชื่อว่าเบิกจ่ายไม่ทันซึ่งสุดท้ายต้องคืนคลัง เสียผลประโยชน์กับการเอาไปทำโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ดังนั้นคณะกรรมการวิสามัญกับอนุฯ จะร่วมพิจารณาปรับลดแล้วมากองรวมกันเรียกว่า ‘งบแปร’ อยู่ที่ประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาทต่อปี เป็นอำนาจของผู้ว่า กทม. และส่วนงานราชการของ กทม. ที่จะนำรายงานจากคณะกรรมการสามัญต่างๆ หรือคำอภิปรายของสภากรุงเทพมหานคร หรือข้อคิดเห็นของผู้อำนวยการเขต มาพิจารณาว่าเงินจำนวนดังกล่าวควรใส่ในโครงการไหนที่ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่

 

ดังนั้นสิ่งที่ควรเป็นคือสภากรุงเทพมหานครจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับงบแปร เพราะถือเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร แต่สภากรุงเทพมหานครจะเข้าไปกำกับดูแลติดตามว่าโครงการที่ใช้งบแปรนั้นดำเนินการอย่างรวดเร็วหรือล่าช้า มีความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างและดำเนินการหรือไม่ แต่ถ้ามองงบแปรในมุมไม่ดีก็จะเป็นปัญหา เป็นบ่อเกิดของการทุจริตได้เช่นกัน กล่าวคือจะมีสมาชิกสภากรุงเทพมหานครกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเข้าไปกดดันข้าราชการ หรือผู้อำนวยการเขตในพื้นที่ว่าให้ใช้งบแปรซื้อสิ่งนั้นสิ่งนี้ของเครือข่ายพรรคพวกตัวเอง หรือให้พรรคพวกเข้ารับงานก่อสร้างแล้วเอาเงินทอนจากโครงการนั้น เท่ากับต่อปีจะมีเงินรั่วไหลไปเข้ากระเป๋าของนักการเมืองที่ทุจริตหลักร้อยหรือพันล้านบาท

 

วิโรจน์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครบางกลุ่ม รวมกันข่มขู่ตบทรัพย์ผู้ว่า คือกดดันฝ่ายบริหารว่าถ้าโครงการนี้ของ กทม. ไม่ยอมเอามาให้ผู้รับเหมาในเครือข่ายของตัวเอง ไม่ยอมล็อกสเปกให้ได้งาน ก็จะรวมหัวกันตัดงบของผู้ว่าฯ ทำให้ผู้ว่าฯ ต้องเจอแรงกดดันแบบนี้เรื่อยไป โดยในเอกสารไม่สามารถระบุได้ว่างบแปรรายการนี้เป็นของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครกลุ่มใด ผู้ว่าฯ และข้าราชการต้องเป็นคนแบกหน้าไว้ทั้งหมด เช่นเดียวกับการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายที่กำลังเป็นปัญหาอยู่นี้ ตนเชื่อว่าไม่ใช่งบของผู้ว่าฯ โดยตรงตั้งแต่แรก แต่เป็นงบแปรของสมาชิกสภากรุงเทพมหานครกลุ่มหนึ่ง เพียงแต่คนลงนามเป็นผู้ว่าฯ ซึ่งคงปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

 

จึงเป็นเหตุผลที่พรรคก้าวไกลยืนยันการเสนอบุคคลภายนอก 2 ท่านเข้าไปเป็นคณะกรรมการวิสามัญฯ พิจารณางบของ กทม. ปีนี้แน่นอน เชื่อว่าเมื่อขานชื่อจะได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน ทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลเพิ่มเติมมากขึ้น ทำให้งบของ กทม. ถูกใช้อย่างโปร่งใสกว่าเดิม โดยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานครครั้งต่อไป ถ้าประชาชนต้องการให้งบประมาณไปสู่ประชาชนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย พรรคก้าวไกลก็พร้อมอาสาในหน้าที่นั้น

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X