×

Saab vs. Lockheed Martin สองค่ายดันข้อเสนอ Offset ก่อน ทอ. เคาะ Gripen หรือ F-16

16.07.2024
  • LOADING...

การพิจารณางบประมาณของกระทรวงกลาโหมในวาระที่ 2 มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทกำลังดำเนินอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ สิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจก็น่าจะเป็นโครงการจัดหาอาวุธ ซึ่งปีนี้มีไฮไลต์คือโครงการจัดหาเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบ F-16 ของกองทัพอากาศในระยะที่ 1 จำนวน 4 ลำ มูลค่า 1.95 หมื่นล้านบาท เพื่อทดแทนเครื่องบินขับไล่ในฝูงบิน 102 และ 103 กองบิน 1 นครราชสีมา ซึ่งมีอายุใช้งานเกือบ 40 ปี และกำลังต้องปลดประจำการในเร็ววันนี้

 

นอกจากงบประมาณที่ต้องใช้เป็นจำนวนมากแล้ว สิ่งที่ทำให้หลายคนสนใจคงหนีไม่พ้นการที่โครงการนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่สหรัฐอเมริกาปฏิเสธการขาย F-35 ให้กับกองทัพอากาศไทยด้วยความไม่พร้อมหลายประการของประเทศไทย และเสนอให้กองทัพอากาศไทยจัดหา F-16 Block 72 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่กว่า F-16 Block 15 ที่กองทัพอากาศมีประจำการ ซึ่งกองทัพอากาศไทยมี F-16 ใช้งาน 3 ฝูงที่ฝูงบิน 102, 103 และ 403 จำนวนสูงสุดรวมกว่า 50 ลำ

 

แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อราวสิบกว่าปีก่อน กองทัพอากาศไทยตัดสินใจจัดหา Gripen C/D จากประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นเครื่องบินขับไล่ชั้นแนวหน้าสัญชาติยุโรปแบบแรกนับตั้งแต่ Spitfire ที่จัดหาจากสหราชอาณาจักรในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และถือเป็น Gripen ฝูงเดียวในเอเชียที่มาพร้อมเครื่องบินแจ้งเตือนล่วงหน้าแบบ Saab 340 AEW ที่ทำให้ไทยเป็น 1 ใน 2 ชาติในอาเซียนที่มีเครื่องบินประเภทนี้เข้าประจำการ การเสนอให้ไทยจัดหา Gripen E/F รุ่นใหม่จึงเป็นการสร้างความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน

 

โครงการแรกที่ซื้ออาวุธแล้วได้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศด้วย

 

ดังนั้นเมื่อกองทัพอากาศต้องปลดประจำการเครื่องบินฝูงเดิมออกไป การแข่งขันจึงเข้มข้น เพราะจะเป็นการชี้วัดว่ากองทัพอากาศจะยังไว้ใจเครื่องบินจากสวีเดนอย่าง Gripen E/F ให้เป็นเครื่องบินรบที่ดีที่สุดของกองทัพอากาศไทยต่อไป หรือจะกลับไปหาเครื่องบินรบจากสหรัฐอเมริกาอย่าง F-16 Block 72 ให้กลับมาเป็นเครื่องบินที่ดีที่สุดอีกครั้ง

 

แต่ไม่ใช่ประสิทธิภาพของเครื่องบินที่เป็นตัวตัดสินเท่านั้น ในครั้งนี้กองทัพอากาศกำหนดให้การชดเชยงบประมาณหรือ Offset จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยตัดสิน ซึ่ง Offset คือเครื่องมือที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อชดเชยงบประมาณที่เสียไปในการจัดหาอาวุธ โดยกำหนดให้ประเทศผู้ขายต้องทำการลงทุนในประเทศผู้ซื้อ จัดหาสินค้าจากประเทศผู้ซื้อ หรือร่วมมือกับภาคเอกชนของประเทศผู้ซื้อเพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเกิดตัวคูณหรือ Multiplier ที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถคำนวณมาเป็นมูลค่าการชดเชยหรือ Offset Value ได้

 

วิธีนี้นอกจากจะเป็นการลดผลกระทบของการสูญเสียงบประมาณจำนวนมากไปกับการจัดหาอาวุธ เพราะเมื่อเศรษฐกิจเติบโตจาก Offset รัฐก็จะมีรายได้กลับคืนมาในรูปของภาษี เป็นการช่วยให้ประเทศผู้ซื้อสามารถดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเข้ามาได้ 

 

การที่กองทัพอากาศเลือกกำหนดให้ผู้ผลิตเสนอ Offset ซึ่งเป็นแพ็กเกจการตอบแทนทางเศรษฐกิจจึงเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดกว่า เพราะภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน การใช้เงินงบประมาณจำนวนมากในการซื้ออาวุธดูจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่ฉลาดนัก แต่ถ้าใช้เงินซื้ออาวุธแล้วสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ด้วย ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์พร้อมกัน

 

ซึ่งนโยบายนี้ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ก็ร่วมขับเคลื่อนด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้เข้าพบพูดคุยกับทั้งเอกอัครราชทูตและบริษัทผู้ผลิตจากทั้งสหรัฐอเมริกาและสวีเดนหลายครั้งเพื่อพูดคุยถึง Offset ที่ประเทศไทยจะต้องได้รับ โดยล่าสุดเศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์ในวันนี้ว่ายังไม่สรุปว่าจะเลือกแบบเครื่องบินใดให้เป็นผู้ชนะ เพราะไม่ได้ตัดสินกันแค่คะแนนประเมิน แต่ต้องดูข้อเสนอ Offset ด้วย และย้ำว่าทั้งสองบริษัทผู้ผลิตต้องเต็มที่ เพราะโครงการนี้ใช้งบประมาณจำนวนมาก ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนให้มากที่สุด 

 

สส. ชยพล สท้อนดี จากพรรคก้าวไกล โฆษกกรรมาธิการการทหาร และประธานอนุกรรมาธิการศึกษาและแก้ไขกฎหมายอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กล่าวว่า ทางกรรมาธิการได้พบปะพูดคุยกับทั้งสองประเทศ ทั้งในส่วนของระดับเอกอัครราชทูตและทางบริษัทผู้ผลิต และได้ให้ความคิดเห็นและข้อคิดเห็นกับทั้งสองฝ่ายว่า ความต้องการของประเทศไทยเป็นอย่างไร และสิ่งที่บริษัทผู้ผลิตจะทำให้ประเทศไทยเพื่อสร้างความมั่นคงทั้งทางทหารและเศรษฐกิจ และเปิดประตูสู่ความร่วมมือทางด้านอื่นๆ ว่าต่อไปจะต้องมีอะไรบ้าง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี และส่งผลให้ทั้งสองฝ่ายพยายามแข่งขันกันปรับปรุงและพัฒนาข้อเสนอจนมีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะผลประโยชน์ที่จะเกิดกับเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนโดยตรง เช่น การสร้างงาน การสร้างอุตสาหกรรม และทุนการศึกษา ซึ่งกรรมาธิการการทหารกำลังดำเนินการร่างกฎหมายเพื่อให้ประเทศไทยมี Offset อย่างยั่งยืนต่อไป

 

เปรียบเทียบข้อเสนอสหรัฐฯ vs. สวีเดน

 

ในระดับรัฐบาล สหรัฐฯ และสวีเดนมีนโยบายที่แตกต่างกันคนละด้านในแง่ของ Offset 

 

กล่าวคือรัฐบาลสหรัฐฯ ไม่สนับสนุนอย่างเป็นทางการในการให้ Offset กับประเทศผู้ซื้อ และมีกฎระเบียบจำนวนมากที่ในหลายครั้งก็ขัดขวางการที่ผู้ซื้อจะเรียกร้อง Offset แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงของตลาดการค้ายุทโธปกรณ์ในปัจจุบัน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็เข้าใจความเป็นไปมากพอที่จะไม่ขัดขวางถ้าผู้ผลิตจะแสวงหา Offset ให้กับลูกค้า แต่ก็ต้องดำเนินการเอง

 

กลับกันรัฐบาลสวีเดนสนับสนุน Offset อย่างเต็มที่ โดยชูการได้รับ Offset เป็นจุดขายสำคัญสำหรับชาติลูกค้าที่ถ้าจัดซื้ออาวุธจากสวีเดนจะมีแพ็กเกจ Offset รัฐบาลพร้อมอุตสาหกรรมในประเทศที่มาลงทุนในประเทศลูกค้า

 

ข้อเสนอของ Lockheed Martin จากสหรัฐฯ ผู้ผลิต F-16 Block 72 ประกอบไปด้วยการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในด้านต่างๆ ขึ้นในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงด้านการผลิตและการเกษตร การฝึกอบรมด้านวิศวกรรมอากาศยานกับบริษัทด้านการบินในประเทศไทยและกองทัพอากาศไทย การพัฒนาทักษะแรงงานในภาคการผลิต การสนับสนุนทางเทคนิคต่อประเทศไทยในการปรับปรุงระบบ Datalink ของกองทัพอากาศไทย การเปิดโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของบริษัท ซึ่งหมายถึงการซื้อชิ้นส่วนที่ผลิตโดยบริษัทในประเทศไทย และการพัฒนาขีดความสามารถในการซ่อมบำรุงในประเทศ

 

ข้อเสนอของ Saab จากประเทศสวีเดน ผู้ผลิต Gripen E/F ประกอบไปด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมในประเทศไทย การลงทุนด้านอาหารและเกษตรกรรม การลงทุนด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและพลังงาน การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน Datalink และเรดาร์ Erieye ที่ติดตั้งบน Saab 340 โดย Saab คาดหวังที่จะส่งมอบมูลค่าการชดเชยหรือ Offset Value ให้กับไทยได้ 130% ของมูลค่าสัญญา นั่นหมายถึงในเฟสแรกที่มีสัญญามูลค่า 1.95 หมื่นล้านบาท Saab และพันธมิตรมั่นใจว่าจะสร้างเงินหมุนเวียนในเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยให้ได้อย่างน้อย 2.53 หมื่นล้านบาท

 

ถือว่าทั้งสองข้อเสนอเป็นข้อเสนอที่ได้ประโยชน์กับประเทศไทยทั้งคู่ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าถ้าไทยออกแบบโครงการและเจรจาให้ดี งบซื้ออาวุธก็จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับไทยได้ ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งกองทัพที่ได้เสริมสร้างแสนยานุภาพ รัฐบาลที่ได้เงินภาษีกลับคืนมา และสุดท้ายคือประชาชนและประเทศที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากทั้งโอกาสการจ้างงานจากการลงทุนใหม่ๆ หรือโอกาสในการขายสินค้าจากการเข้าเป็นไปส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานระดับโลก

 

อีกไม่นานเราก็จะทราบผู้ชนะกันแล้ว

 

ภาพ: Saab, Lockheed Martin

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising