×

ศึกภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ-จีน: การหย่าร้างของ ‘คู่สมรสทางเศรษฐกิจ’

25.07.2024
  • LOADING...
ภูมิรัฐศาสตร์ สหรัฐฯ จีน

ถ้าจะเปรียบเปรยว่าสหรัฐฯ และจีนเป็นคู่สมรสกัน วันที่ทั้งสองมีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 มกราคม 1979 อาจจะนับได้ว่าเป็นวันแต่งงานของทั้งคู่ และเมื่อมาถึงปัจจุบัน หมายความว่าทั้งคู่แต่งงานกันมา 45 ปีแล้ว

 

ช่วงที่ทั้งคู่สนิทสนมกันเข้าขั้นฮันนีมูนก็คือช่วงทศวรรษที่ 1980-1990 สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศแข็งแกร่ง จีนเปิดประเทศเพื่อต้อนรับการลงทุน สหรัฐฯ ได้รับผลประโยชน์อย่างมากจากสินค้าราคาถูกของจีน

 

ความสัมพันธ์เริ่มถึงจุดที่นำไปสู่ความระหองระแหงในปี 2001 เมื่อจีนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) แม้เศรษฐกิจจะพึ่งพากันมากระหว่างสองฝ่าย แต่ความเครียดเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะความไม่สมดุลทางการค้าและเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา 

 

จากนั้นจีนทะยานขึ้นเรื่อยๆ ในด้านเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 2010 ขณะที่การแข่งขันระหว่างสองฝ่ายหนักข้อขึ้น เริ่มเห็นความขัดแย้งด้านเทคโนโลยี การทหารในทะเลจีนใต้ และสงครามการค้า

 

ช่วงเวลาปัจจุบันความสัมพันธ์สั่นคลอนอย่างหนัก ความสัมพันธ์ทางการทูตตกต่ำ เกิดคำถามว่าจะแยกทางกันเดิน แบ่งขั้ว ‘Decoupling’ หรือไม่ แต่ต่างฝ่ายต่างก็คงรู้ว่าแยกไม่ได้ แต่ความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ กำลังเป็นโจทย์ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ว่าจะนำโลกไปในทิศทางใด

 

 

เวที World Economic Forum: Summer Davos 2024

 

ในการประชุมสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่เมืองต้าเหลียน มณฑลเหลียวหนิง ประเทศจีน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 มิถุนายนที่ผ่านมา จัดขึ้นที่จีนเป็นครั้งที่ 15 ในชื่อ ‘การประชุมประจำปีของแชมเปียนใหม่ๆ’ (15th Annual Meeting of the New Champions) และเรียกสั้นๆ ว่า Summer Davos

 

ผู้เขียนได้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ในฐานะสื่อมวลชนไทยจาก THE STANDARD ได้เข้าร่วมรับฟังการประชุมหลายเวที ทั้งเวทีเปิดและเวทีปิด ในงานประชุมที่จัดขึ้นในธีม ‘New Frontiers for Growth’ หรือ ‘พรมแดนใหม่ๆ เพื่อการเติบโต’ มีเวทีประชุมย่อยๆ ไม่ต่ำกว่า 150 วงประชุม มีผู้นำจากภาครัฐ ผู้บริหารภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และสื่อมวลชน จาก 80 ประเทศร่วมงานประมาณ 1,700 คน

 

ผู้ร่วมงานจำนวนมากเป็นผู้บริหารระดับ CEO ของจีน โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น รถยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยี พลังงานสะอาด และปัญญาประดิษฐ์

 

 

จากบรรยากาศในงานอดคิดไม่ได้ว่าเป็นเสมือน Showcase ของจีน ที่มีนายกรัฐมนตรีหลี่เฉียงเป็นเซลส์แมน นำทีมผู้บริหารของจีนเป็น Salesforce เพื่อทำการตลาดให้กับประเทศ

 

จีนย้ำ โลกจะโตไม่ได้ถ้าไม่มีโลกาภิวัตน์

 

นายกฯ หลี่เฉียง ของจีน กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน ระบุว่า เมื่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของทั้งโลกลดลง ธุรกิจต้องเปิดหน้าชกในมหาสมุทรสีแดง หมายความว่าการแข่งขันย่อมเต็มไปด้วยความรุนแรงและดุเดือดมากขึ้น

 

 

“การต่อสู้กันแบบหายใจรดต้นคอเพื่อช่วงชิงทรัพยากร จะนำไปสู่การต่อต้านโลกาภิวัตน์ และอาจจะขยับเข้าสู่ความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้นอีก

 

“การเน้นผลกำไรสูงสุดของตัวเองโดยเอาเปรียบคนอื่นๆ หรือการใช้มาตรการปิดกั้นอย่างการแยกเป็นสองขั้ว เท่ากับการป่วนห่วงโซ่การผลิตโลก การใช้มาตรการสนามหญ้าเล็กๆ รั้วสูงๆ (Small Yards with High Fences) จะยิ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ตัดขาดสายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างภูมิภาค เร่งความตึงเครียด และความขัดแย้ง”

 

ไม่มีคำใดที่เอ่ยตรงๆ ถึงสหรัฐฯ แต่สารที่ส่งออกมาทั้งหมดพอจะตีความได้ไม่ยากเลยว่านายกฯ จีนกำลังพูดถึงใคร

 

ยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการปิดกั้นทางเศรษฐกิจต่อจีนว่า “Small Yard, High Fence” แปลตรงๆ คือสนามหญ้าเล็กๆ ที่มีรั้วสูงๆ เพื่อปกป้องเทคโนโลยีระดับสูงของสหรัฐฯ แต่รัฐบาลจีนมองว่ามาตรการปิดกั้นของสหรัฐฯ คือการสกัดกั้นจีนไม่ให้เติบโต

 

นายกฯ หลี่ย้ำถึงการเติบโตของเศรษฐกิจโลกตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมาว่า โตได้ขนาดนี้เพราะความเฟื่องฟูของโลกาภิวัตน์ เมื่อจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO ในปี 2001 บทบาทของจีนในการค้าโลกพุ่งทะยาน กลายเป็นประเทศที่ส่งออกและนำเข้ามากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก

 

หลี่เฉียงย้ำว่า ยิ่งการแข่งขันรุนแรงขนาดไหน ก็ยิ่งจะทำให้เค้กทั้งก้อนเล็กลง และอ้างอิงสุภาษิตจีนที่ว่า ‘ต้องมองไกลๆ ด้วยสายตา เพื่อให้เห็นทิวทัศน์ที่ยาวไกล’

 

นายกฯ หลี่ย้ำถึงฉากทัศน์ของจีนว่าเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพ เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าสู่น่านน้ำใหม่ๆ Blue Ocean เน้นพลังงานสีเขียว ปัญญาประดิษฐ์ นวัตกรรม เพื่อให้สมกับคำว่า New Frontiers for Growth

 

ผู้เขียนมองว่าจีนพยายามสื่อสารกับสหรัฐฯ ว่าขอให้กลับมาสู่เส้นทางโลกาภิวัตน์ เพื่อที่จะได้เติบโตไปด้วยกัน แข่งกันแบบไม่เอาเป็นเอาตาย เป็นธรรม แทนที่จะปิดกั้นกันด้วยการใช้กำแพงภาษีสูงๆ

 

ข้อถกเถียงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์

 

ผู้เข้าร่วมงานประชุมท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนามได้ไปร่วมงาน WEF อย่างต่อเนื่อง เขาเป็นที่ปรึกษาเรื่องการลงทุนจากยุโรป และเดินทางไปจีนบ่อยครั้ง สะท้อนบรรยากาศการประชุมในปีนี้ที่ต่างจากที่ผ่านๆ มาว่า เป็นครั้งที่คุยกันเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างเปิดเผย

 

“ไม่เคยมีครั้งไหนที่คุยกันชัดเท่าครั้งนี้อีกแล้ว”

 

Geopolitics เป็นหัวข้อที่คุยกันตั้งแต่สุนทรพจน์ในการเปิดประชุม เวทีหารือ เวทีคุยกันช่วงอาหารเย็น ไปจนถึงวงคุยกันตามมุมกาแฟและระเบียง

 

เกิดอะไรกับ ‘Decoupling’

 

เรื่อง Decoupling หรือแยกขั้วออกจากกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมรับ แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนจะเกิดขึ้นแล้วจริงๆ

 

รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน ระบุชัดว่าไม่ได้เดินหน้าแยกขั้วออกจากจีน แต่ต้องใช้มาตรการบางอย่างเพื่อดูแลเรื่องการค้าและการโอนเทคโนโลยี มาตรการที่ว่าก็คือการขึ้นกำแพงภาษีอย่างมีเป้าหมาย การปิดกั้นสินค้าในระดับหนึ่ง แทนที่จะตัดขาดเศรษฐกิจของสองประเทศ

 

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลไบเดนขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน จาก 27.5% เป็น 102.5% โดยระบุว่าเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมรถยนต์ของสหรัฐฯ จากการไหลทะลักของ EV จีนที่ราคาถูกกว่ามาก สหรัฐฯ เกรงว่า EV ที่ราคาถูกจะเข้าไปป่วนตลาดและวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ

 

ไม่เฉพาะแต่ EV สินค้านำเข้าจากจีนอื่นๆ เช่น แบตเตอรี่ โซลาร์เซลล์ เซมิคอนดักเตอร์ ถูกขึ้นกำแพงภาษีจาก 25% เป็น 50% โดยสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่าเทคโนโลยีกลุ่มนี้สำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติ และความสามารถในการแข่งขันด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

 

โฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนออกแถลงการณ์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า สหรัฐฯ พูดแล้วพูดอีกว่าไม่ได้มีความตั้งใจที่จะ ‘Decoupling’ จากจีน แต่กลับออกกฎเพื่อปิดกั้นการลงทุนของบริษัทอเมริกันในจีน และปิดโอกาสของภาคอุตสาหกรรมจีน

 

ความไม่ลงรอยระหว่างสองยักษ์ใหญ่กำลังกลายเป็นความสะพรึงของประเทศต่างๆ ที่เฝ้ามองว่าสถานการณ์จะแย่ลงไปกว่านี้อย่างไร เพราะเต็มไปด้วยความกังวลว่าความตึงเครียดทางการค้าที่ยกระดับขึ้นจะยิ่งนำไปสู่มาตรการตอบโต้จากจีน แล้วจะยิ่งส่งผลกระทบต่อการค้าในระดับโลก

 

Sir Robin Niblett ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์แห่ง Chatham House ที่เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และผู้เขียนหนังสือ The New Cold War พูดบนเวทีที่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และจีนว่า “สถานการณ์จะเลวร้ายลงไปกว่านี้ก่อนที่จะเลวร้ายกว่านี้”

 

พอจะเห็นสัญญาณที่ดีบ้างหรือไม่

 

ศาสตราจารย์ Graham Allison นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันชื่อดังแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เตือนผ่านเวทีการประชุมว่า “ขอให้ทั้งโลกรัดเข็มขัดกันให้ดี โลกอนาคตน่ากลัวยิ่งนัก”

 

แต่ศาสตราจารย์ Allison ไม่ลืมที่จะย้ำว่า มองย้อนกลับไปได้เห็นประธานาธิบดีสีจิ้นผิงคุยกับประธานาธิบดีไบเดนในการประชุม APEC ที่ซานฟรานซิสโกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2023 พอจะทำให้ใจชื้นว่าผู้นำสองคนยังนั่งลงคุยกันได้เกินกว่า 3 ชั่วโมง ทั้งๆ ที่มีเรื่องไม่พอใจกันสูงมาก แสดงว่าอย่างน้อยท่ามกลางการต่อสู้กันอย่างดุเดือด ยังมีช่องทางที่คุยกันได้อย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา ที่ทำให้เห็นความพยายามที่จะทำงานร่วมกัน และรักษาความสัมพันธ์นี้ไว้แม้จะเปราะบางมาก

 

ประเทศระดับกลางๆ อย่างไทยจะต้องวางตัวอย่างไร

 

ฉากตึงเครียดที่เกิดขึ้นนี้แน่นอนว่าทำให้ทั้งโลกต้องตื่นตัว แต่ไทยในฐานะประเทศระดับกลางๆ ก็จะต้องปรับทิศทางให้เหมาะสม

 

ผู้เขียนได้มีโอกาสคุยกับคนไทยบางท่านที่ได้ไปร่วมงาน Summer Davos ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต และผู้เขียนหนังสือ Twists and Turns บอกว่าควรจะฟังหูไว้หู ทั้งในจุดยืนของสหรัฐฯ และของจีน แต่ท่ามกลางความตึงเครียดนี้อาจจะเป็นโอกาสของไทยด้วย

 

“จีนอยากออกไปลงทุนมากขึ้น เป็นทั้งเรื่องที่มีความเสี่ยงและโอกาสสำหรับประเทศไทย บางครั้งมีสินค้าที่จะทะลักเข้ามาแต่จีนจะเพิ่มโอกาสในการลงทุนในด้านต่างๆ เช่น EV และแผงโซลาร์เซลล์ โจทย์ของไทยก็คือการเลือกให้ดี เราต้องการการลงทุนแบบไหน เราเป็นแค่แหล่งผลิตหรือเราจะเป็น Technology Transfer ให้เขามาพัฒนาคนให้เราด้วยได้ไหม เป็น Green Technology ไทยต้องพยายามให้เด่นมากขึ้นในอาเซียนเพื่อดึงดูดการลงทุน”

 

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่ามีโอกาสได้คุยกับนายกฯ หลี่เฉียง และได้ถามเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ว่า เมื่อมีปัญหาระหว่างจีนและสหรัฐฯ ประเทศอื่นๆ จะต้องวางตัวอย่างไร คุณบุรณินบอกว่า นายกฯ จีนตอบว่า “แต่ละประเทศต้องมีวิธีการรับมือของตัวเอง”

 

แม้ว่าอาจจะยังเต็มไปด้วยคำถามมากกว่าคำตอบจากเวที Summer Davos นี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อบรรดาผู้นำในระดับที่ตัดสินใจมาพบหารือกันย่อมจะส่งผลต่อทิศทางการเดินหน้าของโลก

 

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งบริษัทบิทคับ ให้ตัวเลขที่น่าคิดว่า คนที่มาร่วมประชุมที่ WEF มีไม่ถึง 3,000 คน แต่เป็นคนที่ควบคุมมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์​ของมูลค่าตลาดหุ้นทั่วโลก ทุกคนที่อยู่ในห้องนี้เป็น Decision Maker หรือผู้นำรัฐ เป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนมาคุยกัน และมี Initiative ใหม่ๆ ร่วมกัน เป็นเวทีที่ผู้นำมาพูดคุยกัน และมาแชร์วิสัยทัศน์ เป็น Neutral Ground ของโลก

 

หมายความว่าไม่มีสูตรสำเร็จในสมการภูมิรัฐศาสตร์ที่ตึงเครียดนี้ จีนบอกว่าจีนกำลังปรับเข้าสู่การเติบโตแบบคุณภาพสูง เน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สหรัฐฯ บอกว่าต้องปกป้องดูแลตลาดภายใน ธุรกิจ และคนอเมริกัน

 

ไทยจะวางยุทธศาสตร์อย่างไรเพื่อไม่ให้ตกขบวนห่วงโซ่การผลิตใหม่ ที่ความเสี่ยงและโอกาสกำลังมาเคาะประตูบ้าน

 

 

ณัฏฐา โกมลวาทิน ผู้อำนวยการฝ่ายข่าว THE STANDARD ให้สัมภาษณ์กับ เคน-นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ ซีอีโอ

และบรรณาธิการบริหาร THE STANDARD ในรายการ The Secret Sauce

 

ภาพ: Lichtgeschwindigkeit via ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising