กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดรับฟังความคิดเห็นการดำเนินการปรับปรุงแนวเขต อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีเนื้อที่ลดน้อยลงไปประมาณ 265,000 ไร่ ตามแผนการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานจากการสำรวจแนวเขตเมื่อปี 2543 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 2567
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไปในพื้นที่ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ
โดยมีข้อพิจารณาที่ใช้ประกอบการรับฟังความคิดเห็นดังนี้
- ท่านเห็นชอบในการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 (One Map) เพื่อกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติทับลานหรือไม่ อย่างไร
- เมื่อปรับเปลี่ยนสภาพจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์เป็นที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะสามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ อย่างไร
- มั่นใจหรือไม่ว่าราษฎรที่ได้รับประโยชน์ในพื้นที่เป็นเกษตรกรผู้ไม่มีที่อยู่อาศัยที่ทำกิน และได้อยู่อาศัยทำกินในพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม และจะสามารถควบคุมดูแลไม่ให้มีกระบวนการปรับเปลี่ยนการครอบครองไปอยู่ในมือของนายทุนหรือผู้มีฐานะดี
- การใช้แนวเขตเมื่อปี 2543 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ป้องกันการบุกรุกป่าอนุรักษ์เพิ่ม มาใช้เป็นแนวเขตของอุทยานแห่งชาติทับลาน ขัดต่อวัตถุประสงค์เริ่มแรกของการสำรวจจัดทำแนวเขตเมื่อปี 2543 และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 หรือไม่
- จะเป็นแนวทางที่ใช้ขยายลุกลามให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่นๆ อีกหรือไม่ อย่างไร ในเมื่อพื้นที่อื่นๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกิน และมีสิทธิ์ที่จะได้รับการช่วยเหลือ เพราะเป็นประชาชนคนไทยเช่นกัน
- เป็นการขัดต่อนโยบายป่าไม้แห่งชาติ ที่กำหนดให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ทั้งป่าเพื่อการอนุรักษ์และเพื่อเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศหรือไม่ อย่างไร
- เป็นการส่งผลต่อสถานภาพการเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ จากการถูกลดคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก (UNESCO) หรือไม่
กรมอุทยานฯ ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทาง
ซึ่งวันนี้ (8 กรกฎาคม) สังคมเริ่มมีความเคลื่อนไหวในทิศทางแสดงความเป็นห่วงต่อการแบ่งแยกพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทับลานมากยิ่งขึ้นโดย #saveทับลาน ขึ้นเป็นเทรนด์ยอดนิยมในแพลตฟอร์ม X ของประเทศไทย พร้อมกับที่มีคนจำนวนมากส่งต่อลิงก์การแสดงความคิดเห็นต่อการแบ่งแยกพื้นที่ผ่านโซเชียลมีเดียในช่องทางต่างๆ
อ้างอิง: