×

ชาวประมงเปิดปฏิบัติการไล่ล่า ‘ปลาหมอคางดำ’ หลังแพร่ระบาดในหลายจังหวัด

โดย THE STANDARD TEAM
08.07.2024
  • LOADING...
ปลาหมอคางดำ

วันนี้ (8 กรกฎาคม) สืบเนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ ซึ่งถือเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ หรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน สร้างผลกระทบต่อสัตว์น้ำและระบบนิเวศตามธรรมชาติอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดปัญหากระจายอยู่ในพื้นที่หลายจังหวัด

 

ล่าสุด เผดิม รอดอินทร์ ประมงจังหวัดสมุทรสาคร เผยว่า จากปัญหาดังกล่าว กลุ่มพันธมิตรชาวบ้านและชาวประมง ร่วมมือกันทำโครงการ ‘ลงแขก ลงคลอง’ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 9 กรกฎาคม ตั้งแต่เวลา 10.00 น ที่คลองท่าแร้ง ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อไล่ล่ากำจัดปลาหมอคางดำตามแหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัด

 

ขณะที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งปากพนัง ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสงขลา-นครศรีฯ จัดงบประมาณสนับสนุนการปฏิบัติการกำจัดปลาหมอคางดำ ในบ่อบำบัดน้ำเสียของโครงการชลประทานเพื่อการเลี้ยงกุ้งทะเลบ้านหน้าโกฏิ หมู่ 10 ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

 

และในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จังหวัดสงขลาโพสต์เฟซบุ๊กประกาศจับปลาหมอคางดำ เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำต่างถิ่นที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร โดยผู้ใดพบเจอปลาชนิดนี้ให้ติดต่อและแจ้งสำนักงานประมงจังหวัดสงขลา หรือสำนักงานประมงอำเภอใกล้บ้าน โทร. 0 7431 1302

 

ย้อนต้นตอปัญหา ‘ปลาหมอคางดำ’ ระบาดได้อย่างไร

 

ในช่วงปี 2561 กลุ่มเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี ร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนว่า ได้รับผลกระทบจากการแพร่พันธุ์ของปลาหมอคางดำ ซึ่งกรมประมง (ผู้ถูกร้อง) อนุญาตให้เอกชนนำเข้ามาทดลองเพาะเลี้ยงจากต่างประเทศ และเนื่องจากปลาหมอคางดำกินสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ผู้ร้องและเกษตรกรทำการเพาะเลี้ยงเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อรายได้ในการประกอบอาชีพ

 

ทาง กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และกระทบต่อสิทธิทางเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพของประชาชน โดยมีข้อเสนอต่อกรมประมง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ตั้งคณะทำงานประเมินผลและติดตามแก้ไขปัญหา ควรพิจารณาสนับสนุนงบประมาณเร่งด่วนเพื่อเยียวยาเกษตรกรที่ประสบปัญหา และกำหนดวิธีการหรือแนวปฏิบัติในการควบคุมดูแลให้ผู้นำเข้าสัตว์น้ำปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างครบถ้วน

 

รู้จัก ‘ปลาหมอคางดำ’ เหตุใดทำชาวประมงเดือดร้อน

 

ปลาหมอคางดำมีต้นกำเนิดในทวีปแอฟริกา โดยต่อมามีการนำเข้าโดยหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย และเป็นปลาที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยทุกรูปแบบ สามารถอาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย

 

นอกจากนี้ ปลาหมอคางดำยังมีความต้องการอาหารตลอดเวลา และมีความสามารถในการแพร่พันธุ์ที่รวดเร็ว โดยขยายพันธุ์ได้ในทุกๆ 22 วัน การแพร่กระจายของปลาชนิดนี้จึงเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศ เพราะส่งผลให้สัตว์น้ำชนิดอื่นๆ ถูกกินจนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และกระทบต่อการทำอาชีพของชาวประมงในพื้นที่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising