×

แดนสาป (The Cursed Land) ภาพยนตร์สยองขวัญว่าด้วยคนต่างถิ่น ประวัติศาสตร์ และการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่าง

12.07.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MIN READ
  • ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่อง แดนสาป (The Cursed Land) จะดูมีเลเยอร์ที่กว้าง แต่ฉากหน้าของมันก็ยังเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ ซึ่งแง่หนึ่งนอกจากจะช่วยเคลือบเนื้อหาให้เข้าถึงง่ายแล้ว การเลือกธีมนี้ก็ดูจะเป็นสิ่งที่เข้ากันได้ดีกับประเด็นที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อ
  • ‘ญิน’ ที่เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของภาพยนตร์ ก็ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีชั้นเชิง มันไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แค่การเป็นผีในรูปแบบของความเชื่อที่ต่างกันทางศาสนา แต่ยังยึดโยงไปถึงประวัติศาสตร์ของประเทศสยามและปาตานี
  • แต่ความลึกจริงๆ ของมันไม่ใช่การคลี่คลายปัญหา หากแต่เป็นการย้อนกลับไปสำรวจต้นตอที่เผยให้เห็นถึงความขมขื่นของชาวมุสลิมในเหตุการณ์ต่างๆ ราวกับเป็นภาพความขัดแย้งที่ซ้อนทับกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

 

 

ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ศาสนา หรือชาติพันธุ์ ล้วนแล้วแต่มีรากเหง้ามาจากสาเหตุหนึ่งที่คล้ายคลึงกันนั่นคือ ความไม่เข้าใจซึ่งกันและกัน และความไม่เข้าใจที่ว่าก็ไม่ได้ส่งผลแค่การตัดสินใจเท่านั้น แต่ยังยึดโยงไปถึงภาพจำหรือทัศนคติที่มีต่อคนกลุ่มนั้น

 

เช่นเดียวกับตัวละครในภาพยนตร์เรื่อง แดนสาป (The Cursed Land) อย่าง มิตร (อนันดา เอเวอริงแฮม) และ เมย์ (เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) สองพ่อลูกที่ต้องมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่หนองจอก ซึ่งเป็นสถานที่ที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘ดงแขก’ ทำให้ชีวิตและวัฒนธรรมที่เคยอยู่รอบตัวของพวกเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือแทบจะทันที ทั้งเสียงอาซานที่ดังกึกก้องออกมาจากลำโพงเพื่อเรียกละหมาด 5 เวลา การพะว้าพะวังเรื่องสุนัข และการนั่งล้อมวงกินข้าวด้วยมือ ทั้งหมดทั้งมวลอยู่นอกเหนือจิตสำนึกของการเป็นคนพุทธแทบทั้งสิ้น

 

สำหรับพวกเขา การเข้ามาอยู่ในชุมชนแห่งนี้จึงไม่ต่างอะไรกับการเป็นคนนอก และมันถูกเล่าออกมาผ่านการตั้งคำถามที่เต็มไปด้วยความงุนงงของตัวละคร แต่ในขณะเดียวกันภาพยนตร์ก็นำเสนอให้เห็นว่า การเป็นคนมุสลิมก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่รู้สึกแปลกแยกเสียทีเดียว เพราะหากตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาเปลี่ยนจากชุมชนไปเป็นสถานที่ที่ศาสนาอิสลามไม่ได้ครอบครองพื้นที่ทางวัฒนธรรม ความรู้สึกของพวกเขาก็คงไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่มิตรและเมย์กำลังเป็น

 

 

สภาพแวดล้อมของตัวละครจึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ภาพที่คู่ขนานกันของคนต่างศาสนา แต่เป็นการเชื้อเชิญให้เข้าไปสำรวจการอยู่ร่วมกันภายใต้ความเชื่อที่แตกต่างกัน และแน่นอนว่านั่นไม่ใช่เรื่องง่าย บรรยากาศของภาพยนตร์ในช่วงครึ่งแรกจึงเต็มไปด้วยความกระอักกระอ่วนชวนอึดอัด ทั้งจากตัวของคนที่มิตรตั้งกำแพงและบ้านที่มักจะปล่อยกลิ่นอายวังเวงอยู่ตลอดเวลา

 

แต่ถึงอย่างนั้นเมย์ ผู้เป็นลูกสาว กลับเป็นตัวละครที่อยู่ตรงข้ามกับพ่ออย่างชัดเจน เด็กสาวไม่ได้มีท่าทีรังเกียจคนที่มีความเชื่อต่างจากเธอและพร้อมที่จะเรียนรู้มัน นัยหนึ่งบทบาทที่ภาพยนตร์หยิบยื่นให้กับเมย์เลยไม่ต่างอะไรกับการเป็นคนกลางที่ต้องคอยประสานรอยร้าวระหว่างพ่อของเธอกับคนในชุมชน และเมื่อมองในแง่นี้ การเป็นตัวแทนของเมย์ก็เหมือนกับการเข้าไปดูแนวคิดที่แตกต่างกันของคนสองศาสนา ที่สุดท้ายแล้วอาจลงเอยได้ทั้งการเข้าใจและไม่เข้ากันเลยก็ตาม

 

 

ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่อง แดนสาป (The Cursed Land) ผลงานการกำกับของ ต้อย-ภาณุ อารี จะดูมีเลเยอร์ที่กว้าง แต่ฉากหน้าของมันก็ยังเป็นภาพยนตร์สยองขวัญ ซึ่งแง่หนึ่งนอกจากจะช่วยเคลือบเนื้อหาให้เข้าถึงง่ายแล้ว การเลือกธีมนี้ก็ดูจะเป็นสิ่งที่เข้ากันได้ดีกับประเด็นที่ภาพยนตร์ต้องการจะสื่อ เมื่อปัญหาที่สองพ่อลูกจะต้องรับมือไม่ได้มีแค่ความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่ยังมีสิ่งเร้นลับต่างศาสนาที่อยู่ไกลจากภาพมโนทัศน์ของพวกเขา 

 

และการมาถึงของอีกหนึ่งตัวละครอย่าง บังฮีม (บรอนต์ ปาลาเร่) ก็ยิ่งสร้างความไม่น่าไว้วางใจมากขึ้น แม้ช่วงแรกบทบาทของเขาจะไม่ได้มีมากมายในเชิงคำพูด แต่สิ่งหนึ่งที่เด่นชัดออกมาผ่านการแสดงของบรอนต์คือ ทุกครั้งที่เขาปรากฏตัว มันมักจะลากคนดูและตัวละครให้รู้สึกถูกคุกคามตามไปด้วย หรืออาจพูดได้ว่า ถึงจะยังไม่เห็นผีที่เรียกว่า ‘ญิน’ ตามหลักความเชื่อของคนมุสลิม แต่การมีอยู่ของบังฮีมก็สามารถสร้างความหวาดหวั่นพรั่นพรึงได้ไม่น้อยจากอากัปกิริยาที่แปลกประหลาดของเขา 

 

 

ว่าไปแล้ว ‘ญิน’ ที่เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของภาพยนตร์ ก็ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างมีชั้นเชิง มันไม่ได้จำกัดกรอบอยู่แค่การเป็นผีในรูปแบบของความเชื่อที่ต่างกันทางศาสนา แต่ยังยึดโยงไปถึงประวัติศาสตร์ของประเทศสยามและปาตานี ที่ในทางหนึ่งชะตากรรมของผู้คนในยุคนั้นต่างก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวดมากมาย และบาดแผลเหล่านี้เองก็ถูกถ่ายทอดออกมาด้วยความทะเยอทะยานของคนทำที่เข้าใจว่าตัวเองกำลังเล่าเรื่องอะไรอยู่ ไม่มากไม่น้อย มันเลยสามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่า นี่เป็นภาพยนตร์ที่กล้าหาญในการนำเสนอจริงๆ 

 

แกนหลักที่ผู้กำกับและคนเขียนบทอยากจะทำจึงถูกสอดแทรกเข้ามาในเนื้อหา เหมือนเป็นภาพสะท้อนของอดีตอันเลือนรางที่ยังคงฝังแน่นอยู่ตามพื้นดิน และมันถูกบอกเล่าออกมาพร้อมๆ กับอาการที่ดูหนักข้อขึ้นทุกวันของมิตร ผู้ที่ทั้งถูกรุมเร้าด้วยญินและความรู้สึกผิดบาปของตัวเอง

 

 

ด้วยเหตุนี้ เงื่อนไขที่ภาพยนตร์ใช้ในการขมวดปมของตัวละครเลยไม่ได้ดูต่างไปจากภาพยนตร์ในแนวเดียวกัน แต่ความลึกจริงๆ ของมันไม่ใช่การคลี่คลายปัญหา หากแต่เป็นการย้อนกลับไปสำรวจต้นตอที่เผยให้เห็นถึงความขมขื่นของชาวมุสลิมในเหตุการณ์ต่างๆ ราวกับเป็นภาพความขัดแย้งที่ซ้อนทับกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 

 

ตรงส่วนนี้ยิ่งทำให้ภาพยนตร์ขยับจากการตีความผีในอีกฝั่งของศาสนา มาเป็นการสำรวจความเปราะบางของมนุษย์ในแง่ของอารมณ์และความทรงจำ และปัจจัยที่รองรับทางลงนี้ได้อย่างพอดิบพอดีก็คือ ‘บ้าน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาพยนตร์ให้ความสำคัญอย่างมากในช่วงท้ายของเรื่อง เพราะ

 

การกลับบ้านอาจไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องของคนเป็น แต่รวมไปถึงคนที่ถูกพลัดพรากจากบ้านเกิดด้วย

 

นอกจากเนื้อหาที่มีความลุ่มลึกแล้ว องค์ประกอบอีกอย่างหนึ่งที่โดดเด่นของภาพยนตร์ก็คือเสียงและดนตรีที่ซึมลึกอยู่ในทุกอณูของงาน ที่ถึงแม้จะดูเรียบง่าย แต่มันกลับแฝงไปด้วยความสยดสยองภายใต้กลิ่นอายของความเป็นพื้นบ้าน และที่สำคัญคือ สิ่งที่น่ากลัวที่สุดในภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ใช่การที่คนดูเห็นหรือไม่เห็นญิน แต่เป็นเสียงเท้าที่เดินดังกึกก้องอยู่ในบ้าน ฉะนั้นเสียงจึงกลายเป็นสิ่งที่เกื้อหนุนจินตนาการของคนดูอย่างมาก ไม่แพ้กับงานภาพและการจัดแสงภายในฉาก

 

แต่สำหรับเงาที่เป็นองค์ประกอบในการสร้างความอกสั่นขวัญแขวนกลับเป็นสิ่งที่ดูจะช่วยและทำร้ายภาพรวมของภาพยนตร์ในเวลาเดียวกัน ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะคนดูสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนว่านั่นคือ CG ไม่ใช่เงาที่เกิดจากการถ่ายทำจริง และเมื่อเป็นแบบนั้นความหลอนของมันจึงถูกลดหลั่นตามไปด้วย

 

 

ในส่วนของนักแสดงเอง การได้ อนันดา เอเวอริงแฮม มารับบทนำ ก็ยังคงเป็นคนที่เชื่อมั่นในฝีไม้ลายมือได้เสมอ โดยเฉพาะเมื่อมิตรเป็นเหมือนแก้วที่พร้อมจะแตกอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ ตอนที่ภาพยนตร์เฉลยความผิดบาปของเขา มันกลับไม่ได้ทรงพลังอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งสวนทางกับการแสดงของอนันดาที่ทำราวกับว่าความทุกข์นั้นหนักหนาพอที่จะกัดกินชีวิตของตัวละคร 

 

ส่วนเมย์ที่นำแสดงโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ แม้บทบาทจะถูกวางเอาไว้ในฐานะลูก แต่ความห่างเหินระหว่างพ่อกับเธอก็ทำให้ช่องว่างความสัมพันธ์ของพวกเขาดูเว้าแหว่งในหลายๆ มิติ และนั่นก็ส่งผลให้ภาพรวมของทั้งสองคนเป็นเหมือนตัวแทนของคนต่างศาสนามากกว่าที่จะเป็นพ่อลูก 

 

และคนที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ บรอนต์ ปาลาเร่ ลูกครึ่งไทย-มาเลเซียที่พลังด้านการแสดงของเขามีเสน่ห์อย่างเหลือล้น ที่สำคัญคาแรกเตอร์ของบังฮีมก็ดูจะเข้ากันได้ดีกับบรอนต์ราวกับถูกเขียนออกมาเพื่อเขาจริงๆ (ซึ่งก็เป็นแบบนั้น) ทั้งการแสดงสีหน้าที่นิ่งเรียบ ไปจนถึงการพูดเรื่องต่างๆ ด้วยท่าทีแบบกึ่งเล่นกึ่งจริง ก็ยิ่งทำให้ตัวละครของบรอนต์เป็นที่ชื่นชอบของคนดูอย่างรวดเร็ว และถ้าถามว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้ใครจะเป็นคนที่ถูกจดจำมากที่สุด เชื่อได้ว่าหนึ่งในนั้นจะต้องมีชื่อของ บรอนต์ ปาลาเร่ อย่างไม่ต้องสงสัย

 

 

แต่อีกคนที่ทาบรัศมีความเจิดจรัสมาติดๆ ก็คือ สีดา พัวพิมล นักแสดงรุ่นใหญ่ที่ครั้งนี้ได้แปลงโฉมตัวเองกลายเป็น ไซหนับ หมอผีที่ในภาพยนตร์นอกจากจะเป็นกุญแจสำคัญในการอธิบายเรื่องราวทั้งหมดแล้ว เธอยังต้องพูดภาษามลายูติดต่อกันหลายประโยคด้วย และถึงแม้บทบาทของไซหนับจะไม่ได้เยอะเหมือนกับคนอื่นๆ แต่การได้เห็นสีดาเปลี่ยนสำเนียงการพูดของตัวเองในหลากหลายรูปแบบ ก็ทำให้เห็นถึงความเป็นมืออาชีพที่มากไปด้วยประสบการณ์ของเธอจริงๆ 

 

ว่าไปแล้วอีกสองคนที่ขาดไม่ได้เลยก็คือนักแสดงสมทบชาวมาเลเซียอย่าง ฟรีเดาส์ คารีม และ ฮาน ซาลีนี ที่เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเรื่องราวช่วงย้อนอดีต เพราะหากไม่มีการแสดงของพวกเขาหรือเป็นคนอื่น อารมณ์ที่ภาพยนตร์ส่งต่อมาถึงคนดูจะไม่สามารถสำแดงพลังได้เท่าที่มันเป็นอยู่เลย และสิ่งนั้นก็คือการถ่ายทอดความเจ็บช้ำของตัวละครออกมาได้อย่างน่าสงสารจับใจ โดยที่กำแพงภาษาไม่อาจขวางกั้นความแหลกสลายระหว่างพวกเขากับคนดูได้

 

 

ในภาพรวมถึงจะมีจุดที่ติดขัดอยู่บ้าง แต่ภาพยนตร์เรื่อง แดนสาป (The Cursed Land) ก็ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามันไม่ใช่แค่ภาพยนตร์สยองขวัญทั่วไปเหมือนตามท้องตลาด แต่เป็นภาพยนตร์ที่แฝงไปด้วยพื้นหลังทางการเมือง ประวัติศาสตร์ และแนวคิดเชิงปรัชญา ของการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างของศาสนา ที่ในทางหนึ่งนอกจากจะพาคนดูไปสำรวจความเชื่อของชาวมุสลิมแล้ว มันยังเป็นบันทึกที่เผยให้เห็นถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับพวกเขาด้วย 

 

พอมองในมุมนี้แล้ว ความหมายของภาพยนตร์เรื่องนี้อาจเป็นได้หลายสิ่งอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เป็นแน่ๆ คือ การดูหมิ่นศาสนาอิสลาม

 

แดนสาป (The Cursed Land) เข้าฉายแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่าง แดนสาป (The Cursed Land) ได้ที่: https://youtu.be/sm7Pt_DyRB8

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising