วันนี้ (9 กรกฎาคม) สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อกฎหมายต่างๆ กับทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ได้สอบถามเกี่ยวกับข้อกฎหมายในการแก้สัญญากับทางกฤษฎีกาแล้ว และได้คำตอบมาแล้ว จากนี้จะนำคำตอบจากกฤษฎีกามาพิจารณากับข้อเท็จจริง คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะสามารถนำข้อมูลหารือนายกรัฐมนตรีได้
สุทินย้ำว่า เรื่องเรือดำน้ำมีการหารือกับกฤษฎีกานานแล้ว ซึ่งได้คำตอบมาในเชิงหลักการ เราจะนำหลักการนั้นมาดูข้อเท็จจริงในการดำเนินงานอยู่ ทั้งเรื่องขอเปลี่ยนสัญญา และเรื่องที่เป็นสาระสำคัญและไม่ใช่สาระสำคัญ
เมื่อถามว่ามีความย้อนแย้งกับทางเลขาธิการกฤษฎีกาที่ระบุว่า รัฐบาลยังไม่ได้ส่งรายละเอียดการแก้ไขสัญญาเรือดำน้ำมายังกฤษฎีกาเพื่อทำการตรวจสอบ สุทินกล่าวว่า หารือกันไปหนึ่งรอบแล้วเมื่อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ร่วมกับกองทัพเรือ อัยการสูงสุด กฤษฎีกา
“ในหลักการทุกอย่างจะต้องดำเนินการโดยมติ ครม. แต่ก่อนจะให้ ครม. มีมติ ทางกระทรวงกลาโหมจะต้องให้ข้อมูลที่สมบูรณ์ ทาง ครม. จะได้ใช้ดุลพินิจในการพิจารณา และเราได้ทำการบ้านในรายละเอียด เมื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม. จะอธิบายรายละเอียดอย่างไร ยืนยันว่าการเปลี่ยนสัญญามี 2 ข้อคือ ขยายเวลาสัญญา และเปลี่ยนเครื่องยนต์เดิมเป็นเครื่องใหม่ แต่ต้องเป็นมติที่ประชุม ครม.” สุทินกล่าว
เมื่อถามว่า ในสัปดาห์หน้าจะนำเรื่องเข้าที่ประชุม ครม. ได้หรือไม่ สุทินระบุว่า ยังไม่ถึงกับเข้าที่ประชุม ครม. แต่ในสัปดาห์หน้าจะนำเข้าหารือกับนายกฯ เพื่อให้มีการตัดสินใจ พร้อมย้ำว่ากระทรวงกลาโหมทำงานมาโดยตลอด และตอนนี้ข้อมูลก็ใกล้จะสมบูรณ์แล้ว ซึ่งรอทางจีนตอบกลับมา 1 ประเด็น แล้วนำเสนอนายกฯ
ส่วนจะต้องเดินทางไปพูดคุยกับทางจีนอีกหรือไม่ สุทินกล่าวว่า คงไม่ เพราะถ้าทางจีนตอบประเด็นสำคัญตรงนี้มาก็จะประมวลได้ทั้งหมด เพื่อนำข้อมูลส่งนายกฯ ได้แล้ว จากนั้นก็ทำหนังสือให้นายกฯ พิจารณา
“ถ้าท่านบอกว่าเดินหน้าได้ก็เดินหน้าเลย แต่ถ้าให้หาข้อมูลเพิ่มเติม ค่อยทำ ค่อยว่ากัน” สุทินกล่าว
เมื่อถามว่าทางจีนไม่ได้กดดันไทยใช่หรือไม่ สุทินกล่าวว่า ทางจีนอยากจะให้จบเหมือนกัน เพราะทำมานาน ลงทุนมานาน ก็อยากจบ หากถามว่ากดดันไหม เขาก็ขอความเห็นใจ
ด้าน ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวถึงกรณีเปลี่ยนแปลงสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างเรือดำน้ำว่า ขณะนี้ยังไม่มีการส่งคำถามมายังกฤษฎีกา ถ้ามีเรื่องอะไรอยู่ที่ตน ตนก็บอกว่ามี ถ้าไม่มีตนก็บอกว่าไม่มี ไม่ได้โกหกอะไร ไม่มีความลับ เรือดำน้ำลำใหญ่
ส่วนกฤษฎีกาจะพิจารณาในเรื่องข้อกฎหมายเท่านั้นใช่หรือไม่ ปกรณ์ระบุว่า ถ้ามีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายก็จะพิจารณา ส่วนเรื่องความจำเป็นทางยุทธการก็เป็นเรื่องของทหารเรือ กระทรวงกลาโหม และรัฐบาล
เมื่อถามว่ากรณีที่ไม่เป็นไปตามสัญญาที่ตกลงไว้ กฤษฎีกาจะสามารถให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะอะไรกับรัฐบาลได้หรือไม่ ปกรณ์กล่าวว่า ก็เหมือนกับการจัดซื้อจัดจ้างทั่วไป หากมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขสัญญาก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเป็นไปตามหลักการปกติของสัญญา