×

กมธ.นิรโทษกรรม ประชุมนัดสุดท้าย ส่งข้อสรุปให้สภา ก้าวไกลเสนอรวมคดีมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข

โดย THE STANDARD TEAM
25.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (25 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา ชูศักดิ์ ศิรินิล สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ และ สมคิด เชื้อคง โฆษกคณะกรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงผลการประชุมนัดสุดท้าย

 

ชูศักดิ์เผยว่า วันนี้คณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเสร็จสิ้นเรียบร้อย ที่ประชุมได้ดูรายงานอย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ และมีมติรับรองรายงานการประชุมที่จะเสนอต่อสภา โดยมีมติสำคัญดังนี้

 

  1. ให้มีการนิรโทษกรรมคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองนับตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบันเป็นหลักการสำคัญ และการนิรโทษกรรมนี้ใช้รูปแบบของคณะกรรมการ โดยมีบัญชีแนบท้ายว่ามีคดีประเภทใดบ้างที่สมควรจะนิรโทษกรรม ขณะเดียวกันก็จะมีบัญชีแนบท้าย เพื่อให้กรรมการได้พิจารณาว่าคดีประเภทนี้นิรโทษกรรมได้หรือไม่ เข้าเงื่อนไขตามที่กำหนดหรือไม่ แต่สาระสำคัญต้องเป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตามบัญชีแนบท้าย

 

  1. คดีที่เกี่ยวกับความผิดต่อชีวิต มาตรา 288 และมาตรา 289 ซึ่งเป็นคดีละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ไม่อยู่ในข่ายที่เราเห็นว่าควรจะนิรโทษกรรม

 

  1. คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง ได้แก่ คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 และคณะกรรมาธิการฯ จะเสนอความเห็นต่อที่ประชุมสภา และสามารถแยกความเห็นได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ พร้อมเหตุผล

 

แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 เห็นว่าไม่ควรนิรโทษกรรมเลย, กลุ่มที่ 2 ควรมีการนิรโทษกรรม และกลุ่มที่ 3 มีการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข เช่น ให้กรรมการดูว่าผู้ที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยเหล่านั้นมีมูลเหตุจูงใจอะไร หรืออาจมีการตั้งเงื่อนไขว่าต้องห้ามกระทำความผิดซ้ำ เป็นต้น

 

ชูศักดิ์กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีมติว่าควรมีมาตรการในการบริหารก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม เนื่องจากมีคดีอยู่หลายประเภทค้างตามสถานีตำรวจ เป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ เช่นผิดกฎหมายจราจร แต่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางการเมือง และยังมีมาตรการที่สามารถใช้ไปได้ก่อนมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรม เช่นมาตรการสั่งไม่ฟ้องตามมาตรา 21 ของอัยการหรืออื่นๆ

 

“ท้ายที่สุด คณะกรรมาธิการฯ ก็มีข้อสังเกตว่า เรื่องการนิรโทษกรรมนั้นจะเป็นไปได้ที่สุด รัฐบาลก็ควรจะต้องรับเรื่องนี้เอาไปพิจารณาและเป็นเจ้าภาพหรือช่วยกันทำอย่างไรที่จะเร่งรัด พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้เกิดขึ้น ความสำเร็จในการประนีประนอม การทำให้ประเทศเข้าสู่สังคมปกติ น่าอยู่ น่าอาศัย และไม่ต้องทะเลาะกันเหมือนในอดีตก็จะเกิดขึ้น”

 

ด้านนิกรกล่าวว่า ในวันที่ 26 กรกฎาคม เวลา 16.30 น. คณะกรรมาธิการฯ จะยื่นรายงานต่อประธานสภาเพื่อบรรจุเข้าวาระรวมทั้งหมด 3 ฉบับ ซึ่งรายงานฉบับหลักคือที่คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จในวันนี้ และจะมีภาคผนวกเป็นอนุกรรมาธิการชุดศึกษาเรื่องความผิดเกี่ยวกับเรื่องคดีอีก 1 ฉบับ และเรื่องจำแนกคดีอีก 1 ฉบับ หลังจากนั้นจะรอการพิมพ์เล่มรายงานเพื่อแจกกับสมาชิก อาจใช้เวลาประมาณ 20 วัน และเมื่อประธานบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาแล้ว จะขอให้วิปรัฐบาลเลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาโดยเร่งด่วน เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคม

 

ขณะที่สมคิดกล่าวว่า เมื่อยื่นรายงานต่อประธานสภาในวันที่ 26 กรกฎาคมแล้ว หากประธานสภาบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมทัน ก็จะนำเข้าสู่การประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 30 กรกฎาคมนี้ เพื่อที่จะให้เลื่อนวาระขึ้นมาพิจารณาโดยเร่งด่วน แต่หากไม่ทันในสัปดาห์หน้าก็คาดว่าจะสามารถนำรายงานดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาได้ประมาณกลางเดือนสิงหาคม ซึ่งเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร เพราะฝ่ายค้านก็เห็นพ้องด้วย จากนั้นก็จะเสนอรายงานดังกล่าวต่อรัฐบาลเพื่อให้พิจารณาและเร่งดำเนินการตามบันทึกแนบท้ายว่าให้เร่งออกเป็น พ.ร.บ. ต่อไป

 

กมธ.นิรโทษกรรม สัดส่วนก้าวไกล เสนอให้นิรโทษกรรม ม.112 แบบมีเงื่อนไข

 

ในวันเดียวกัน ชัยธวัช ตุลาธน สส. แบบบัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. ​นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงประเด็นการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ทางกรรมาธิการฯ ในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลและบุคคลภายนอก เห็นด้วยที่จะให้มีการนิรโทษกรรม และมีความเห็นที่แตกต่างกันทั้งในสังคมและกรรมาธิการฯ จึงได้มีการรวมความคิดทุกรูปแบบให้อยู่ในรายงานให้ที่ประชุมอย่างรอบด้าน

 

กรรมาธิการฯ จึงเสนอให้มีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข คือให้คณะกรรมการนิรโทษกรรมมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขเพื่อจะเข้าสู่กระบวนการนิรโทษกรรม หากผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ที่ถูกพิพากษาแล้วว่ากระทำผิด ต้องการการนิรโทษกรรม ต้องยอมรับเงื่อนไขเบื้องต้นก่อนเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา รวมถึงควรมีมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ

 

ทั้งนี้ จะให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดได้มาแถลงข้อเท็จจริงว่าอะไรเป็นสาเหตุหรือแรงจูงใจให้กระทำการแบบนั้น และมีกระบวนการเปิดพื้นที่ปลอดภัยระหว่างผู้ที่ถูกกระทำผิดกับคู่ขัดแย้ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เพื่อที่จะมีการแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงหรือความเห็นที่ไม่ตรงกัน ซึ่งการกำหนดเงื่อนไขในแต่ละคดีจะไม่เหมือนกัน ต้องดูพฤติการณ์ของแต่ละคดี เพราะอาจจะถูกกลั่นแกล้งหรือตั้งข้อหาที่รุนแรงกว่าความจริง

 

อย่างไรก็ตาม ในขณะที่คณะกรรมการพิจารณาคดีเหล่านี้ควรจะมีมาตรการในการอำนวยความยุติธรรมเบื้องต้น เช่น การชะลอการฟ้อง การให้สิทธิในการประกันตัวออกมาก่อน หรือจำหน่ายคดีชั่วคราว เนื่องจากคดีที่ต้องเข้าสู่กระบวนการแบบมีเงื่อนไขนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลามากกว่าคดีอื่นๆ ภายหลังจากที่ได้รับการนิรโทษกรรมแล้วอาจจะต้องมีมาตรการเพื่อจะสร้างความปรองดอง เช่น ให้เข้ามารายงานตัว

 

“แม้เรามีความเห็นแบบหนึ่ง แต่ขอพยายามที่จะรับฟังและเข้าใจกับอีกฝ่าย และเปิดรับฟังความเห็นซึ่งกันและกัน และพยายามหาข้อเสนอหรือมาตรการที่ตอบโจทย์หรือพอจะยอมรับกันได้มากที่สุด และในรายงานก็จะมีความเห็นของทุกฝ่ายทุกด้าน ข้อดี ข้อเสีย เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาอย่างรอบด้าน และเป็นบรรยากาศที่ไม่ได้สร้างความขัดแย้ง เป็นบรรยากาศที่พยายามรับฟังซึ่งกันและกัน หากในสภาเองบรรยากาศยังไม่ปรองดอง ไม่เปิดใจฟังซึ่งกันและกัน การตรากฎหมายก็คงจะไม่บรรลุ” ชัยธวัชกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising