×

3 รัฐมนตรีกระทรวงการคลังลุกชี้แจงฝ่ายค้าน อธิบายความจำเป็นของ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

โดย THE STANDARD TEAM
17.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (17 กรกฎาคม) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 5 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 เป็นพิเศษ วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีสมาชิกลุกขึ้นอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างกว้างขวาง

 

ในช่วงหนึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลุกขึ้นชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิก นำโดย จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า แหล่งงบประมาณของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเปลี่ยนไปเป็นเพราะกลไกที่เปลี่ยนจากการรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อไปดูข้อมูลแล้วเราสามารถจัดการได้ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ ซึ่งคณะอนุกรรมการกำกับที่มีตนเองเป็นประธานก็นำข้อเสนอนี้ไปยังคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาและมีมติเห็นชอบไปแล้วเพื่อให้มีความเหมาะสมขึ้น

 

จุลพันธ์ยังยืนยันว่า ภายในกรอบเวลานี้แม้จะมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดบ้าง ทั้งสินค้าต้องห้าม แหล่งเงิน และขณะนี้เราเดินหน้ามาถึงจุดที่สามารถยืนยันได้ว่าระบบเราสามารถเสร็จได้ทันและมีเงินเพียงพอ พร้อมมั่นใจว่าปลายปีนี้เงินจะถึงมือพี่น้องประชาชนแน่นอน

 

ส่วนข้อกังวลเรื่องการสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายนั้น จุลพันธ์ชี้ว่า การใช้คำว่าสุ่มเสี่ยงก็แปลว่าสมาชิกรู้อยู่แล้วว่ารัฐบาลดำเนินการตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ซึ่งกระบวนการที่ทำผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานราชการจำนวนมาก ก่อนที่จะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการประชุมในคณะกรรมการต่างๆ ก็ประชุมอย่างละเอียดรอบคอบและเป็นไปตามกรอบกฎหมาย

 

“ส่วนความเป็นห่วงเรื่องการให้ข้อมูลของรัฐบาลในการลงทะเบียนวันที่ 1 สิงหาคม ถือเป็นเรื่องเล็กมาก รัฐบาลไม่มีข้อขัดแย้งกัน และมีการพูดคุยกันตลอด แต่ท่านอาจจะรู้น้อยกว่า เพราะท่านไม่ได้อยู่ในที่ประชุม”

 

จุลพันธ์อธิบายว่า นโยบายนี้จ่ายเงินโดยตรงกับประชาชน เพราะผูกกับบัตรประชาชน 10,000 บาทต่อหนึ่งใบเท่านั้น ดังนั้น การทุจริตของภาครัฐยังมองไม่เห็น ส่วนการกล่าวหาว่าทำไมต้องให้ผู้ที่อายุ 16 ปีขึ้นไปนั้น เพราะอีก 2 ปีจะสามารถเลือกตั้งได้ ถ้ารัฐบาลคิดแบบนั้นจริงคงจะเลือกคนที่อายุ 14 ปี เพราะเมื่อหมดวาระก็จะสามารถเลือกตั้งได้เลย แต่ขอยืนยันว่าอายุเหล่านี้เป็นช่วงวัยที่สามารถนำเงินไปใช้จ่าย และมีกลไกไปหมุนเศรษฐกิจให้เงินงบประมาณที่มอบให้ได้อย่างเหมาะสม ส่วนการไม่ให้เงินสดนั้นก็ยืนยันว่าเราไม่ได้ให้เป็นเงินคริปโต ซึ่งเราต้องสร้างระบบการแลกเปลี่ยนกลางของรัฐ

 

พิชัยย้ำแก้วิกฤตต้องทำตอนนี้

 

จากนั้น พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นชี้แจงในกรณีที่มีสมาชิกมองว่า การแจกเงินในครั้งนี้จะเป็นการสร้างหนี้ โดยระบุว่าหากมีการใช้งบประมาณทั้งที่มีการเก็บรายได้ไม่เพียงพอก็ต้องมีการกู้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะใช้จากตัวงบประมาณเอง หรือมาตรา 28 ก็ตาม นี่ก็คือภาระหนี้ในวันนี้และหนี้ที่ต้องกู้ในอนาคต แต่สิ่งที่เรามองเห็นคือความจำเป็นในการที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจของเรามีลักษณะที่หดตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 

 

“เราก็ทราบปัญหากันลึกๆ ว่าปัญหานี้หรือที่บางคนเรียกว่าเป็น 10 ปีที่สูญเปล่า แล้วเราไม่ได้ทำอะไร แต่วันนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว วิกฤตเกิดขึ้นแล้ว เป็นวิกฤตที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เป็นวิกฤตที่เรามองเห็นอยู่ข้างหน้า ว่าหากเราไม่ทำอะไรที่จะเป็นการกระตุ้น ไม่ช้าก็เร็ววิกฤตจะมาแน่นอน”

 

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มหนี้ในครั้งนี้ก็ยังอยู่ในวิสัยที่คิดว่า หนี้มากหรือน้อยไปหรือไม่ จากความสามารถในการชำระคืนของประเทศ ย้ำว่าวันนี้มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นรายจ่ายพิเศษเพื่อกระตุ้น และแม้หลายคนจะบอกว่าสิ่งนี้จะไปสู่นายทุนใหญ่ แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็วนกลับมาสู่รายย่อยแน่นอน

 

“ลงวันนี้ไม่เกิดทันที กระตุ้นไม่ได้ทันที แต่จำเป็นต้องทำ ทำในจังหวะที่เหมาะสม สอดคล้องกับผู้ที่มาใช้” พิชัยกล่าว

 

สำหรับกรณีที่สมาชิกบอกว่า โครงการมีความล่าช้า คิดไปทำไป ขอปฏิเสธว่าไม่ใช่คิดไปทำไป เราคิดตั้งแต่วันแรกแล้วว่าเป็นนโยบายที่ต้องทำ เราคิดเสมอว่าจะต้องปรับปรุง เพื่อหาว่ามีทางไหนบ้างที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และเป็นการจัดสรรงบประมาณในจังหวะเวลาที่เราเลือกแล้ว เพื่อนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่มี 

 

เผ่าภูมิยกเหรียญ 2 ด้านที่ฝ่ายค้านมองต่าง

 

ตามด้วย เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ลุกขึ้นชี้แจง โดยระบุว่า ขอบคุณสมาชิกที่มีข้อเสนอแนะ ข้อจำกัดต่างๆ ทุกความเห็น ทุกมิติ ทุกมุมมองนั้น เหมือนเป็นเหรียญ 2 ด้านที่เราอาจจะมองไม่ตรงกัน และสิ่งที่ไม่ตรงกันนั้น ประกอบด้วย

 

เหรียญชิ้นที่ 1 สิ่งที่ท่านมองว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในภาวะชะลอตัว ในฐานะที่เป็นรัฐบาล เรามีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเปรียบประเทศไทยเหมือนบ้านหลังหนึ่ง ปัจจุบันเราคงเห็นตรงกันว่าบ้านหลังนี้หลังคามีรอยรั่ว วิธีคิดของท่านคือปล่อยให้รอยรั่วนั้นยังคงอยู่ไม่ต้องทำอะไร และน้ำเข้าบ้านต้องวักน้ำทิ้ง

 

“แต่วิธีคิดที่เรานำเสนอ เมื่อบ้านเรามันรั่ว เราอาจจะต้องมีการขาดดุลงบประมาณ จะต้องมีการกู้หนี้ยืมมาเพื่ออุดรอยรั่วนี้ เพื่อทำให้น้ำไม่เข้าบ้าน และใช้เวลาที่ตักน้ำออกจากบ้านเอาไปทำงานอย่างอื่น นั่นคือวิธีคิดที่แตกต่างกัน” เผ่าภูมิกล่าว

 

เหรียญชิ้นที่ 2 ข้อเท็จจริงคือหนี้สาธารณะของประเทศไทยนั้นปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 64% แต่ถ้าหากดูลงลึกไป ประเทศไทยใช้คำนิยามหนี้สาธารณะเข้มข้นกว่ามาตรฐานสากล เข้มข้นกว่ามาตรฐาน IMF นั่นคือเรื่องรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน และเป็นภาระต่อรัฐบาล 

 

ถ้าหากนับตัวเลขหนี้สาธารณะตรงคำนิยามของสากล หนี้สาธารณะของเราจะอยู่เพียงแค่ 58.4% เท่านั้น ถ้าหากมองหนี้สาธารณะที่เป็นภาระต่อรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณไปชดใช้ หนี้สาธารณะของประเทศไทยจะลดเหลือแค่ 54.3% เมื่อเทียบกับต่างชาติ เทียบกับภาวะคลังและมาตรฐานสากล หนี้สาธารณะก้อนนี้ไม่ได้อยู่ในความกังวล อยู่ในระดับต่ำด้วยซ้ำ 

 

เหรียญชิ้นที่ 3 ที่เรายังมองต่างกัน ที่มีการอภิปรายหยิบยกตัวเลขมาว่า เรามีการใช้เงินจำนวน 5 แสนล้านบาท และกลับเป็นผลตอบแทนเพียงแค่ 3.5 แสนล้านบาท และยังมีการยกตัวเลขว่าเราใช้งบประมาณ 3% ของ GDP แต่ได้ผลตอบกลับมา 1% ของ GDP นี่คือความผิดพลาดทางวิชาการ 

 

เผ่าภูมิชี้ว่า 2 ตัวเลขนี้เทียบกันไม่ได้ นอกเหนือจากนั้น ความคุ้มค่าของโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้มองแค่มุมของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ อีกด้านคือโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล คือข้อมูลของประชาชนที่จะเข้ามาอยู่ในระบบ และเราสามารถระบุตัวตนของประชาชนได้ มาตรการภาครัฐต่อจากนี้สามารถช่วยเหลือตรงไปที่ประชาชนได้ ประโยชน์เหล่านี้มหาศาล 

 

เหรียญชิ้นที่ 4 คือมุมมองว่าโครงการนี้เป็นการเอื้อรายใหญ่ที่เงินจะไหลเข้าสู่ร้านค้าขนาดใหญ่ แต่เหรียญด้านที่เรามองแตกต่างกัน คือการกำหนดรัศมีการใช้ให้อยู่ในอำเภอ เพราะไม่อยากให้มีการไหลเข้ากรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ แต่อยากให้วนอยู่ในเมืองรอง แล้ววนอยู่ในชุมชน ไม่อยากให้เงินไหลออกนอกประเทศ แต่ให้มีเงินหมุนอยู่ในหมู่บ้านชุมชน เกิดการจ้างงาน เกิดการผลิต 

 

และเหรียญชิ้นที่ 5 ที่มีมุมมองว่ารัฐบาลไม่มีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ รอแต่ดิจิทัลวอลเล็ต ขอชี้แจงว่ามาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใส่เม็ดเงินลงไปสู่ระบบนั้น เราทำได้ทั้งในมิติของการอัดเม็ดเงินจริง และการอัดเม็ดเงินในลักษณะสินเชื่อ ซึ่งทั้งคู่มีผลทางเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising