ถึงวันนี้ Carbon Markets Club คลับรักษ์โลกลดก๊าซเรือนกระจกแห่งแรกของประเทศไทย เดินทางมาถึงปีที่ 3 แล้ว จากจุดเริ่มต้น 11 องค์กร จนปัจจุบันมีสมาชิกประเภทองค์กรและบุคคลกว่า 1,000 ราย พร้อมจุดประกายชวน SMEs ร่วมเครือข่าย สานต่อภารกิจสร้างสมดุลโลกไปด้วยกัน
ในโอกาสครบรอบ 3 ปีของการก่อตั้ง จึงจัดงาน ‘READY, SET, NET ZERO with Carbon Markets Club’ เตรียมความพร้อมให้กับองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ฝ่าสถานการณ์ ‘โลกเดือด เรื่องดุ’ โดยมีสมาชิกก่อตั้งและสมาชิก Carbon Markets Club (CMC) เริ่มตั้งแต่องค์กร บุคคล ผู้บริหารจากหน่วยงานพันธมิตรเข้าร่วมงานกว่า 400 คน
องค์กรรายเล็กและรายใหญ่จับมือฝ่าโลกเดือด
สิ่งที่น่าสนใจภายในงาน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาร่วมบรรยายพิเศษ ‘Warmer Than in Hell’ แชร์ผลกระทบจากวิกฤตโลกเดือดที่รุนแรง และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับความหลากหลายทางชีวภาพ โอกาสใกล้สูญพันธุ์ของสัตว์ที่ต้องช่วยกันเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน
ผศ.ดร.ธรณ์ฉายภาพต่อไปว่า เป้าหมาย Net Zero ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกแล้ว ลองนึกภาพดูว่าประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก ถ้าเราต้องจ่ายชดเชยคาร์บอนจริงๆ จะต้องใช้งบประมาณ 7 แสนล้านบาทต่อปี เพื่อไปชดเชยกับชาวโลก คำถามคือ ตอนนี้งบของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่พอเลย ดังนั้นงบที่จะไปจ่ายชดเชยให้กับคาร์บอนก็จะมาจากกระเป๋าของเราทุกคน
ยิ่งไปกว่านั้นตอนนี้เราไม่ได้อยู่ในยุคโลกร้อนแต่เป็นโลกเดือด ไม่ว่าจะองค์กรเล็กหรือใหญ่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งหมดไม่ได้ยากเกินไป เราสามารถทำได้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนภารกิจดูแลโลก เพราะพรุ่งนี้โลกจะร้อนยิ่งกว่านรก เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโหดร้ายเกินกว่าที่คาดการณ์เอาไว้
โลกเดือดกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก
จากการลงพื้นที่ในทะเลตลอดระยะเวลาหลายวัน ทำให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเจอความเสียหายทางธรรมชาติอย่างหนัก ไม่ว่าจะเรื่องปะการังฟอกขาวที่กระทบหนักถึง 90% สัตว์น้ำเริ่มสูญพันธุ์ หญ้าทะเล ผิวน้ำอุณหภูมิอยู่ที่ 35-40 องศาเซลเซียส หรือเทียบเท่ากับบ่อออนเซน แน่นอนว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ไม่ใช่คำเตือน แต่ในมุมของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อมเห็นสัญญาณเข้าสู่นรกของจริงแล้ว
สิ่งที่ ผศ.ดร.ธรณ์ทำคือจัดค่ายเยาวชน ค่ายทะเลเดือด ชวนนักศึกษาคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปลงพื้นที่ดูผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ปะการังฟอกขาว การลดลงของสัตว์น้ำ ตั้งใจให้เยาวชนเห็นโลกความเป็นจริงที่เกิดขึ้น และจะได้สร้างความตระหนักไปพร้อมกัน
ในโลกความเป็นจริง การทำ CSR เป็นเรื่องที่ดี ในบางองค์กรใช้เวลาไปกับการวางกลยุทธ์ KPI ต่างๆ แต่การรักษาดูแลโลกต้องใช้เวลาศึกษาเรียนรู้ ไม่ใช่การนำเอากฎเกณฑ์ของมนุษย์ไปวัดแล้วบอกว่าสิ่งที่ตัวเองทำนั้นคือการทำเพื่อโลก แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ถูกต้อง เพียงแต่สิ่งที่ทำจะช่วยโลกได้เพียง 2% เท่านั้น ทั้งหมดก็ยังไม่ตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ท่ามกลางโลกปัจจุบันที่กำลังสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากปัญหาทะเลเดือด ส่งผลให้ปริมาณปลาลดลง และจำนวนชนิดปลาลดกว่า 50%
สัญญาณเตือนโลกกำลังพินาศ
สัญญาณจากโลกได้ส่งเสียงเตือนแล้วว่าโลกกำลังจะพินาศ ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่มนุษย์ไม่พยายาม แต่ด้วยระบบที่ทำให้เราไม่ตระหนัก และมนุษย์สร้างความเข้าใจด้วยตัวเองว่าการทำตามขั้นตอนเหล่านั้นโลกจะดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วระบบดังกล่าวเป็นเพียงสิ่งที่คอยปลอบใจว่าอย่างน้อยองค์กรได้ทำเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้ว
แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้มนุษย์รอดจากนรกนี้ได้ ที่สำคัญปัญหาโลกร้อนนั้นไม่มีความยุติธรรม ยิ่งธรรมชาติเกิดการเปลี่ยนแปลง คนที่เดือดร้อนที่สุดคือคนที่ทำมาหากินกับธรรมชาติ เช่น ชาวประมง จากที่เคยจับปูม้าได้ 6-7 กิโลกรัมต่อวัน วันนี้จับได้เพียง 2 กิโลกรัมต่อวันเท่านั้น
หลายคนบอกให้ชาวประมงปรับตัว แต่ในความเป็นจริงแล้วทำได้ยากมากๆ เพราะชาวประมงไม่รู้ว่าคาร์บอนคืออะไร จะปรับตัวอย่างไร
สิ่งที่ต้องทำคือการมองให้ไกลกว่าฝาบ่อน้ำหลังโรงงาน เราต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่คนท้องถิ่น ยิ่งไปกว่านั้นชาวประมงไม่ใช่ตัวการในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
คำถามคือใครผิด? แน่นอนว่าไม่มีคนผิด คนระดับบน ระดับล่าง ได้รับผลกระทบพร้อมกันหมด และหากอุณหภูมิโลกพุ่งสูงไปมากกว่านี้จะกลายไปสู่ปัญหาการเมือง การสงคราม ผลกระทบทางการเกษตร อุตสาหกรรม ความอดอยาก และภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น
จับตาการเรียกเก็บภาษีในยุคโลกเดือด
ผศ.ดร.ธรณ์ย้ำว่า ยิ่งโลกร้อนรุนแรงมากขึ้นเท่าไร สิ่งที่ตามมาคือมาตรการการเรียกเก็บภาษีจะยิ่งเข้มงวดมากขึ้นเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นทุกคนก็จะได้รับผลกระทบร่วมกัน หากไม่ปรับตัวธุรกิจก็ยากที่จะไปได้รอด สิ่งแวดล้อมก็ยากที่จะฟื้นฟู
ผู้ประกอบการ SMEs จะปรับตัวอย่างไร…ในยุคโลกเดือด?
กลอยตา ณ ถลาง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และประธาน Carbon Markets Club ฉายภาพว่า ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ก่อตั้ง Carbon Markets Club เราได้ยินเรื่อง Net Zero ทุกคนพูดถึงเรื่องโลกเดือด จริงๆ แล้วคำว่าโลกเดือดมาจากสุนทรพจน์ของเลขาธิการแห่งสหประชาชาติ และนอกจากโลกเดือดแล้ว ปัจจุบันทุกคนยังเผชิญกับความท้าทายด้านเทคโนโลยี สงครามการค้า การเมือง โลกแบ่งเป็นขั้วๆ
สิ่งที่หลายประเทศกำลังเผชิญคือปัญหาที่เราร่วมกันสร้าง เปรียบเสมือนว่าเราร่วมกันสร้างบาปให้โลก ฉะนั้นต้องช่วยกันหาวิธีชดใช้และสะสมบุญเพื่อล้างบาปร่วมกัน
กลอยตาฉายภาพให้เห็นถึงความเสี่ยงของโลกจากสภาวะวิกฤตของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบที่เกิด ปะการังฟอกขาว สัตว์ที่หายไป ความหลากหลายของชีวภาพที่ลดลง รวมถึงทรัพยากรต่างๆ ที่เคยหาง่าย วันนี้กลับหายากขึ้น เช่น กุ้ง, หอย, ปู, ปลา หรือแม้แต่มะพร้าวที่เคยมีรถมาขายหน้าบ้านจากลูกละ 10 บาท วันนี้ลูกละ 65 บาท เราอยู่มาจนถึงยุคที่มะพร้าวราคาเกือบ 100 บาทต่อลูก
ไทยรับความเสี่ยงจากสภาพภูมิอากาศอันดับ 9 ของโลก
ในอดีตตั้งแต่ปี 2015 หลายๆ ประเทศพยายามควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส แต่ปีนี้เป็นต้นไปคาดการณ์ว่าอุณหภูมิจะสูงขึ้นมากกว่า 1.7 องศาเซลเซียส ซึ่งในตัวเลขระดับ 1.5 องศาเซลเซียสโลกยังอยู่ได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่เกินมากกว่านั้น คือ ‘Point of no return’ เราอยู่ในจุดที่ย้อนกลับไปไม่ได้แล้ว ทำได้แค่ต้องเดินหน้าต่อไป
สำหรับประเทศไทยจัดอยู่อันดับ 9 ของโลก ที่ได้รับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากทั้งหมด 180 ประเทศ โดยประมาณการความสูญเสียมีมูลค่ากว่า 7.7 พันล้านดอลลาร์ ยกตัวอย่าง ชาวประมงพื้นบ้านที่เคยเดินเรือออกไปจับปูม้า ด้วยเรือลำเล็กๆ แต่วันนี้ทำไม่ได้แล้วเพราะไม่มี และไม่มีต้นทุนที่จะไปหาซื้อเรือลำใหญ่ออกไปหาสัตว์ทะเลน้ำลึก
ชาวประมงไม่ได้เป็นตัวการใหญ่ แต่เป็นคนที่ทำงานในห้องแอร์อย่างพวกเราเป็นคนก่อบาป ที่ต้องมองให้ไกล มองให้กว้างขึ้นมากกว่าบ่อน้ำหลังโรงงาน เพื่อช่วยให้ชาวประมงเหล่านี้สามารถอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤต
กว่าจะไปสู่ Net Zero ต้องใช้งบ-ทรัพยากรมหาศาล
กลอยตาฉายภาพต่อไปว่า โจทย์สำคัญต้องมาดูกันว่า เราช่วยกันได้มากน้อยแค่ไหน หากย้อนไปในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำกิจกรรมอะไรธรรมชาติดูดซับได้หมดเพราะมีความสมดุล แต่เมื่อมีการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้น สิ่งที่ตามมาคือมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น พื้นที่ป่าถูกทำลายไม่สามารถดูดซับได้
เมื่อความสมดุลหายไปจึงเกิดความเปลี่ยนแปลง ทำให้หลายๆ ประเทศตั้งเป้าไปสู่ Net Zero ซึ่งบางประเทศ Net Zero ไปแล้ว เช่น ภูฏาน เป็นประเทศที่มีป่าไม้จำนวนมาก และมีอุตสาหกรรมน้อย ทำให้สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาได้หมด
ถึงกระนั้นการจะไปสู่ Net Zero ได้จะต้องใช้งบประมาณมหาศาล เทคโนโลยี และทรัพยากร ซึ่งในหลายประเทศส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายจะไปสู่ Net Zero ในปี 2050 ส่วนประเทศไทยตั้งไว้ปี 2065
ไทยปล่อยคาร์บอนสูงเท่ากับบอลลูน 300 ล้านลูกต่อปี
จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย พบว่า ไทยปล่อยคาร์บอนสูงเท่ากับบอลลูน 300 ล้านลูกต่อปี หากจะลดได้ต้องมีกฎกติกาเข้ามาควบคุม ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คาดว่าจะออกมาภายในสิ้นปี 2567 รวมถึงมาตรการภาษีคาร์บอน ตามด้วยระบบซื้อขายสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งปัจจุบันก็มีหน่วยงานหลายภาคส่วนมาร่วมกันแก้ไข
โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่จะช่วยตอบโจทย์ เป็นสะพานที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดได้เร็วขึ้น องค์กรที่ขายคาร์บอนเครดิตได้ก็จะสามารถนำรายได้ไปลงทุนในพลังงานสะอาด หรือนำไปปลูกป่า ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการดูดซับได้มากขึ้น
แนะผู้ประกอบการใช้เครื่องมือประเมิน Carbon Footprint
ขณะที่ธุรกิจ SMEs ในฐานะที่เป็นฟันเฟืองเชื่อมเศรษฐกิจฐานรากไปสู่เศรษฐกิจระดับบน ก็ต้องปรับตัวสร้างโอกาสธุรกิจในการอยู่ร่วมโลก เริ่มต้นวิเคราะห์ลูกค้าที่มีความคาดหวังสูงขึ้น ไม่ใช่แค่วางกรอบ แต่เป็นเรื่องของการที่ต้องร่วมมือทำ เพื่อมุ่งไปสู่ Net Zero
Carbon Markets Club พร้อมติดอาวุธให้กับผู้ประกอบการในการปรับตัวสู่ Net Zero ที่มาพร้อมไฮไลต์ภายในงาน เปิดเผยแนวทางการปรับตัวสู่องค์กร Net Zero แนะนำการใช้เครื่องมือในการประเมิน Carbon Footprint สำหรับองค์กร (Carbon Footprint Tracking for Organization: CFO) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นให้องค์กรทราบเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โอกาสทางธุรกิจของการประเมิน Carbon Footprint ของผลิตภัณฑ์ และแพลตฟอร์มการซื้อขายคาร์บอนเครดิต
รวมถึงการสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs จากธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบต่างๆ เช่น สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนั้นยังมีการแนะนำแอปพลิเคชัน MyCF เครื่องมือประเมิน Carbon Footprint สำหรับบุคคล จัดทำโดย บางจากฯ และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) https://cfotracking.bcpgdigital.com/#/home/main
สำหรับการใช้งานแอปพลิเคชัน MyCF สามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง iOS และ Android โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยผู้ใช้งานกรอกข้อมูลการปล่อยคาร์บอนในชีวิตประจำวัน ยกตัวอย่าง การกรอกอัตราการใช้ไฟฟ้าต่อเดือน ตามด้วยการใช้น้ำประปา และเดินทางไปทำงานด้วยรถประจำทางหรือรถส่วนตัว
ผลลัพธ์ทั้งหมดจะสะท้อนให้เห็นว่าเราปล่อยคาร์บอนจำนวนกี่ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และสุดท้ายแอปพลิเคชันจะแนะนำวิธีลดคาร์บอนให้กับเรา
อีกหนึ่งไฮไลต์ภายในงาน ยังมี ปวีณา พึ่งแพง ผู้จัดการกิจการเพื่อสังคม บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ ดร.วิชชุวรรณ พึ่งเจริญ ผู้จัดการอาวุโส Energy Innovation Department บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) มาแชร์ให้ผู้ประกอบการ SMEs เตรียมตัวสู่ Net Zero ผ่านหัวข้อ Steps to Net Zero ตามด้วย Carbon Footprint Tracking for Organization (CFO) และ Trading Platform
หัวใจสำคัญคือผู้ประกอบการต้องเริ่มสำรวจองค์กรว่ามีการสร้าง Carbon Footprint มากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจเริ่มจากวิธีง่ายๆ 8 ขั้นตอน เริ่มจาก
- ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
- กำหนดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำ
- ประเมินความเสี่ยงและโอกาสต่างๆ
- ตั้งเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว
- วางแผนกลยุทธ์ขององค์กร
- กำหนดแผนการดำเนินงาน
- ทำงานตามแผนงานที่วางเอาไว้
- เปิดเผยข้อมูลที่ได้มา
ทั้งนี้ ต้องแสดงความมุ่งมั่น บริหารงานพร้อมติดตามผล ที่สำคัญต้องมีทีมวิเคราะห์ระบบหลังบ้าน ทีมยุทธศาสตร์ HR การเงินต้องทำงานร่วมกัน เพื่อให้เราสามารถใช้เครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
ทั้งหมดจะช่วยให้องค์กรสามารถเดินหน้าไปถึงเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามแผนงานที่วางไว้ได้
นอกจากนี้ยังมี เชวง เศรษฐพร ผู้อำนวยการอาวุโส แผนกพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อบรรษัท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่จะเปลี่ยนองค์กรได้จะต้องมีทุน ซึ่งเราไม่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการเป็นสายเปย์ สิ่งที่ต้องทำคือผู้ประกอบการต้องรู้ว่าตัวเราอยู่จุดไหน จากนั้นเริ่มเข้าสู่กระบวนการวางแผน
สำหรับธนาคารได้เตรียมเครื่องมือให้ความรู้กับผู้ประกอบการ โดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจสีเขียวเข้าถึงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ด้วยอัตราดอกเบี้ย 3.5% ต่อปี และผ่อนชำระได้นานถึง 10 ปี เราต้องเน้นย้ำว่าสถาบันการเงินไม่ได้ตั้งใจจะปล่อยกู้อย่างเดียว แต่ต้องการสนับสนุนให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืนด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ Carbon Markets Club ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 โดยบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) และองค์กรก่อตั้งรวม 11 บริษัท เพื่อสนับสนุนการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVERs และ RECs ใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียนรวมกันกว่า 1.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีสมาชิกประเภทองค์กรและบุคคลรวมกว่า 1,000 ราย