นักลงทุนที่ติดตามตลาดการเงินคงเห็นเหมือนกันว่ามุมมองที่เปลี่ยนแปลงระดับรถไฟเหาะปีนี้ คือแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed)
ตลาดเข้าสู่ช่วงต้นปีด้วยมุมมองว่า Fed จะลดดอกเบี้ย 7-8 ครั้ง (1.75-2.00%) ตามทิศทางเงินเฟ้อ ผมเองก็คาดไว้ปีที่แล้วว่าอาจเห็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมิถุนายน
แต่ผ่านมาถึงปัจจุบัน การลดดอกเบี้ยครั้งแรกยังไม่เกิดขึ้น ขณะที่มุมมองของตลาดเปลี่ยนไปมองว่า Fed อาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้ง แม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง แต่ตลาดหุ้นกลับทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง นอกจากนั้นก็มีการเลือกตั้งรออยู่
Fed จะลดดอกเบี้ยปีนี้หรือไม่ อะไรคือตัวแปรหลัก และตลาดจะตอบรับอย่างไร เป็นโจทย์ใหญ่ที่นักลงทุนต้องเตรียมกลยุทธ์รับมือให้พร้อม
สาเหตุที่สามารถกดดันให้ Fed ลดดอกเบี้ยได้มากที่สุดคือเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ควรลดเมื่อไร อาจไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีเกินคาดเป็นเหตุผลสำคัญที่หนุนให้ Fed คงดอกเบี้ยติดต่อกันมาถึง 7 ครั้ง
แต่หลังจากผ่านการรายงานภาวะตลาดแรงงานเดือนมิถุนายน ตลาดกลับมามีความหวังเรื่องการลดดอกเบี้ย เพราะการว่างงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องขึ้นมาเหนือระดับเป้าหมายของ Fed ปีนี้ที่ 4.0%
แม้เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงจริง แต่ผมมองว่าสหรัฐฯ มาจากจุดที่การจ้างงานสูงเกินไปจึงต้องมีการปรับสมดุล ไม่ใช่เป็นสัญญาณของเศรษฐกิจถดถอย ค่าจ้างที่เติบโต 3.9% จากปีก่อนยืนยันภาพตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งนี้ได้
อย่างไรก็ดี เงินเฟ้อที่ลดลงต่อเนื่องเหลือเพียง 2.5-3.3% ก็ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบายและใกล้ถึงเป้าหมายของ Fed
สรุปจากตัวแปรด้านเศรษฐกิจ Fed สามารถลดดอกเบี้ยได้ แค่ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน
ประเด็นที่สองคือตลาดการเงินที่ไม่รู้สึกถึงความเข้มงวดของนโยบายการเงิน การลดดอกเบี้ยเร็วอาจเป็นการเร่งฟองสบู่ตลาดหุ้นจนกลายเป็นความเสี่ยง
แม้ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะสูง แต่ Goldman Sachs U.S. Financial Condition Index กลับลดลงเรื่อยๆ จนล่าสุดอยู่ในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่กลางปี 2022
เหตุผลหลักมาจากบอนด์ยีลด์ระยะยาวที่เป็นต้นทุนของธุรกิจไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นตามดอกเบี้ยระยะสั้น Credit Spreads ปรับตัวลงจากสภาพคล่องคงเหลือ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์เทียบกับสกุลเงินหลักก็ถือว่าอ่อนลงกว่าช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น
ด้วยองค์ประกอบเหล่านี้ เราจึงเห็นตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ด้วย Valuation ที่แพงเกินปกติ
สรุปจากมุมมองด้านตลาด การลดดอกเบี้ยเร็วเกินไปอาจนำไปสู่เหตุการณ์ Irrational Exuberance หรือตลาดที่เปิดรับความเสี่ยงอย่างไม่มีเหตุผล คล้ายกับที่ประธาน Fed อย่าง Greenspan เคยพบในปี 1996 ยาวไปจนเกิดวิกฤต Dot-Com ในท้ายที่สุด
สุดท้ายคือประเด็นเฉพาะอย่าง Primary Election ด้วยเงื่อนไขด้านเวลา อาจเหมาะสมกว่าที่จะ ‘รอ’ หลังจากรู้ผลเลือกตั้งเสียก่อน
ย้อนกลับไปวัฏจักรเลือกตั้งตั้งแต่ปี 1980 แม้ Fed จะ ‘คง’ ดอกเบี้ยในปีเลือกตั้งเพียงปีเดียวคือ 2012 สมัย Bernanke แต่การลดดอกเบี้ยส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นเพียงปีที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย เช่น 1993, 2008 และ 2020 ขณะที่ปี 2016 Fed ‘รอ’ ให้การเลือกตั้งผ่านไปก่อนถึงจะเริ่มการขึ้นดอกเบี้ยในปีถัดไป
นั่นแสดงให้เห็นว่า Fed มัก ‘คง’ ความเป็นกลางในปีเลือกตั้ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเลือกตั้งจะไม่ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายในช่วงปกติ
ด้วยการประชุมที่เหลือ ใกล้ที่สุดคือ 1 สิงหาคม และ 19 กันยายน ซึ่งใกล้เลือกตั้ง 5 พฤศจิกายนมาก ถ้า Fed จะส่งสัญญาณหรือลดดอกเบี้ยโดยให้ดูเป็นกลางทางการเมือง การประชุมครั้งสุดท้ายของปีวันที่ 19 ธันวาคม อาจเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่สุด
จากตัวแปรและเหตุผลข้างต้น ผมจึงมองว่า Fed อาจไม่ลดดอกเบี้ยในปีนี้ ถ้าช่วงครึ่งหลังของปีเศรษฐกิจไม่ถดถอย
สำหรับนักลงทุนไทย ผมมองว่าเราสามารถวางกลยุทธ์รับมือกับมุมมองดอกเบี้ยสหรัฐฯ ได้ทันที
กรณี Base Case เศรษฐกิจโลกเติบโตต่อ Fed ไม่ลดดอกเบี้ย ผมมองโอกาสเกิดขึ้น 70% ดอลลาร์จะไม่อ่อน เงินลงทุนเลือกอยู่ฝั่ง Developed Markets ตลาดเน้นหุ้นใหญ่สไตล์ Quality Growth เหมือนครึ่งปีแรก
กรณี Bull Case Fed ลดดอกเบี้ยทันทีแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่ถดถอย ผมมองความน่าจะเป็น 20% ในกรณีนี้ คาดว่ายีลด์จะชันขึ้น พร้อมกับเงินดอลลาร์อ่อนค่า เกิดเป็น New Economic Cycle ที่ดีกับธุรกิจที่นำ AI ไปต่อยอด และ Emerging Markets
กรณี Bear Case เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรวดเร็ว Fed จึงต้องลดดอกเบี้ย โอกาสเกิดขึ้น 10% ในกรณีนี้แม้ Fed จะลดดอกเบี้ยเหมือน Bull Case แต่ดอลลาร์จะแข็งค่าจากตลาดที่ปิดรับความเสี่ยง จึงควรเลือกลงทุนในบอนด์และหุ้นสไตล์ Defensive
การลงทุนครึ่งหลังปี 2024 จะดีเหมือนครึ่งแรกหรือไม่ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของ Fed เป็นโจทย์สำคัญที่เราต้องหาคำตอบกันครับ
ภาพ: marketlan / Getty Images