×

ข้อมูลใหม่พบว่า ดาว LHS 1140 b อาจเป็นดาวเคราะห์ที่มีโอกาสดีที่สุดในการพบมหาสมุทร

15.07.2024
  • LOADING...

นักดาราศาสตร์ใช้กล้องเจมส์ เว็บบ์ สำรวจดาว LHS 1140 b ยืนยันว่าเป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกในเขตเอื้อให้ชีวิตดำรงอยู่ หรือ Habitable Zone ที่อาจนำไปสู่การค้นพบมหาสมุทรบนดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกจากโลกเป็นครั้งแรก

 

Charles Cadieux หัวหน้าคณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล ระบุว่า “จากดาวเคราะห์ในเขตเอื้อให้ชีวิตดำรงอยู่ทุกดวงที่เรารู้จัก LHS 1140 b อาจเป็นตัวเลือกดีที่สุดที่จะได้รับการยืนยันการค้นพบมหาสมุทรบนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะเป็นดวงแรก”

 

ในปัจจุบันนักดาราศาสตร์สามารถยืนยันการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ หรือดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ดวงอื่นนอกจากดวงอาทิตย์ได้ 5,678 ดวง โดยเป็นดาวเคราะห์ประเภท Super-Earth (มีขนาดใหญ่กว่าโลก) 1,711 ดวง และดาวเคราะห์หิน (ขนาดใกล้เคียง/เล็กกว่าโลก) 203 ดวง แต่ยังไม่พบหลักฐานของมหาสมุทร หรือเจอน้ำในรูปของเหลวบนดาวเคราะห์นอกระบบดวงใด

 

สำหรับดาว LHS 1140 b อยู่ในเขต Habitable Zone ที่อาจมีสภาพเหมาะสมให้ชีวิตดำรงอยู่ได้เหมือนโลก ในวงโคจรรอบดาวฤกษ์ประเภทดาวแคระแดง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 5 เท่า และอยู่ห่างจากโลกไปราว 48 ปีแสง ในทิศของกลุ่มดาว Cetus

 

จากการค้นพบแรกเริ่มในปี 2017 นักดาราศาสตร์ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าดาวดวงนี้เป็นดาวเคราะห์หินประเภท Super-Earth หรือดาวเคราะห์ก๊าซแบบ Mini-Neptune ซึ่งข้อมูลสเปกตรัมล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ พบว่า LHS 1140 b มีความหนาแน่นน้อยกว่าที่ควรจะเป็น บ่งชี้ว่ามวล 10-20% ของดาวอาจประกอบด้วยน้ำ

 

นอกจากนี้ ข้อมูลเบื้องต้นยังพบว่าดาวเคราะห์ LHS 1140 b อาจมีบรรยากาศที่อุดมไปด้วยก๊าซไนโตรเจน คล้ายคลึงกับบรรยากาศของโลก โดย Ryan MacDonald นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า “นี่คือครั้งแรกที่เราพบหลักฐานของบรรยากาศบนดาวเคราะห์คล้ายโลกในเขตเอื้อให้ชีวิตดำรงอยู่ และเราอาจพบหลักฐานของ ‘อากาศ’ บนดาวเคราะห์ LHS 1140 b ด้วย”

 

ด้วยข้อมูลชุดใหม่ ทำให้นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่า LHS 1140 b อาจมีลักษณะเป็นไปได้ 2 แบบ นั่นคือ เป็นดาวเคราะห์ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งทั้งดวง คล้ายกับดวงจันทร์ยูโรปาของดาวพฤหัสบดี และหากมีบรรยากาศที่หนาแน่นคล้ายกับโลก ดาวดวงนี้จะมีมหาสมุทรขนาดใหญ่ กินพื้นที่กว้าง 4,000 กิโลเมตร ที่เป็นเหมือน ‘ดวงตา’ ในฝั่งที่หันเข้าหาดาวฤกษ์ และอาจมีอุณหภูมิของมหาสมุทรที่ 20 องศาเซลเซียส

 

การค้นพบดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจสำหรับภารกิจตามหาชีวิตบนดาวดวงอื่น อย่างไรก็ตาม นักดาราศาสตร์ระบุว่า พวกเขายังต้องรอการสำรวจเพิ่มเติมจากกล้องเจมส์ เว็บบ์ เพื่อช่วยยืนยันการมีอยู่ของบรรยากาศบนดาวเคราะห์ดวงนี้ รวมถึงพยายามตรวจหาร่องรอยของก๊าซอื่นๆ บนดาว LHS 1140 b

 

แต่ถึงกระนั้นข้อมูลครั้งนี้ก็ถือเป็น ‘จุดเริ่มต้นที่น่าสนใจ’ จากความเห็นของ MacDonald ผู้มีส่วนในการวิเคราะห์องค์ประกอบบรรยากาศดาวเคราะห์ดวงนี้

 

ภาพ: B. Gougeon / Université de Montréal

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X