การผลักดันการลงทุนในศูนย์ข้อมูล หรือ Data Center กลายเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน สะท้อนจากความพยายามดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในไทย พร้อมกับให้เงินสนับสนุนการลงทุนบางส่วน
เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service เพื่อรองรับการขยายตัวของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และบริการด้านดิจิทัลต่างๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค เนื่องจากมีข้อได้เปรียบอย่างน้อย 5 ด้าน คือ
- ทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน
- มีความมั่นคงและปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ
- โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียรและศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาด รวมทั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ต
- ตลาดในประเทศขยายตัวสูง โดยเฉพาะองค์กรต่างๆ ที่กำลังปรับตัวไปสู่ยุคดิจิทัล
- สิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากบีโอไอ
อย่างไรก็ตาม ไทยไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่พยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากบริษัทระดับโลกเหล่านี้ ในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่าสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นสองประเทศที่มีการลงทุนเรื่องของ Data Centerเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่เวียดนามก็พยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ แข่งกับไทยเช่นกัน
สรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย เชื่อว่า การลงทุนใน Data Centerจะเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ที่ช่วยผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบัน Data Centerในไทยยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น
“ปัจจุบันไทยมี Data Centerประมาณ 36 แห่ง และในจำนวนนี้มี Data Centerซึ่งอยู่ในระดับบน คือ Tier 3 และ Tier 4 ไม่ถึงครึ่ง ทำให้เรายังมีโอกาสที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนเพิ่มเติมได้”
อย่างในสิงคโปร์และมาเลเซียที่มีการลงทุนใน Data Centerนำหน้าไปก่อน ต่างได้รับอานิสงส์จากการลงทุนเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น มาเลเซีย จะเห็นว่าตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นกว่า 10% ส่วนสำคัญเป็นเพราะหุ้นที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม Data Center
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า เม็ดเงินลงทุนใน Data Centerในไทยระหว่างปี 2567-2570 จะเพิ่มขึ้นจากราว 1.4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 5 หมื่นล้านบาท เป็น 7.8 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.85 แสนล้านบาท คิดเป็น 1.1% ของ GDP และจะช่วยให้ตลาดของ Data Centerในไทยจะเติบโต 31% ต่อปี เทียบกับภูมิภาคที่เติบโตเฉลี่ย 14% ต่อปี
“แต่สิ่งที่เราต้องเร่งพัฒนาคือทักษะของคน ที่ผ่านมาเราใช้พนักงานจากต่างชาติเป็นหลัก โดยเฉพาะวิศวกร และอีกส่วนที่สำคัญคือ การจัดหาพลังงานสะอาดเพื่อตอบสนองความต้องการของบริษัทที่ต้องการลงทุน”
หากเปรียบเทียบในแง่ของขนาดของ Data Centerปัจจุบันไทยเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ณ ปี 2566Data Center ของสิงคโปร์อยู่ที่ราว 143 เมกะวัตต์ต่อประชากรล้านคน มาเลเซียอยู่ที่ 4.9 เมกะวัตต์ ส่วนไทยอยู่ที่ราว 1.1 เมกะวัตต์ ส่วนเวียดนามอยู่ที่ 0.3 เมกะวัตต์ต่อประชากรล้านคน
ปัจจุบันมีโครงการ Data Centerและ Cloud Service ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอรวม 37 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 98,539 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง
โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Centerในประเทศไทยแล้วหลายราย เช่น Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุน Data Centerในไทยกว่า 2 แสนล้านบาทภายในปี 2580 โดยในเฟสแรกได้ลงทุนสร้าง Data Centerแล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีโครงการ NEXTDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท, STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท, Evolution Data Centres จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท, SUPERNAP (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท, Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท, One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท รวมทั้ง Google และ Microsoft ผู้ให้บริการระดับโลก ประกาศแผนลงทุน Data Centerในประเทศไทยแล้ว โดยอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดร่วมกับบีโอไอและทีมงานของนายกรัฐมนตรี