วันนี้ (18 กรกฎาคม) เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกลางกรุง และตรวจพบสาร ไซยาไนด์ บริเวณที่เกิดเหตุว่า จริงๆ แล้วสารไซยาไนด์หาได้ง่ายและสามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน เพราะมีสารชนิดนี้อยู่ในผัก ผลไม้ เช่น ข้าวเจ้า, ข้าวสาลี, พีช และมะม่วง
ส่วนในทางอุตสาหกรรม ไซยาไนด์ใช้ผลิตไนลอน และพบมากที่สุดในยาฆ่าแมลง ซึ่งไซยาไนด์มีพิษร้ายแรงมาก เมื่อรับสารพิษเข้าไปแม้เพียงนิดเดียว อวัยวะในระบบประสาทส่วนกลาง, ตับ, ไต และระบบหัวใจ จะได้รับผลกระทบทันที
เกณิกากล่าวต่อว่า ความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณของสารพิษที่ได้รับ ระยะเวลาในการได้รับสารพิษ และวิธีการที่ได้รับสารพิษเข้าสู่ร่างกาย ไม่ว่าจะจากการกิน สูดดม หรือดูดซึมผ่านทางผิวหนัง หากได้รับไซยาไนด์เข้าไปในปริมาณมาก อาการมักจะเกิดขึ้นในทันที เริ่มจากปวดศีรษะ ใจสั่น หน้าแดง หายใจติดขัด ชัก วูบหมดสติ หยุดหายใจ และอาจมีภาวะหัวใจหยุดเต้นได้ภายในเวลา 10 นาที
หากได้รับในปริมาณเล็กน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน จะกดการทำงานของระบบประสาทและการหายใจ เกิดอาการปวดศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน ใจสั่น และอาจมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นตามมา เช่น รูม่านตาขยาย ตัวเย็น อ่อนแรง หายใจช้า หากไม่ได้รับการรักษาเป็นเวลานาน อาจทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
“รัฐบาลโดยกระทรวงยุติธรรมจึงขอเตือนประชาชนว่า ไซยาไนด์จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 ประกอบมาตรา 73 ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เกณิกากล่าว