×

สินค้าจีนล้นจนเกิด ‘Overcapacity’ โจทย์ท้าทายผู้นำประเทศ?

09.07.2024
  • LOADING...
สินค้าจีน Overcapacity

กำลังการผลิตที่ล้นเกิน (Overcapacity) ของจีน กำลังเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกจับตา  ซึ่งอาจส่งผลกระทบทั้งเชิงลบและเชิงบวกต่อภาคการผลิตท้องถิ่นของแต่ละประเทศ โดยอาจทำให้แข่งขันลำบากขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสสำหรับผู้บริโภคที่จะได้ซื้อสินค้าราคาถูกลง 

 

โดยในบางสินค้า อย่างไทยเองก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทว่าความท้าทายในเรื่องกำลังการผลิตล้นของจีนกำลังสร้างความท้าทายทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้กับ ‘ภูมิภาคเอเชีย’ ซึ่งเป็นซัพพลายเชนสำคัญของโลก และคาดการณ์กันว่า อนาคตอันใกล้อาจมีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโนในแง่การกีดกันทางการค้าในหลายๆ ประเทศมากขึ้นตามมา เมื่อภูมิรัฐศาสตร์ การค้า ความสัมพันธ์ทางการเมืองอันแน่นแฟ้นกับจีน อาจเป็นโจทย์ท้าทายผู้กำหนดนโยบายของแต่ละประเทศ 

 

สำนักข่าว Nikkei รายงานบทวิเคราะห์ ‘Asia is set to embrace protectionism in face of China’s overcapacity’ ว่า ปีนี้เป็น ‘ปีแห่งความตึงเครียดทางการค้าระหว่างจีนและตะวันตก’ ที่กำลังจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก หลังจากที่ โจ ไบเดน  ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการกำแพงภาษีภายใต้มาตรา 301 ของกฎหมายการค้าสหรัฐฯ สำหรับการนำเข้าจากจีนที่ครอบคลุมสินค้า เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และแบตเตอรี่ ขณะเดียวกัน คณะกรรมาธิการยุโรปเองก็มีมติเบื้องต้นในการกำหนดภาษีชั่วคราวสำหรับการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ในอัตราภาษีเพิ่มเติมจะอยู่ที่ร้อยละ 17.4-38.1% เช่นกัน 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

จะเห็นได้ว่าในบรรดาประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) เช่น ตุรกี ประกาศกำหนดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์จากประเทศจีนเพิ่มขึ้น 40% ในขณะที่บราซิล ก่อนหน้านี้รถยนต์ไฟฟ้าเคยได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้ามาก่อน แต่ประธานาธิบดี ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ได้บังคับใช้ภาษี 10% กับรถยนต์ EV ตั้งแต่เดือนมกราคม และจะเพิ่มขึ้นเป็น 18% ในเดือนกรกฎาคม และจะเพิ่มสูงสุดที่ 35% ในเดือนกรกฎาคม 2026 

 

เรียกว่าจะค่อยๆ ขึ้น จนในขณะนี้ทำให้ผู้บริโภคต้องรีบซื้อก่อนที่จะขึ้นราคา ในทางตรงกันข้าม ตลาดเอเชียกลับยังไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้ากับสินค้าจีนมากนัก รายงานข่าววิเคราะห์ว่า ไม่ควรนิ่งนอนใจและอาจไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน เมื่อความท้าทายเศรษฐกิจของเอเชียที่ต้องเผชิญกับการรับมือกำลังการผลิตส่วนเกินจากอุตสาหกรรมของจีน 

 

โดยเริ่มเห็นสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนที่ราคาถูกหลั่งไหลเข้าสู่ประเทศไทย อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กำลังการผลิตส่วนเกินและการส่งออกของจีนเหล่านี้กำลังบีบผู้ผลิต ‘โลหะและเคมีภัณฑ์’ ในประเทศในอินเดีย เวียดนาม ไทย รวมถึงเกาหลีใต้

 

อีกด้านเอเชียรับความเสี่ยงจากผลกระทบการเก็บภาษีศุลกากร เนื่องจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของจีน และลาตินอเมริกาจัดเก็บภาษีสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กจากจีน ส่งผลให้อุปทานส่วนนี้จึงถูกกำหนดให้เปลี่ยนเส้นทางไปยังเอเชียในที่สุด

 

การเข้ามาของ EV จีนสะเทือนไปทั่วเอเชีย

 

เริ่มจากจีนสนใจและเริ่มเจาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในหลายประเทศในเอเชีย   ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

 

ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยในปี 2023 การนำเข้ารถยนต์ของไทยมากกว่า 30% มาจากประเทศจีน เพิ่มขึ้นจาก 10% จากปี 2023 ซึ่งตามข้อมูลจากสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของจีน จีนได้ส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าไปยังเอเชียแล้ว 312,000 คัน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2024 แซงหน้าการส่งออกไปยังยุโรปที่ 266,000 คัน  

 

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าสินค้าจากจีนเป็นความท้าทายของตลาดเอเชีย เพราะมีการนำเข้าทั้งสินค้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีต่ำและสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง ซึ่งล้วนมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก

 

โดยจะเห็นว่า การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นจากจีนอาจทำให้การผลิตของผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่างวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง นั่นคือธุรกิจ SMEs ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ในเอเชียก็ได้รับผลกระทบจาก EV จีน เนื่องจากผู้ผลิต EV ของจีนสามารถลดและกำหนดราคาส่งออกเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาดได้ ถือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เพิ่งเริ่มเติบโตทั่วทั้งเอเชีย


บริษัทที่กำลังแข็งแกร่งก็อาจประสบกับแรงกดดันด้านอัตรากำไร เนื่องจากจีนส่งออกภาวะเงินฝืดไปยังส่วนอื่นๆ ของเอเชีย แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยก็มองว่าการแข่งขันจากสินค้าอุปโภคบริโภคนำเข้าจากจีนในราคาต่ำอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระทบเชิงโครงสร้างที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับต่ำอีกด้วย

 

อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย ก็ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจเอเชียบางประเทศ เช่น อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย แม้กำลังได้รับประโยชน์จากกลยุทธ์จีนบวกหนึ่ง (China Plus One) แต่การพึ่งพาผลิตภัณฑ์ขั้นกลางที่นำเข้าจากจีนอย่างต่อเนื่องก็มีผลต่อการจำกัดการเพิ่มมูลค่าในประเทศ การพัฒนาระบบนิเวศการผลิตในประเทศ และจำกัดการสร้างงานด้านการผลิตในท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

เนื่องจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ และยุโรปส่งผลกระทบต่อจีน และจีนเปลี่ยนเส้นทางกำลังการผลิตส่วนเกินไปยังตลาดใหม่ๆ การแข่งขันด้านการส่งออกจึงมีความท้าทายมากขึ้น

 

เมื่อเผชิญกับความท้าทายในการปกป้องภาคการผลิตและการจ้างงานในประเทศ จึงเป็นโจทย์ที่ผู้กำหนดนโยบายในเอเชียไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ จึงจำเป็นต้องสร้างการแข่งขันในประเทศกับจีน

 

หลายสินค้าไม่อาจเลี่ยงการพึ่งพาจีน โจทย์จึงอยู่ที่ผู้กำหนดนโยบาย  

 

อย่างไรก็ตาม แม้มีการถกเถียงกันว่าการสร้างการกีดกันการนำเข้าของจีนไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากเอเชียมีอำนาจต่อรองกับจีนน้อยกว่าสหรัฐฯ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์การเมือง ซึ่งนี่ก็เป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาเซียนที่ได้พัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้นทั้งการค้าและการลงทุน

 

ตัวอย่างเช่น จีนเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญสำหรับการส่งออกโลหะและเหมืองแร่ของอินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย และไทยพึ่งพาอุปทานสินค้าขั้นกลางของจีนเพื่อขยายการค้า การลงทุนของจีนในการตั้งโรงงาน ฐานผลิตแห่งใหม่ในอาเซียนช่วย ผลักดันห่วงโซ่อุปทานระดับโลกได้

 

ขณะที่เกาหลีใต้เองก็ยังต้องพึ่งพาจีน โดยพึ่งพาวัตถุดิบสำคัญอย่าง ‘เซมิคอนดักเตอร์และแบตเตอรี่’ และถึงแม้จะมีสัญญาณการแยกตัวเมื่อเร็วๆ นี้ จีนก็ยังคงเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับบริษัทเกาหลีใต้ในภาคผู้บริโภคและเซมิคอนดักเตอร์อยู่ดี

 

ดังนั้น จากข้างต้น โจทย์จึงขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายในเอเชียจะต้องจัดการนโยบายการค้าและอุตสาหกรรมให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสมดุล จัดลำดับความสำคัญทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น 5 ข้อเสนอที่ควรต้องเร่งแก้

 

ประการแรก ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีประชากรวัยทำงานจำนวนมาก จำเป็นต้องสร้างงาน สร้างอำนาจการแข่งขันที่เท่าเทียมกันกับการนำเข้าของจีน โดยควรจัดเก็บภาษีหรือภาษีศุลกากร ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยเพิ่งอนุมัติการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนที่ขายในราคาต่ำกว่า 1,500 บาท 

 

ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าลัทธิกีดกันทางการค้ามักสร้างแรงกดดันต่อนโยบายการค้าโลก แต่เอเชียก็ไม่ควรมองข้ามการเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นเพื่อวางมาตรการชั่วคราว และนโยบายของรัฐบาลควรมุ่งมั่นที่จะทำให้การผลิตในท้องถิ่นสามารถแข่งขันได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังอาจจัดเก็บอยู่ในรูปแบบของภาษีศุลกากรที่เรียกเก็บเกินโควตาการนำเข้าที่กำหนดก็สามารถทำได้

 

ประการที่ 2 รัฐบาลควรกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยน จากการนำเข้าไปสู่การมองหาวัตถุดิบที่มีภายในประเทศ และสนับสนุนการเติบโตของโรงงานในประเทศ 

 

ประการที่ 3 ส่งเสริมการพัฒนาภาคส่วนที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ ผู้กำหนดนโยบายสามารถเสนอเงินอุดหนุนที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม Local Content และใช้นโยบายการคลัง เช่น มาตรการจูงใจทางภาษี หรือการหักค่าใช้จ่ายสำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่าสินค้านำเข้า ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ ลดนำเข้า ทำสัญญาระยะยาว

 

ประการที่ 4 ตลาดเอเชียควรลดความเสี่ยงในห่วงโซ่อุปทาน โดยต้องจัดหาแหล่งสำรองของวัตถุดิบและแร่ธาตุที่สำคัญ โดยการทำสัญญาระยะยาว เช่น ในเดือนธันวาคม 2023 กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ได้ประกาศยุทธศาสตร์ 3050 โดยได้ระบุว่า สินค้า 185 รายการ อย่าง เซมิคอนดักเตอร์ แบตเตอรี่สำรอง รถยนต์ และการต่อเรือ สินค้าเหล่านี้ต้องสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าลงเหลือ 50% ภายในปี 2030 ดังนั้น ประเทศในเอเชียอื่นๆ สามารถทำตามตัวอย่างนี้ได้

 

ท้ายที่สุด การกระจายความเสี่ยงนั้นอาจเป็นเพียงเกมที่กลุ่มประเทศ G7 พยายามลดความเสี่ยงจากจีนเช่นกัน ซึ่งจะมีการตรวจสอบการค้าและการลงทุนที่ส่งผ่านประเทศที่สามเพิ่มมากขึ้น เอเชียควรตั้งเป้าหมายเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากฐานนักลงทุนที่หลากหลาย และยังกระจายคู่ค้าทางการค้าเพื่อลดความเสี่ยงของการกระจุกตัว

 

ทั้งหมดที่กล่าวมายังเป็นเพียงช่วงเริ่มต้น แต่การเพิ่มขึ้นของลัทธิกีดกันทางการค้าจากตะวันตกต่อจีน และความท้าทายอย่างต่อเนื่องของจีนในเรื่องกำลังการผลิตล้นของอุตสาหกรรม กำลังสร้างความท้าทายทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้กับเอเชีย ซึ่งอนาคตอันใกล้เชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะกระตุ้นให้เกิดผลกระทบแบบโดมิโนกีดกันทางการค้าในประเทศต่างๆ มากขึ้นเช่นกัน

 

“สิ่งสำคัญคือการปกป้องธุรกิจ และส่งเสริมการจ้างงานในประเทศ แม้ว่าผู้กำหนดนโยบายในเอเชียจำนวนมากจะเผชิญกับการตัดสินใจที่ยากลำบาก แต่เส้นทางที่ว่ามานี้ก็เริ่มชัดเจน”

 

อ้างอิง​: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising