Robinhood แอปพลิเคชันเดลิเวอรีดาวรุ่งที่เคยรุ่งโรจน์ในช่วงล็อกดาวน์ ประกาศปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ หลังจากเผชิญกับภาวะขาดทุนสะสมกว่า 5 พันล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนราคาแพงในตลาด Food Delivery ไทย ที่การแข่งขันดุเดือด และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคหลังโควิดกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ผู้เล่นรายเล็กไม่อาจต้านทานได้
Robinhood ถือกำเนิดขึ้นในปี 2563 ท่ามกลางวิกฤตโควิดที่ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรีเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นผู้สนับสนุนหลัก แต่เส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะบริษัทต้องเผชิญกับภาวะขาดทุนต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ขาดทุน 87 ล้านบาท, ปี 2564 ขาดทุน 1.3 พันล้านบาท, ปี 2565 ขาดทุน 1.9 พันล้านบาท และปี 2566 ขาดทุน 2.1 พันล้านบาท
การปิดตัวลงของ Robinhood เป็นเครื่องเตือนใจถึงความยากลำบากในการทำกำไรในธุรกิจเดลิเวอรี แม้ว่าตลาดจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มูลค่าตลาดอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 8.7 หมื่นล้านบาทในปี 2566
แต่การแข่งขันที่รุนแรงและส่วนแบ่งการตลาดที่กระจุกตัวอยู่ในมือผู้เล่นรายใหญ่ ทำให้ผู้เล่นรายเล็กอย่าง Robinhood ต้องดิ้นรนอย่างหนักเพื่อความอยู่รอด
ปัจจุบัน GrabFood ครองส่วนแบ่งการตลาด 47% และ LINE MAN 36% ทั้งสองรายต่างก็เผชิญกับภาวะขาดทุนสะสมมหาศาลเช่นกัน แต่ด้วยส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่กว่า ทำให้สามารถสร้างรายได้มากพอที่จะชดเชยการขาดทุนได้
โดย Grab ขาดทุนสะสมกว่า 284 ล้านบาทในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 325 ล้านบาทในปี 2564 ก่อนจะพลิกกลับมามีกำไรในปี 2565 และ 2566 ที่ 576 ล้านบาท และ 1.3 พันล้านบาท ตามลำดับ
ส่วน LINE MAN ขาดทุนสะสมกว่า 1.1 พันล้านบาทในปี 563, 2.4 พันล้านบาทในปี 2564 และ 2.7 พันล้านบาทในปี 2565 ก่อนจะลดลงเหลือ 253 ล้านบาทในปี 2566
ในขณะที่ตลาด Food Delivery ไทยกำลังเผชิญกับภาวะหดตัวครั้งแรกในรอบหลายปี คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะลดลง 1% เหลือ 8.6 หมื่นล้านบาทในปีนี้ ผู้เล่นรายเล็กๆ อาจต้องเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น และอาจมีรายอื่นๆ ที่ต้องปิดตัวลงตาม Robinhood
อย่างไรก็ตาม ตลาด Food Delivery ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีศักยภาพในการเติบโต โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดรวมจะสูงถึง 1.71 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2566 โดยอินโดนีเซียเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดด้วยมูลค่า 4.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยไทยที่ 3.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Grab และ LINE MAN ต่างก็ปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป Grab มุ่งเน้นไปที่ตลาดบน โดยเปิดตัว Exclusivity แบรนด์ย่อยที่นำเสนอเมนูพรีเมียมเฉพาะบนแพลตฟอร์มของ Grab เท่านั้น
ในขณะที่ LINE MAN ใช้กลยุทธ์ลดราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดแมส และขยายไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน
แม้ว่าจำนวนผู้ใช้งานแอปพลิเคชันเดลิเวอรีจะยังคงสูงกว่า 20 ล้านคน แต่พฤติกรรมผู้บริโภคที่กลับไปรับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้นหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ทำให้ความถี่ในการใช้งานแอปลดลงอย่างเห็นได้ชัด
การปิดตัวลงของ Robinhood เป็นเครื่องเตือนใจว่า แม้ตลาด Food Delivery จะยังมีศักยภาพในการเติบโต แต่การแข่งขันที่รุนแรงและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้การอยู่รอดในตลาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้เล่นที่ไม่สามารถปรับตัวและสร้างความแตกต่างได้ อาจต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกับ Robinhood
ภาพ: John And Penny / Shutterstock
อ้างอิง: