×

รถไฟสายใหม่ กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์: ก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงภูมิภาคหรือแผนซ่อนเร้นของจีน?

23.07.2024
  • LOADING...
รถไฟสายใหม่ กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์

การรถไฟแห่งประเทศไทย (SRT) ได้เปิดให้บริการเส้นทางรถไฟโดยสารสายใหม่จากกรุงเทพฯ สู่เวียงจันทน์ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีนักเดินทางเต็มทุกที่นั่ง 270 ที่นั่งในเที่ยวปฐมฤกษ์

 

เส้นทางนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายรถไฟในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กำลังขยายตัว เพื่อเพิ่มการเดินทางและการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดนกับจีน โดยเส้นทางรถไฟกรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ มีระยะทางประมาณ 650 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 12 ชั่วโมง รวมถึงการตรวจคนเข้าเมืองข้ามพรมแดน มีให้บริการวันละ 1 เที่ยว โดยมีที่นั่ง 3 ชั้นให้เลือก ราคาตั๋วเที่ยวเดียวอยู่ระหว่าง 281-874 บาท

 

นอกเหนือจากการอำนวยความสะดวกในการเดินทางและส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างไทยและสปป.ลาวแล้ว เส้นทางนี้ยังเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับจีน โดยสถานีคำสะหวาด (Khamsavath) ซึ่งเป็นสถานีปลายทางในสปป.ลาว อยู่ห่างจากสถานีเวียงจันทน์ (Vientiane) ที่เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงไปยังคุนหมิง ประเทศจีน เพียง 10 กิโลเมตร

 

ดังนั้น SRT คาดว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจีนให้เดินทางมายังไทยได้มากขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลไทยยังคงเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวจากจีน โดยการโปรโมตสินค้าไทย เช่น เครื่องสำอาง MISTINE และผลไม้ไทยในตลาดจีนผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 

ความเคลื่อนไหวนี้สอดคล้องกับการเปิดเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าระหว่างไทยและจีน เช่น เส้นทางระยอง-เฉิงตู และกรุงเทพฯ-ฉงชิ่ง ซึ่งทั้งสองเส้นทางใช้ประโยชน์จากรถไฟสปป.ลาว-จีน ที่กำลังกลายเป็นเส้นทางสำคัญสำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าไทยที่ส่งไปยังจีนผ่านประเทศเพื่อนบ้านได้ถึง 17% ในปีนี้ เป็น 2.5 แสนล้านบาท ตามการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ด้านมาเลเซียก็ไม่น้อยหน้า เปิดตัวรถไฟขนส่งสินค้า ASEAN Express เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เชื่อมต่อระหว่างรัฐสลังงอร์ (Selangor) ใกล้กรุงกัวลาลัมเปอร์ ผ่านไทยและสปป.ลาว ไปยังฉงชิ่งของจีน โดยใช้เวลาเดินทางเพียง 9 วัน ซึ่งเร็วกว่าการขนส่งทางเรือถึงสองเท่า และมีแผนที่จะเพิ่มความถี่ในการให้บริการเป็นรายวันในอนาคต

 

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเครือข่ายรถไฟที่เชื่อมต่อกับจีนก็สร้างความกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสปป.ลาว ที่มีหนี้สาธารณะต่างประเทศสูงถึง 80% ของ GDP และเชื่อว่าครึ่งหนึ่งเป็นหนี้จีน หากสปป.ลาวไม่สามารถชำระหนี้ได้ อาจตกอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ ที่จีนจะเข้าควบคุมโครงสร้างพื้นฐานของสปป.ลาว รวมถึงระบบรถไฟ

 

สำหรับไทยและมาเลเซีย แม้ว่าบริษัทการรถไฟของทั้งสองประเทศจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน แต่การเชื่อมต่อกับรถไฟสปป.ลาว-จีน ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road Initiative ของจีน ก็อาจทำให้จีนมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจและนโยบายต่างๆ ของทั้งสองประเทศในอนาคต

 

ความท้าทายสำคัญสำหรับประเทศไทยและมาเลเซียคือการรักษาสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายรถไฟที่เชื่อมต่อกับจีน เพื่อส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยว กับการรักษาอำนาจอธิปไตยและความเป็นอิสระในการตัดสินใจทางเศรษฐกิจและการเมือง

 

นอกจากนี้ความสำเร็จของเส้นทางรถไฟสายใหม่นี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกหลายประการ เช่น ปริมาณความต้องการใช้บริการ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีขนส่งสินค้าและศุลกากร และความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาค

 

ภาพ: Tossapon Nakjarung / Shutterstock

อ้างอิง:

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X