×

10 แบงก์พาณิชย์ โกยกำไรสุทธิทะลุ 1.26 แสนล้านบาท จับตาภาพรวมเร่งสำรองหนี้เสียเพิ่ม

25.07.2024
  • LOADING...

เปิดกำไรสุทธิ 10 ธนาคารพาณิชย์ไทย ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงไทย, เอสซีบี เอกซ์, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารทิสโก้, ธนาคารทหารไทยธนชาต, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พบในครึ่งแรกของปี 2567 โกยกำไรสุทธิไป 126,421 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.69% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า

 

โดยในครึ่งแรกของปี 2567 ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) นับเป็นธนาคารที่กำไรสุทธิปรับตัวขึ้นสูงสุดถึง 20.26% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แม้ในไตรมาส 2 ปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิจำนวน 12,653 ล้านบาท ลดลง 6.18% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน

 

โดย KBANK อธิบายว่า กำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 ลดลงหลักๆ มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น

 

ขณะที่ KKP เป็นธนาคารที่กำไรสุทธิลดลงมากที่สุด โดย KKP อธิบายว่า สำหรับงวดครึ่งแรกปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิเท่ากับ 2,275 ล้านบาท ลดลง 34.9% จากงวดเดียวกันของปี 2566 โดยรายได้รวมจากการดำเนินงานปรับลดลง 6.8% โดยลดลงในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับลดลง 4.5% จากต้นทุนทางการเงินที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลง 13.7% เป็นผลมาจากรายได้ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงตามการชะลอตัวของสินเชื่อปล่อยใหม่ ประกอบกับภาวะความไม่แน่นอนทางด้านตลาดทุนที่ยังคงส่งผลกระทบต่อการลงทุน

 

การสำรองหนี้เสียของแบงก์พาณิชย์เพิ่ม

 

ขณะที่การตั้งสำรองหนี้เสียหรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 10 แห่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.19 แสนล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ท่ามกลางปัญหาคุณภาพหนี้สินไทยที่มีแนวโน้มแย่ลงและภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

 

โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารที่ตั้งสำรองหนี้เสียสูงที่สุด อยู่ที่ 24,088 ล้านบาท หลังเผยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.05% ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 243 Basis Point และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 128.8%

 

ขณะที่ TISCO ระบุว่า บริษัทตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเปราะบาง สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต (NPL) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้ามาอยู่ที่ 2.44% และมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) ลดลงมาอยู่ที่ 162.7%

 

 

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X