×

Game before the game คู่มือดูแลสภาพจิตใจนักกีฬาสำหรับโอลิมปิกเกมส์ จาก ผศ. ดร.วิมลมาศ ประชากุล นักจิตวิทยาการกีฬา

26.07.2024
  • LOADING...

คุณคาดหวังอะไรจากโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ครั้งนี้?

 

คำถามคลาสสิกที่ตัวผมเองในฐานะนักข่าวกีฬา บางครั้งก็ใช้ในการสัมภาษณ์พูดคุยกับนักกีฬาทีมชาติไทยหลายคนที่กำลังเตรียมตัวเดินทางไปแข่งขันมหกรรมกีฬาต่างๆ ด้วยเป้าหมายและความคาดหวังที่แตกต่างกัน

 

แต่สำหรับมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ 4 ปีมีครั้งอย่างโอลิมปิกเกมส์ แน่นอนว่าความคาดหวังและความกดดันอยู่ในระดับที่สูงไม่แพ้กับความเข้มข้นของการแข่งขัน ที่นักกีฬาจากทั่วโลกต่างก็อยากเห็นธงชาติของตัวเองขึ้นสู่จุดสูงสุดในพิธีมอบเหรียญรางวัล

 

วันนี้ก่อนที่มหกรรมกีฬาปารีส 2024 จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ THE STANDARD SPORT จึงได้พูดคุยกับ ผศ. ดร.วิมลมาศ ประชากุล อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ดูแลทั้ง เทนนิส-พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ, ใบเตย-ศศิกานต์ ทองจันทร์ และ หยู-บัลลังก์ ทับทิมแดง นักกีฬาเทควันโดทีมชาติไทย และ วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์, เมย์-รัชนก อินทนนท์, เม-ศุภนิดา เกตุทอง, วิว-รวินดา ประจงใจ และ กิ๊ฟ-จงกลพรรณ กิติธรากุล นักกีฬาแบดมินตัน

 

ถึงการเตรียมพร้อมสภาพจิตใจของนักกีฬาไปสู่มหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเมืองหลวงแห่งแฟชั่นอย่างกรุงปารีสในครั้งนี้

 


 

อยากให้อาจารย์แนะนำตัวหน่อยครับ

 

สวัสดีค่ะ ชื่อ ผศ. ดร.วิมลมาศ ประชากุล (อาจารย์ปลา) เป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาและสุขภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

นอกจากเป็นอาจารย์ประจำแล้ว ก็จะเป็นนักจิตวิทยาการกีฬาประจำสมาคมกีฬาเทควันโดแห่งประเทศไทย และดูแลนักกีฬาอื่นๆ อีกในหลายภาคส่วน หลายระดับ ทั้งระดับเยาวชน จนถึงทีมชาติและนานาชาติ

 

หน้าที่สำคัญของนักจิตวิทยาการกีฬาคืออะไร

 

หน้าที่สำคัญของนักจิตวิทยาการกีฬาคือการเตรียมความพร้อมให้นักกีฬาสามารถดึงศักยภาพที่มีอยู่ของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ เพราะปกติแล้วในเวลาที่นักกีฬาอยู่ในสถานการณ์แข่งขันจะตื่นเต้น ตื่นกลัว คาดหวัง หรือกดดัน ที่ทำให้นักกีฬามีความคิด อารมณ์ และความรู้สึก ไม่เหมือนกับตอนที่ฝึกซ้อม ถ้านักกีฬาไม่มีทักษะในการจัดการความเครียด ความคาดหวัง ความกดดัน หรือสร้างความมั่นใจ นักกีฬาส่วนใหญ่จึงไม่สามารถดึงเอาศักยภาพที่มีอยู่ของตัวเองออกมาใช้ได้

 

แต่ต้องเข้าใจก่อนว่าการฝึกให้นักกีฬา 1 คน หรือ 1 ทีม ประสบความสำเร็จ ต้องมี 4 องค์ประกอบหลักๆ ได้แก่

 

  1. ทักษะของกีฬานั้นๆ
  2. สมรรถภาพทางร่างกาย
  3. สมรรถภาพทางจิตใจ
  4. สิ่งแวดล้อม

 

สมรรถภาพทางจิตใจก็จะมีหลายองค์ประกอบ ทั้งการสร้างแรงจูงใจ การจัดการความเครียด ความคาดหวัง การสร้างความเชื่อมั่น และการควบคุมความสนใจ นี่คือสิ่งที่เราต้องเตรียมความพร้อมให้กับนักกีฬา

 

ภาพ: สลัก แก้วเชื้อ

 

นอกจากนั้น การที่นักกีฬาจัดการชีวิตหรือมีความสุขกับการเป็นนักกีฬาก็เป็นอีกประเด็นที่สำคัญที่นักจิตวิทยาการกีฬาจะเข้ามามีบทบาท ด้วยการให้คำปรึกษาเป็นรายบุคคล

 

แนวทางในการฝึก อย่างแรกคือให้ความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความสามารถให้ออกมาดี สองคือฝึกทักษะในการควบคุมความคิด เพื่อทำให้นักกีฬามีความคิดที่ถูกต้องในการแข่งขัน มีความตื่นตัวที่เหมาะสมในการแข่งขัน

 

หลังจากนั้นนักกีฬาก็จะดึงศักยภาพที่มีอยู่ของตัวเองออกมาใช้ได้ รวมถึงยังสามารถดึงศักยภาพตัวเองจากทักษะที่ฝึกมาแล้วอย่างเต็มที่ในวันแข่งขัน

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ส่วนใหญ่ในวันแข่งขัน ตัวแปรที่มีความสำคัญที่สุดในเรื่องของจิตใจคือ นักกีฬาหลายคนเมื่อลงสนามจะบอกว่า ‘จำไม่ได้เลยว่าต้องทำอะไรบ้าง’ ที่จำไม่ได้ เพราะความเครียด ความคาดหวัง ความกดดัน ความคิดเยอะ จนทำให้ตัดสินใจไม่ถูกหรือเสียสมาธิไปเลย หรือบางทีนักกีฬากังวลและกลัว เมื่อลงสนามขาหนัก ก้าวขาไม่ออก เคลื่อนที่ไม่ได้ เราก็มีวิธีการจัดการกับการตื่นตัวของร่างกาย

 

เรามีวิธีการจัดการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการหายใจ เพื่อช่วยให้สงบ ผ่อนคลาย ดึงสติ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การจินตภาพ การพูดกับตัวเอง การฝึกสติ เป็นต้น

 

หรือบางทีก่อนแข่งขันหัวใจเต้นแรง กังวลจนมือสั่น เราก็มีวิธีการฝึกการควบคุมการหายใจให้นักกีฬากลับมาอยู่ในภาวะปกติได้ หรือการมีสติ การจินตภาพ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ การควบคุมความสนใจให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันได้

 

นี่คือความสำคัญในการฝึกสมรรถภาพทางจิตใจ

 

หน้าที่ของนักจิตวิทยาการกีฬา

 

  1. เพื่อให้นักกีฬามีทักษะในการเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เพื่อให้นักกีฬาดึงศักยภาพที่มีอยู่แล้วออกมาให้ได้มากที่สุดตอนแข่งขัน

 

  1. เพื่อเพิ่มความพึงพอใจในการเป็นนักกีฬา เพราะระหว่างทางนักกีฬาก็อาจมีความคับข้องใจ เช่น ไม่พอใจกับการซ้อม หรือบาดเจ็บ หรือเรื่องส่วนตัว จนส่งผลต่อการฝึกซ้อม ตรงนี้นักจิตวิทยาการกีฬาก็มีหน้าที่เข้ามาช่วยเหลือ ปรึกษา พูดคุยได้

 

นักกีฬาควรเตรียมสภาพจิตใจอย่างไรสำหรับโอลิมปิกเกมส์ที่มี 4 ปีครั้ง

 

โอลิมปิกเกมส์เป็นมหกรรมกีฬาที่กดดันมาก เพราะเงินรางวัลหรือผลประโยชน์ที่ได้รับสูงมาก และด้วยความที่จัดแข่งขันกัน 4 ปีครั้ง

 

จริงๆ แล้วการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์กับชิงแชมป์โลก ระดับไม่ได้ต่างกันมากนัก เพียงแต่รายการชิงแชมป์โลกมีทุกปี ปีนี้พลาด ปีหน้าก็ยังมี

 

แต่โอลิมปิกเกมส์ที่มี 4 ปีครั้ง ปีนี้พลาด อีก 4 ปีก็ไม่รู้ว่าจะมีโอกาสอีกหรือไม่

 

ตรงนี้ทำให้นักกีฬาเกิดความคาดหวังและกดดันมาก

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

ดังนั้นวิธีการเตรียมตัวนักกีฬาสำหรับโอลิมปิกเกมส์คือสร้างความตระหนักว่า สิ่งที่เราต้องเจออาจยิ่งใหญ่กว่าที่เคยเจอในระดับชิงแชมป์โลก

 

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้นักกีฬาเล่นได้ดีคือการที่อยู่ในโซนของตัวเอง การอยู่กับปัจจุบัน การอยู่กับสิ่งที่ควบคุมได้ และมีวิธีการรับมือ รวมถึงมีวิธีการคิดอย่างถูกต้อง สิ่งนี้คือสิ่งสำคัญที่นักกีฬาต้องเตรียมตัว

 

การเตรียมตัวเหล่านี้เป็นการเตรียมตัวที่ไม่ต่างกับอีเวนต์อื่นๆ แตกต่างเพียงแค่ความคาดหวังที่เขาเผชิญ เราก็ต้องบอกว่า มันหนักกว่าคนอื่น อาจมีเรื่องของสื่อ โดยเฉพาะนักกีฬาที่เป็นความหวัง สื่อก็จะเข้ามาหาค่อนข้างเยอะ เราก็สอนนักกีฬาให้รับมือกับสื่อต่างๆ เช่น การสัมภาษณ์อย่างไรที่ไม่ทำให้เกิดความคาดหวังหรือเกิดความกดดันกับตัวเอง และสอนให้รู้ว่าสิ่งที่ต้องเผชิญมีอะไรบ้าง เพื่อให้นักกีฬาตระหนักถึงความสำคัญและเชื่อมั่นในสิ่งที่ฝึกกันมา

 

วิธีการรับมือความคาดหวังและความกดดันในมหกรรมโอลิมปิกเกมส์

 

เรื่องนี้คือการที่นักกีฬาต้องเข้าใจว่าแพ้-ชนะ มันเป็นเสน่ห์ของกีฬา

 

เราไม่รู้ว่าใครจะแพ้หรือชนะ จนกระทั่งจบการแข่งขัน นอกจากนี้ ผลแพ้-ชนะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของอนาคตและขึ้นอยู่กับคู่ต่อสู้ด้วย

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

เราตั้งใจซ้อมมาดี เรามีศักยภาพ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการที่เรามีศักยภาพแล้วจะต้องชนะเสมอไป เพราะคู่ต่อสู้เองเขาก็เตรียมตัวมาอย่างดีเพื่อจะชนะเราเช่นกัน

 

ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือนักกีฬาต้องเข้าใจธรรมชาติตรงนี้ และการเตรียมตัวเองให้พร้อมในเรื่องของการสร้างโอกาส เพื่อที่จะมองเห็นโอกาสของตัวเองเสมอ แล้วรู้ว่าถ้าเวลายังไม่หมด เราก็ยังมีโอกาสอยู่

 

วิธีการรับมือกับความล้มเหลวและพ่ายแพ้ในเวทีโอลิมปิกเกมส์

 

สิ่งที่อาจารย์ปลาจะเตรียมให้กับนักกีฬาเสมอคือการเน้นย้ำให้ทำอย่างเต็มที่ คำว่าเต็มที่หมายถึง ตั้งแต่การเตรียมตัว การฝึกซ้อม และเต็มที่ในการแข่งขัน

 

นั่นคือการดึงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่

 

แต่การชนะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ สิ่งที่ควบคุมได้คือวิธีการคิด อารมณ์ การแสดงออก และการแสดงความสามารถของเรา

 

ถ้าหากทำเต็มที่ตรงนี้ ก็จะเป็นพลังที่เข้มแข็งต่อผลของการแข่งขันและการรับฟีดแบ็กจากภายนอก ในการที่เราจะยอมรับและมูฟออนได้เร็วขึ้นในการที่จะพัฒนา เรียนรู้ และไปต่อ

 

รวมถึงการที่นักกีฬาเข้าใจว่ากีฬาให้โอกาสเราเสมอ

 

กีฬาให้โอกาสเราเสมอ

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

แม้ว่าโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้จะไม่เป็นไปตามที่ต้องการ หรือเราอาจไม่มีโอกาสในโอลิมปิกเกมส์ครั้งหน้า แต่ถ้าเรายังได้แข่งขันต่อไป ก็ยังมีโอกาสในการแข่งขันเสมอ

 

แต่ถ้าเต็มที่แล้วในการแข่งขัน เขาก็จะรู้สึกแล้วว่าได้ทำเต็มที่ เขาก็จะรู้สึกภาคภูมิใจ

 

เขาอาจรู้สึกเสียดาย แต่เขาไม่เสียใจ

 

เขาก็จะมูฟออนได้เร็วมาก

 

นี่คือวิธีการเตรียมตัวสำหรับผลที่ตามมาสำหรับนักกีฬา

 

เพราะเราไม่สามารถควบคุมผลการแข่งขันได้ แต่เราควบคุมตัวเราเองได้

 

การทำงานกับ วิว กุลวุฒิ และ เทนนิส พาณิภัค มีความเหมือนและแตกต่างกันอย่างไร

 

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

มีทั้งความเหมือนและความต่าง เราก็ดูจากธรรมชาติของกีฬา และวางแผนฝึกทักษะด้านจิตใจ

 

ความคิดที่ถูกต้อง สิ่งที่ต้องโฟกัส สิ่งที่ควบคุมได้ ให้กับนักกีฬา นี่เป็นพื้นฐานให้กับนักกีฬาทุกคน

 

แต่สิ่งที่ต่างคือ เทนนิส เราอยู่ด้วยกันมานานสิบกว่าปีแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จะรู้จักและสามารถสร้างโปรแกรมให้ฝึกได้เลย แต่สำหรับวิว เราเพิ่งจะมาทำงานด้วยกัน 3-4 เดือนที่ผ่านมา จึงต้องใช้เวลาทำความรู้จักกัน ทำความรู้จักธรรมชาติของการแข่งขันแบดมินตันด้วย

 

ภาพ: สลัก แก้วเชื้อ

 

นี่คือความแตกต่าง แต่วัตถุประสงค์ไม่ต่างกัน

 

แล้วทั้งสองคนต่างก็เป็นความคาดหวังของคนไทย

 

ดังนั้นสิ่งที่ต้องช่วยทั้งสองคนเตรียมตัวในด้านอื่นๆ เพื่อลดความกดดัน (ในส่วนที่ควบคุมได้) ด้วย เช่น การให้สัมภาษณ์ หรือการรับมือกับสื่อต่างๆ ซึ่งทั้งสองคนก็สามารถทำได้ดี

 

ปัญหาทั่วไปสำหรับนักกีฬาที่มีเหมือนกัน

 

ความคาดหวังและกดดัน ทุกคนมุ่งมั่นในการฝึกซ้อม พอลงแข่งขันก็อยากจะทำให้ออกมาดี อยากได้ตามเป้าหมาย นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับทุกคน ดังนั้นสิ่งที่เราเตรียมให้สำหรับนักกีฬาก็คือช่วยให้เขามีวิธีการรับมือกับสิ่งต่างๆ มีวิธีการเตรียมความพร้อมและจัดการตัวเอง มีวิธีการคิดที่ถูกต้อง โฟกัสให้ถูกที่ ถูกเวลา การอยู่กับปัจจุบัน การจัดการความคาดหวังที่ไม่ถูกต้อง การรีเซ็ตตัวเองได้ในขณะแข่งขัน หรือควบคุมการตื่นตัวให้อยู่ในโซนที่เหมาะสม เพื่อให้นักกีฬาแสดงความสามารถตามที่ตัวเองได้ฝึกซ้อมแล้วเป็นอย่างดี ทั้งด้านทักษะและร่างกาย

 

สิ่งที่ยากที่สุดในการทำงานกับนักกีฬาคืออะไร

 

สิ่งที่ยากที่สุดคือการเปิดใจที่จะทำงานร่วมกัน เพราะเนื้องาน สภาพจิตใจ เป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว เพราะนักกีฬาบางคนเขาก็ไม่รู้ว่าเขารู้สึกหรือคิดอะไรที่ทำให้เขาเล่นได้ไม่ดี แต่ถ้าเรามีความพยายามที่จะทำงานด้วยกัน ให้ข้อมูลที่เป็นจริงต่อกัน นั่นก็จะเป็นวิธีการร่วมงานต่อกันไปได้ แต่ถ้านักกีฬายังไม่เปิดใจ ยังไม่รู้วิธีการทำงานด้วยกัน ก็จะเป็นส่วนที่ยากที่สุด

 

ส่วนที่สำคัญที่สุดคือโค้ช ที่จะช่วยอธิบายถึงความสำคัญให้นักกีฬาเข้าใจ จะช่วยเหลือได้มาก

 

นักกีฬาระดับโลกมีโค้ชจิตวิทยา และส่งผลอย่างไรต่อพวกเขา

 

นักกีฬาระดับโลกทุกคนมี แต่ไม่อยากให้โฟกัสแค่นักกีฬาระดับโลกเท่านั้น เพราะการสร้างนักกีฬาไปสู่ความสำเร็จต้องใช้ทั้งทักษะ ร่างกาย และจิตใจ

 

นี่จึงเป็น 1 ใน 3 องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้นักกีฬาแสดงความสามารถได้ดี โดยเฉพาะนักกีฬาระดับสูงมีความคาดหวังว่าพลาดไม่ได้ ยิ่งคิดว่าพลาดไม่ได้เมื่อไร โอกาสพลาดมันก็เยอะ

 

พอเราพลาด เราจะรีเซ็ตอย่างไร เพื่อให้กลับอยู่กับปัจจุบันได้ กลับมาเล่นต่อไปได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งการรับมือกับความสำเร็จ ความล้มเหลว และโซเชียล เรื่องพวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึก

 

เพราะฉะนั้นถามว่าการมีโค้ชกีฬาด้านจิตวิทยากีฬามีผลไหม มีผลมาก เพราะเวลาที่เราเล่นมีเรื่องของความคิดและอารมณ์เข้ามา มันมีผลต่อการเล่น ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องฝึกด้วยถึงจะใช้ได้ดี

 

การตื่นเต้นเป็นเรื่องปกติ ใครไม่ตื่นเต้นสิ อาจผิดปกติ

 

แต่การตื่นเต้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุด แต่เรามีวิธีการจัดการกับความตื่นเต้นให้กลับมาอยู่ในโซนที่เหมาะสมได้อย่างไร สำคัญกว่า

 

เมื่อนักกีฬาอยู่ในโซนที่เหมาะสมนักกีฬา ก็จะดึงศักยภาพสูงสุดออกมาได้

 

แต่นักกีฬาหลายคนอยู่ในสนามมันสับสนวุ่นวายจนไม่รู้ว่าจะต้องอยู่กับอะไร สติหายไปหมด กลับไม่ถูก

 

นักจิตวิทยาก็จะเข้าไปช่วย แต่เป็นสิ่งที่ต้องฝึกและเตรียมพร้อมมาก่อน ศึกษานักกีฬาด้วยกันมาก่อน

 

โค้ชกีฬาด้านจิตวิทยาการกีฬาสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการมีให้ครบทุกองค์ประกอบในเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา (ร่างกาย โภชนาการ นวด วิเคราะห์การเคลื่อนไหว ฯลฯ) สำคัญกว่า

 


 

ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising