×

วันชาติสหรัฐฯ ประวัติศาสตร์การเพรียกหา ‘ผู้แทนราษฎร’

08.07.2024
  • LOADING...

นัยของวันชาติ

 

เชื่อว่าหลายคนยังจำบทความสุดท้ายของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่เขียนก่อนล่วงลับได้ นั่นคือบทความชื่อ ‘วันชาติ’ ซึ่งเผยแพร่ออกมาในช่วงเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว

 

บทความดังกล่าวได้จุดประเด็นให้ผู้คนในสังคมไทยได้ขบคิดเกี่ยวกับการสถาปนาวันชาติ

 

เนื่องจากเพิ่งผ่านวันที่ 4 กรกฎาคม ซึ่งถือว่าเป็น ‘วันชาติของสหรัฐอเมริกา’ มาไม่นาน ผู้เขียนจึงขอเสนอที่มาและมุมมองเกี่ยวกับความสำคัญของวันดังกล่าวให้เป็นที่ทราบว่า สหรัฐอเมริกากำหนดวันชาติจากวันที่ ‘ประกาศอิสรภาพ’

 

ข้อนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะเหตุว่า สหรัฐอเมริกาไม่ได้ใช้ ‘วันกำเนิดประเทศ’ เป็นวันชาติ แต่เลือกที่จะใช้วันที่มีการสื่อสารต่อสาธารณะว่าประเทศของตนได้กำเนิดขึ้นเป็นอิสระจากเจ้าอาณานิคมเดิมอย่างอังกฤษแล้วเป็นสำคัญ

 

แม้ในทางข้อเท็จจริง วันกำเนิดประเทศเกิดขึ้นก่อนหน้าวันประกาศอิสรภาพเพียง 2 วัน กล่าวคือ ในวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 สภาแห่งภาคพื้นทวีป (The Continental Congress) ที่ซึ่งเป็นสภาที่ประชุมของผู้แทน 13 อาณานิคมได้ลงมติแยกเป็นอิสระจากอังกฤษ

 

จุดเริ่มต้นจากการขยายดินแดน

 

สหรัฐอเมริกาในวันนี้มีที่มาย้อนกลับไปในทางประวัติศาสตร์ได้หลายร้อยปี โดยเริ่มแรกเกิดขึ้นจากการขยายอำนาจในทางทะเลช่วงศตวรรษที่ 15-16 ของบรรดาประเทศต่างๆ ในภาคพื้นยุโรป ซึ่งเสาะแสวงหาทรัพยากรและความมั่งคั่งทางการค้าพาณิชย์

 

การไปถึงทวีปอเมริกาโดยสเปน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลในขณะนั้น นำพาอีกหลายชาติในยุโรปเข้าไปเป็นระลอก จากนั้นดินแดนใหม่ก็เริ่มมีการลงหลักปักฐาน กล่าวเฉพาะการตั้งฐานที่มั่นทางการค้าและการอยู่อาศัยของอังกฤษ พบว่ากลุ่มชาวอังกฤษได้เข้ามาสร้างชุมชนชื่อว่าเมืองเจมส์ทาวน์ (Jamestown) ซึ่งก่อตั้งโดยเรี่ยวแรงของบริษัทอังกฤษชื่อ The Virginia Company of London เมื่อปี ค.ศ. 1607 (พ.ศ. 2150 สมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ) อาจกล่าวได้ว่า เมืองเริ่มต้นจากกลุ่มทุน

 

ดินแดนใหม่ได้พัฒนาและก่อร่างสร้างตัวเองเรื่อยๆ จากความมั่งคั่งทางการค้า ผลประโยชน์ และทรัพยากร เป็นพื้นที่รองรับความรุ่งเรืองของอังกฤษปลายยุคเรเนสซองส์ (Renaissance) และยิ่งมีความสำคัญมากเมื่อดินแดนใหม่ค่อยๆ กลายมามีสถานะเป็น ‘อาณานิคม’ ที่หมายถึงดินแดนภายใต้อำนาจและเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอังกฤษ ในจังหวะที่อังกฤษเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงศตวรรษที่ 17 โดยที่อังกฤษก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้นำแห่งยุคสมัย

 

อาณานิคมของอังกฤษจึง ‘เนื้อหอม’ ทั้งต่ออังกฤษเองและประเทศร่วมค้าในเวลานั้น ในที่สุดจอร์เจีย ซึ่งเป็นอาณานิคมแห่งสุดท้าย คือแห่งที่ 13 ได้ตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1733 (พ.ศ. 2276 สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ)

 

คำถามต่อการมีผู้แทน

 

ในขณะที่อังกฤษมีอาณานิคมทั้ง 13 แห่งในทวีปใหม่ ก็ใช่ว่าวิถีทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับชาติอื่นๆ จะราบรื่น การช่วงชิงอำนาจและทรัพยากรเหนือทวีปใหม่ของอังกฤษและฝรั่งเศสในเวลานั้นนำไปสู่ความขัดแย้งจนถึงระดับสงครามของสองประเทศในพื้นที่ดังกล่าวที่ไกลจากเมืองหลวงของอาณาจักรทั้งสอง สงครามเริ่มต้นในช่วง ค.ศ. 1754-1763 (พ.ศ. 2297-2306) จบลงด้วยชัยชนะของอังกฤษ

 

ชัยชนะครั้งนั้นทำให้อังกฤษได้จัดการกับคู่แข่งสำคัญอย่างฝรั่งเศส ในขณะเดียวกันก็กระชับอำนาจเหนือดินแดนอาณานิคม

 

อาณานิคมอังกฤษสงบหลังสงครามไม่ทันไร ในปี ค.ศ. 1765 (พ.ศ. 2308 ก่อนเสียกรุงครั้งที่สองราว 2 ปี) รัฐสภาอังกฤษตรากฎหมายเรียกเก็บภาษีจากสินค้าและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนหลายรายการ เพื่อนำรายได้จากการเก็บภาษีในดินแดนอาณานิคมนำส่งกลับไปสู่คลังที่ประเทศอังกฤษ และนำไปใช้สอยโดยรัฐบาลอังกฤษที่ขณะนั้นกำลังขยายอำนาจไปในโพ้นทะเล พระราชบัญญัติแสตมป์ ค.ศ. 1765 (The Stamp Act 1765) เป็นกฎหมายภาษีที่ขึ้นชื่อในเวลานั้น เพราะส่งผลให้ชาวอาณานิคมขุ่นข้อง เนื่องจากแม้กระทั่งกระดาษเอกสารทั่วไปก็ไม่วายต้องถูกเรียกเก็บภาษี และกฎหมายดังกล่าวก็เป็นชนวนที่นำไปสู่การประท้วงของชาวอาณานิคม

 

หลักใหญ่ของการประท้วงที่ชาวอาณานิคมแสดงความเห็นไปยังรัฐบาลและรัฐสภาอังกฤษคือ ‘ไม่มีภาษี ถ้าไม่มีผู้แทน’ (No Taxation Without Representation) วลีดังกล่าวเป็นที่คุ้นหูของคนทั่วโลกในปัจจุบัน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากการขูดรีดภาษีผู้คนในดินแดนอาณานิคมที่พวกเขาในดินแดนนั้นไม่มีผู้แทนของตนเองสักคนเดียวนั่งอยู่ในรัฐสภา

 

การเรียกร้องบนฐานคิดดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สองร้อยกว่าปีที่แล้ว ผู้คนในอาณานิคมมีสำนึกเรื่องความยุติธรรมในระบบการปกครองบ้านเมือง โดยมองว่า ในขณะที่พวกตนสร้างความมั่งคั่งให้กับประเทศจากการค้า การลงทุน และทรัพยากรที่มีมูลค่ามากให้แก่มาตุภูมิ แต่มาตุภูมิกลับเอาประโยชน์ไว้เพียงฝ่ายเดียว ร้ายกว่านั้นคือไม่เปิดโอกาสที่จะให้มีผู้แทนของพวกตนเข้าไปร่วมพิจารณาและตัดสินใจออกกฎหมาย รวมถึงการบริหารปกครองประเทศในภาพรวม

 

เหตุการณ์ประท้วงครั้งสำคัญในมูลเหตุว่าด้วย ‘ไม่มีภาษี ถ้าไม่มีผู้แทน’ คือการที่ชาวอาณานิคมแมสซาชูเซตส์แห่ขึ้นไปบนเรือสินค้าของอังกฤษแล้วทุ่มลังบรรจุใบชาทิ้งลงทะเลตรงอ่าวบอสตัน เพื่อตอบโต้การจัดเก็บภาษีโดยไม่เป็นธรรมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1773 (พ.ศ. 2316 สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) เหตุการณ์ครั้งนั้นมีชื่อว่า Boston Tea Party

 

หลังจากนั้นรัฐสภาอังกฤษ (ซึ่งไม่มีผู้แทนราษฎรชาวอาณานิคมอยู่ในนั้น) ได้ตอบโต้การประท้วงที่เรียกร้องผู้แทนในรัฐสภาด้วยการตราพระราชบัญญัติชื่อ The Intolerable Acts 1774 (พ.ศ. 2317) กฎหมายฉบับนั้นบัญญัติให้การปกครองภายในท้องถิ่นของอาณานิคมแมสซาชูเซตส์เป็นอันสิ้นสุดลงและให้ยุติการค้าที่บอสตัน

 

ทว่าชาวอาณานิคมไม่ยอมจำนน การประชุมผู้แทนชาวอาณานิคมเกิดขึ้นทันที เรียกได้ว่าเกิดการก่อรูปของสภาแห่งภาคพื้นทวีป (The Continental Congress) ที่เริ่มประชุมกันครั้งแรกที่ฟิลาเดลเฟียในวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ. 1774 เพื่อตัดสินใจยืนหยัดต่อสู้กับอังกฤษ ซึ่งก็นำไปสู่จุดเริ่มต้นของสงครามปฏิวัติอเมริกัน (American Revolutionary War) ในวันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 1775 อันเป็นสงครามระหว่างอังกฤษและสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2318 ตรงกับช่วงเวลาที่มีการรบพุ่งเพื่อผนึกความมั่นคงของอาณาจักรธนบุรี)

 

หลังจากนั้นบรรดา 13 อาณานิคมได้มาประชุมกันในนามสภาแห่งภาคพื้นทวีปอีกครั้ง หนนี้มีมติเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 (พ.ศ. 2319) แยกตัวเป็นประเทศออกจากอังกฤษ และต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 ได้มีมติออกประกาศอิสรภาพ (The Declaration of Independence) ซึ่งมี โทมัส เจฟเฟอร์สัน เป็นผู้นำในทีมยกร่าง เนื้อความในประกาศดังกล่าวมีถ้อยแถลงถึงสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียมของมนุษย์ และความคับแค้นใจต่อการอยู่ใต้อำนาจการปกครองที่ไม่ยุติธรรม บทส่งท้าย

 

เมื่อมองลึกลงไปในวันชาติของสหรัฐอเมริกา จะเห็นได้ว่ามีจุดเริ่มต้นจากการตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมในการปกครอง อันเนื่องมาจากการที่ไม่มีผู้แทนราษฎรครอบคลุมทั่วถึงผู้คนทั้งหมดที่เป็นพลเมืองในประเทศอย่างแท้จริง วลีสั้นๆ อย่าง ‘ไม่มีภาษี ถ้าไม่มีผู้แทน’ นั้นมีฤทธิ์เดชมากกว่าเป็นเพียงข้อความ หากแต่เป็นอุดมการณ์ที่มีผลถึงขนาดเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองและสร้างประเทศใหม่ขึ้นมาให้เห็นควันหลงจากวันชาติของสหรัฐอเมริกา

 

ทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงเหตุการณ์ที่ประเทศไทยเพิ่งได้ สว. ชุดใหม่เมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า สังคมไทยยังต้องเผชิญกับปัญหาความชอบธรรมทางประชาธิปไตยในเรื่อง สว. เพราะข้อกังขาเกี่ยวกับการเป็นผู้แทนปวงชนอย่างแท้จริงของ สว. ชุดนี้ (และรวมถึงอีกหลายชุดที่ผ่านมาในอดีตด้วย)

 

ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกาบอกเราว่า แม้จะประกาศอิสรภาพไปแล้วในวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 ก็ไม่ได้หมายความว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะและสงครามยุติลงโดยสงบทันที หากแต่สงครามยังดำเนินต่อไปอีกหลายปีจนกระทั่งจบลงในปี ค.ศ. 1783 (พ.ศ. 2326 ตั้งกรุงรัตนโกสินทร์แล้วไม่นาน) ซึ่งเป็นอุทาหรณ์ให้ตระหนักว่าการประกาศอิสรภาพดังกล่าวคือการตัดสินใจแถลงเจตจำนงของผู้คนท่ามกลางสงครามซึ่งยังไม่รู้จุดจบว่าจะเป็นเช่นไร นับว่าเป็นความกล้าหาญของผู้คนที่เปี่ยมอุดมการณ์ในครั้งนั้น

 

ผ่านมาสองร้อยกว่าปีนับแต่แนวคิดต่อต้านการไม่มีผู้แทนในรัฐสภาเกิดขึ้นในดินแดนอาณานิคมอังกฤษ สังคมไทยยังไปไม่พ้นจากปัญหาว่าตกลงแล้วสมาชิกในรัฐสภาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยที่แท้จริงหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยในปัจจุบันกำลังเพรียกหาผู้แทนปวงชนที่แท้จริง และพร้อมที่จะช่วยกันประกาศอิสรภาพทางความคิด แม้จะอยู่ท่ามกลางระบบหรือกลไกที่เป็นประเด็นอยู่นี้ก็ตาม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X