×

จุลพันธ์เผย ดิจิทัลวอลเล็ตใช้แอปทางรัฐลงทะเบียน 1 ส.ค. นี้ แต่แอปใช้เงินเป็นอีกตัว อยู่ระหว่างดำเนินการ

17.07.2024
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ถึงความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 

 

ดิจิทัลวอลเล็ตมีเซอร์ไพรส์แน่ 

 

“ให้พูดตอนนี้ก็ไม่เซอร์ไพรส์สิครับ” จุลพันธ์กล่าวเริ่มต้น ก่อนขยายความว่า แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกรอบการลงทะเบียนเพื่อสร้างความชัดเจนในแต่ละกลุ่ม กับกลไกที่จะให้ประชาชนได้สัมผัสในโครงการ ซึ่งวันที่ 24 กรกฎาคมนี้ จะมีความชัดเจนในทุกๆ เรื่อง และมีเซอร์ไพรส์แน่นอน

 

กลุ่มเป้าหมายและข้อจำกัด

 

จุลพันธ์ยืนยันว่า ยังคงเหมือนเดิมคือ คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 840,000 บาท หรือมีเงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาท และเงินฝากทุกบัญชีต้องไม่เกิน 500,000 บาท 

 

แต่เพิ่มข้อจำกัดเกี่ยวกับการคัดกรองกลุ่มคนที่ละเมิดโครงการรัฐในอดีต เช่น โครงการคนละครึ่ง ที่กลุ่มเหล่านี้อาจใช้งานผิดวัตถุประสงค์และมีคดีความอยู่ รวมถึงร้านค้าที่เคยทำผิดในอดีตและเป็นคดีความ ก็อาจถูกกันออกจากการรับเงินเข้ากระเป๋าหรือไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน เพื่อป้องกันการกระทำผิดซ้ำ

 

บทสรุป แอปลงทะเบียน vs. แอปใช้เงิน 

 

แอปพลิเคชัน ‘ทางรัฐ’ เป็นกลไกในการลงทะเบียนและยืนยันตัวตน (Know Your Customer: KYC) แต่จะมีแอปที่ใช้จ่ายเงิน (Settlement) อีกตัวหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลจะประกาศอีกครั้ง

 

หรือหากให้เข้าใจง่ายๆ แอปทางรัฐ ซึ่งจะเปิดให้ลงทะเบียนทั้งร้านค้าและประชาชน วันที่ 1 สิงหาคมนี้ เป็นแอปที่ใช้แค่ลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน โดยมีความสำคัญคือ จะเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่แอปที่ใช้จ่ายเงิน หากไม่ลงทะเบียนยืนยันสิทธิก็ไม่สามารถใช้จ่ายเงินดังกล่าวได้ 

 

ส่วนแอปที่จะใช้จ่ายเงิน ขอให้จับตาจากการแถลงของภาครัฐ ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมพร้อมไว้แล้ว

 

สำหรับการยืนยันตัวตนในแอปทางรัฐ สามารถทำได้ผ่านการสแกนใบหน้าและบัตรประชาชนในแอปทางรัฐ, แอป ThaID, ตู้อเนกประสงค์ภาครัฐ, ตู้บุญเติม, ที่ทำการไปรษณีย์ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-Eleven 

 

ทั้งนี้ กระบวนการในการพัฒนาซูเปอร์แอปไม่ได้จบแค่วันนี้ แต่จะต้องพัฒนาเชื่อมต่อกันอีกหลายส่วน ซึ่งไม่เคยมีแอปไหนที่สามารถดึงประชาชน 50 ล้านคนเข้ามาขึ้นทะเบียนได้

 

“เราไม่เคยมีแอปพลิเคชันกลางที่สามารถดึงฐานข้อมูลจากมิติต่างๆ มารวมกัน ซึ่งจะเป็นรูปแบบการเก็บเงินใหญ่ (Data Lake) ที่สำคัญของรัฐบาลในอนาคต ที่จะสามารถนำเอาฐานข้อมูลตรงนี้มาใช้เพื่อออกนโยบายที่ตรงกลุ่มเป้าหมายได้” จุลพันธ์เผย

 

จุลพันธ์กล่าวอีกว่า ภาครัฐเคยทำโครงการช่วยเหลือประชาชนมากมายในอดีต แถมเติมเงินเข้าระบบหลายครั้ง ซึ่งสุดท้ายก็มีคำถามเกี่ยวกับข้อมูลว่าสามารถยืนยันได้หรือไม่

 

“ซึ่งกลไกในการพัฒนาครั้งนี้ เราได้นำเอาฐานข้อมูลของภาครัฐมารวมกัน เพื่อนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ใช้ ดังนั้นไว้ใจได้ว่าการยืนยันตัวตนในแอปนี้ไม่มีข้อมูลหลุดออกไปแน่นอน” จุลพันธ์กล่าวเพิ่มเติม

 

ทำไมดิจิทัลวอลเล็ตถึงล่าช้า-ทำไมไม่ดำเนินการให้เร็วกว่านี้

 

จุลพันธ์กล่าวด้วยว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้โครงการนี้ล่าช้าคือการเชื่อมต่อฐานข้อมูล เพราะต้องยอมรับว่า ฐานข้อมูลของประเทศไทยค่อนข้างกระจัดกระจายไปอยู่ในหลายภาคส่วน ฉะนั้น การที่จะดึงมารวมกันและกรองข้อมูลให้ใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างใช้เวลา แต่ในอนาคตฐานข้อมูลทุกอย่างจะมารวมกันอยู่ที่เดียว และจะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการพี่น้องประชาชน

 

“เราเตรียมโครงการนี้มานาน แต่ถ้าถามว่าทำไมไม่เร็วกว่านี้ ก็ต้องเข้าใจว่ามันมีเรื่องของการพัฒนาระบบและเรื่องของกลไกและข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงข้อคิดเห็น ข้อท้วงติงจากหน่วยงานต่างๆ เราในฐานะรัฐบาล เรารับฟัง ไม่มีรัฐบาลไหนเดินหน้าโดยไม่ฟังเสียงรอบข้าง เมื่อมีเสียงสะท้อนมาเราก็ปรับเปลี่ยนให้มีความเหมาะสม” จุลพันธ์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม จุลพันธ์ระบุชัดว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่เยียวยา โดยใช้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นดังกล่าว ซึ่งเชื่อว่า GDP หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจะโตไม่ต่ำกว่า 1.8% อย่างแน่นอน  

 

ให้เปลี่ยนเงื่อนไขอีก 3 ครั้งก็จะเปลี่ยน

 

“การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งเป็นไปเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ นั่นคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

“ผมเองในฐานะคณะกรรมการกำกับดิจิทัลวอลเล็ต ให้เปลี่ยน (เงื่อนไข) อีก 3 ครั้งผมก็เปลี่ยน และผมยืนยันว่า สิ้นปีนี้เงินถึงมือประชาชนแน่นอน” จุลพันธ์กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X