×

พรรคสุเทพ: ทางเลือกเก่าสู่อนาคตที่มืดมน

05.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • โดยปกติแล้วพรรคการเมืองควรเป็นการรวมตัวของบุคคล ซึ่งเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่ด้วยภูมิหลังของผู้ก่อตั้งที่ไม่ได้มีบทบาทสนับสนุนประชาธิปไตย คำถามมีอยู่ว่า คุณสุเทพก่อตั้งพรรคนี้เพื่ออะไร และอะไรคือยุทธวิธีของพรรคนี้
  • รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่าง คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ตั้งข้อสังเกตไว้แหลมคมว่า คุณสุเทพตั้งพรรคเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง แต่โดยปกติแล้วพรรคจะเป็นที่มาของอำนาจก็โดยสามเงื่อนไขเท่านั้น หนึ่งคือมีจำนวน ส.ส. มากในสภา สองคือมีผู้มีบารมีทางการเมืองสังกัด และสามคือพรรคเล่นการเมืองมวลชน
  • ไม่ควรมีใครถูกกีดกันการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพราะเคยเคลื่อนไหวมวลชน แต่ในเมื่อคนเหล่านี้เคยมีบทบาทล้มล้างประชาธิปไตยมาแล้วสองครั้ง พรรคที่หนาแน่นไปด้วยบุคคลแบบนี้จึงไม่ปกติ

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคลของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

คุณสุเทพไม่ใช่นักการเมือง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ว่าทำเพื่อประชาธิปไตย และไม่ว่าคุณสุเทพจะปั้นแต่งเหตุผลเรื่องการขัดขวางการเลือกตั้งปี 2557 อย่างไร การตั้งม็อบแล้วปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งจนถึงขั้นทำร้ายผู้ใช้สิทธิ์ลงคะแนนไม่ใช่พฤติกรรมประชาธิปไตยแน่ๆ ต่อให้ผู้ติดตามคุณสุเทพจะบอกตัวเองอีกแบบก็ตาม

 

นอกจากจะปลุกระดมมวลชนให้ประทุษร้ายพลเมืองผู้ใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย คุณสุเทพยังสนับสนุนให้หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกฯ ไม่หยุด ยิ่งกว่านั้น คือคุณสุเทพสารภาพกับบางกอกโพสต์ว่าคุยกับ พล.อ. ประยุทธ์ ตั้งแต่ก่อนยึดอำนาจว่ากองทัพจะรับช่วงจาก กปปส. ที่ม็อบยึดกรุงเทพฯ แล้วครึ่งปี

 

ตามคำให้การของคุณสุเทพในโอกาสที่ พล.อ. ประยุทธ์ ใช้กำลังยึดอำนาจครบเดือนในวันที่ 23 มิถุนายน 2557 คุณสุเทพไม่เพียงมีบทบาทรวบรวมผู้คนให้ละเมิดสิทธิเลือกตั้งของประชาชนส่วนใหญ่ แต่คุณสุเทพยังสื่อให้เห็นว่ารู้เห็นกับรัฐประหารตั้งแต่ก่อนเกิดขึ้น รวมทั้งสนับสนุนนายกฯ จากการยึดอำนาจมาตลอดเวลา

 

ต่อให้มองข้ามเรื่องที่คุณสุเทพไม่เคยปกป้องประชาชนผู้ถูกละเมิดสิทธิตลอด 4 ปีตั้งแต่ห้ามชุมนุม, สื่อถูกปิด, คนเห็นต่างถูกจับ, ดำเนินคดีพรรคที่วิจารณ์รัฐบาล, ทหารอุ้มชาวสวนยางไม่ให้ประท้วงยางราคาตก ฯลฯ บทบาทคุณสุเทพหลังปี 2557 ก็ไม่มีตรงไหนเกื้อกูลการเติบโตของประชาธิปไตยแม้แต่นิดเดียว

ขณะที่ พล.ต. สนั่น ทำให้คุณชวนได้เป็นนายกฯ เพราะพรรคชนะเลือกตั้งหนึ่งครั้ง และอีกครั้งแพ้พรรคอื่นแค่ 2 ที่นั่ง คุณสุเทพกลับทำให้พรรคได้ ส.ส. ต่ำกว่าพรรคพลังประชาชนที่ถูกคณะรัฐประหารปี 2549 เล่นงานทุกด้าน 68 เสียง ซ้ำการเลือกตั้งครั้งถัดไปก็ได้ ส.ส. ลดลงไปอีก 106 ทั้งที่ตัวเองเป็นรัฐบาล

โดยปกติแล้วพรรคการเมืองควรเป็นการรวมตัวของบุคคลซึ่งเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่ด้วยภูมิหลังของผู้ก่อตั้งที่ไม่ได้มีบทบาทสนับสนุนประชาธิปไตยมาเกือบครึ่งทศวรรษ คำถามมีอยู่ว่าคุณสุเทพก่อตั้งพรรคนี้เพื่ออะไร และอะไรคือยุทธวิธีของพรรคนี้ในการสืบทอดภารกิจที่คุณสุเทพทำตลอดมา 5 ปี

 

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อย่าง คุณนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ตั้งข้อสังเกตไว้แหลมคมว่า คุณสุเทพตั้งพรรคเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง แต่โดยปกติแล้วพรรคจะเป็นที่มาของอำนาจก็โดยสามเงื่อนไขเท่านั้น หนึ่งคือมีจำนวน ส.ส. มากในสภา สองคือมีผู้มีบารมีทางการเมืองสังกัด และสามคือพรรคเล่นการเมืองมวลชน

 

เริ่มต้นที่เรื่องจำนวน ส.ส. ในสภา การสำรวจความเห็นประชาชนหลายครั้งให้ผลตรงกันว่า การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการแข่งขันของสองพรรคใหญ่อย่างที่เป็นมาเกือบ 20 ปี หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 นั่นคือเป็นการพิสูจน์ความนิยมระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ซึ่งในอดีตคือไทยรักไทยและพลังประชาชน

 

ภายใต้การแบ่งขั้วทางการเมืองที่เหนียวแน่นมาเกือบ 20 ปี พรรคคุณสุเทพไม่มีทางมี ส.ส. ในสภาเทียบเท่าสองพรรคใหญ่ได้แน่ๆ ไม่แม้แต่จะเทียบได้กับพรรคขนาดกลางที่มีคะแนนนิยมในพื้นที่เหนียวแน่นอย่างภูมิใจไทยของคุณเนวินและชาติไทยพัฒนา ต่อให้วันนี้คุณบรรหารจะไม่อยู่เป็นผู้นำพรรคแล้วก็ตาม

 

คุณสุเทพทำพรรคโดยมีฐาน ส.ส. หนึ่งคนคือน้องตัวเอง และต่อให้คุณสุเทพจะดำเนินการดูดนักการเมืองเก่าแค่ไหน พรรคนี้ก็ไม่มีทางมีพลังดูดเท่าพรรคประชารัฐที่มีทั้งคุณสมคิดและงบรัฐบาลสนับสนุนไปได้ ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นในพรรคที่ก็ไม่ได้มีเครือข่ายพอจะดูดนักการเมืองสายที่นิยมการถูกดูดได้เหมือนกัน

 

ในเมื่อไม่มีทางที่นักการเมืองเกรดเอจะย้ายจากเพื่อไทย, ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ มาอยู่กับพรรคคุณสุเทพ คุณสุเทพจึงไม่มีทางสร้างอำนาจต่อรองด้วยจำนวน ส.ส. ที่ประชาชนเลือกเข้าสภา

 

มองในแง่การดึงผู้มีบารมีทางการเมืองร่วมงาน แม้คุณสุเทพจะสร้างม็อบขัดขวางการเลือกตั้งและยึดกรุงเทพฯ ปี 2557 จนสร้างวิกฤตให้ทหารยึดอำนาจสำเร็จ คนแต่ละกลุ่มก็ร่วมชุมนุมกับคุณสุเทพด้วยเหตุที่ต่างกัน ความเชื่อว่าคนจะลงคะแนนให้พรรคเพราะคุณสุเทพเคยนำม็อบจึงเป็นมโนภาพที่ไกลเกินจริง

 

แม้ในเวลาที่คุณสุเทพมีตำแหน่งเลขาพรรคประชาธิปัตย์เป็นอาภรณ์ คุณสุเทพก็ไม่ใช่คนที่เชิญชวนนักการเมืองและผู้มีชื่อเสียงให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคได้มากนัก คุณสุเทพในฐานะเลขาฯ มีบารมีน้อยกว่าอดีตเลขาฯ อย่าง พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ อย่างเทียบไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงผลงานการเมืองที่ห่างชั้นกันไกล

 

ขณะที่ พล.ต. สนั่น ทำให้คุณชวนได้เป็นนายกฯ เพราะพรรคชนะเลือกตั้งหนึ่งครั้ง และอีกครั้งแพ้พรรคอื่นแค่ 2 ที่นั่ง คุณสุเทพกลับทำให้พรรคได้ ส.ส. ต่ำกว่าพรรคพลังประชาชนที่ถูกคณะรัฐประหารปี 2549 เล่นงานทุกด้าน 68 เสียง ซ้ำการเลือกตั้งครั้งถัดไปก็ได้ ส.ส. ลดลงไปอีก 106 ทั้งที่ตัวเองเป็นรัฐบาล

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของคุณสุเทพและพรรคแบบนี้ ทางเดียวที่คุณสุเทพจะทำพรรคเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองอย่างที่คุณนิพิฏฐ์กล่าวไว้คือการใช้พรรคปลุกระดมมวลชนอย่างที่เคยทำ กปปส. จากนั้นก็สร้างสถานการณ์การเมืองให้การเลือกนายกฯ เกิดทางตันแล้วหนุน ‘นายกฯ คนนอก’ ที่เครือข่ายนี้ต้องการ

ในแง่ความยอมรับทางการเมือง ประชาธิปัตย์ที่คุณชวนเป็นหัวหน้าและคุณสนั่นเป็นเลขาฯ สามารถรวบรวมคนระดับคุณศุภชัย พานิชภักดิ์, คุณบุญชู โรจนเสถียร, คุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์, คุณสาวิตต์ โพธิวิหค, ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ฯลฯ ให้เข้าพรรค ขณะที่คุณสุเทพทำให้เป็นยุคทองของคุณมัลลิกาและคุณสกลธี

 

พูดให้เห็นภาพขึ้น ประชาธิปัตย์ยุคก่อนคุณสุเทพเป็นที่นับถือจนมีผู้สมัคร ส.ส. เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารทหารไทย, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารไทยพาณิชย์, เลขาฯ BOI และอาจารย์สายประชาธิปไตยจากรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนประชาธิปัตย์ยุคคุณสุเทพไม่สามารถดึงดูดคนที่มีศักยภาพแบบนั้นได้แม้แต่นิดเดียว

 

ทั้งที่คุณสุเทพเป็นเลขาฯ พรรคภายใต้ความได้เปรียบจากรัฐประหาร 2549 คุณสุเทพกลับไม่เคยทำอะไรให้พรรคสำเร็จเท่าคุณชวนและคุณสนั่น นักการเมืองกลุ่มเดียวที่คุณสุเทพดึงมาได้คือเครือข่ายคุณเนวินจากไทยรักไทย แต่คุณเนวินก็ไม่ได้มาเพราะคุณสุเทพเท่าความต้องการร่วมรัฐบาลที่ทหารอยู่เบื้องหลังอยู่ดี

 

ในเมื่อคุณสุเทพที่เป็นเลขาฯ พรรคใหญ่ทำผลงานได้แค่นี้ คุณสุเทพในวันที่เป็นอดีตแกนนำม็อบขวางเลือกตั้ง ซึ่งมีคดีเยอะไปหมด ย่อมไม่มีทางดึงนักการเมืองหน้าเก่าหรือผู้มีชื่อเสียงหน้าใหม่ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ

 

น่าสังเกตว่าพรรคคุณสุเทพเปิดตัวที่มหาวิทยาลัยรังสิตด้วยคนหน้าเก่าในวงการการเมืองหลายคน และถึงแม้บางคนจะเป็นที่นับถือในคนกลุ่มเดียวกัน สังคมก็ไม่รู้จักคนเหล่านี้พอจะสร้างคะแนนนิยมให้พรรคเป็นกอบเป็นกำได้ คุณสุเทพจึงไม่มีทางสร้างอำนาจต่อรองได้ หากอาศัยแต่คนหน้าเก่าที่มีชื่อไม่กี่คน

 

ในบรรดาคนหน้าเก่าซึ่งเปิดตัวกับพรรคสุเทพในวันที่ 3 มิถุนายน ม.ร.ว.จัตุมงคล กับ อ.เอนก เป็นคนซึ่งสังคมรู้จักมากที่สุด ท่านแรกเป็นอดีตปลัดกระทรวงการคลังซึ่งต่อมานายกฯ บรรหารตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในปี 2539 ส่วนอีกท่านเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลายชุดที่รัฐบาลคณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นมา

 

แน่นอนว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล เป็นที่ยอมรับในแง่ความเฉียบแหลมด้านการคลังและการพัฒนา ไม่ต้องพูดถึงบทบาทท่านเมื่อเป็นข้าราชการผู้น้อยที่ปกป้องผลประโยชน์ประเทศเยอะมาก เช่นเดียวกับการเขียนหนังสือ ‘สดุดีคนอื่น’ ที่แสดงคุณธรรมแห่งการให้เกียรติผู้อยู่เบื้องหลังโครงการขนาดใหญ่อันแสนจับใจ

 

ไม่ว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล จะเป็นที่เชื่อถือในคนที่เคยร่วมงานกับท่านแค่ไหน ข้อเท็จจริงคือคนทั่วไปรู้จักท่านน้อยจนคุณสุเทพได้คะแนนจากท่านไม่ได้แน่ๆ และที่จริงท่านหมดบทบาทสาธารณะไปเมื่อถูกคุณทักษิณปลดจากผู้ว่าธนาคารชาติในปี 2544 ซึ่งเท่ากับไม่มีใครมีโอกาสรู้ว่าท่านคือใครและทำอะไรมาเกือบ 20 ปี

 

นอกจากจะไม่ได้คะแนนจาก ม.ร.ว. ผู้น่านับถือที่ไม่เคยรับตำแหน่งหลังรัฐประหารแบบคนระดับท่านบางราย คุณสุเทพก็ยากจะได้คะแนนเป็นกอบเป็นกำจากอดีตนักวิชาการอย่าง อ.เอนก ที่มีภาพว่าถูกรัฐบาลทหารตั้งให้เป็นประธานโน่นนี่เยอะไปหมด รวมทั้งตำแหน่งในสภาปฏิรูปซึ่งสังคมมองว่าไม่ได้ทำอะไร

 

จริงอยู่ว่า อ.เอนก เคยเป็นรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าพรรคมหาชน แต่ท่านได้ตำแหน่งทั้งที่ไม่เคยเป็น ส.ส. เพราะใกล้ชิดเลขาฯ พรรคอย่าง พล.ต. สนั่น ซึ่งยิ่งใหญ่จนเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยด้วย ตำแหน่งจึงเป็นผลของการวิ่งเต้นทางการเมืองด้วยเส้นทางลัดยิ่งกว่าแสดงถึงความยอมรับจากประชาชน

 

เมื่อ พล.ต.สนั่น ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเพราะแสดงบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จ อ.เอนก ก็หมดบทบาทในพรรคตามไปด้วย และเมื่อคุณสนั่นตั้งพรรคมหาชนแล้วคนอื่นปฏิเสธคำเชิญเป็นหัวหน้าพรรค อ.เอนก จึงได้ตำแหน่งนี้ในที่สุด ผลก็คือพรรคได้ ส.ส. 2 ที่นั่ง ส่วนตัวเองกับคุณสนั่นสอบตกแบบไร้ราคา

 

อ.เอนก อาจเป็นที่รู้จักในฐานะนักวิชาการดังเมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่การที่ท่านมีตำแหน่งสาธารณะจากความใกล้ชิดกับ ‘ผู้ใหญ่’ ทั้งทหารและพรรคการเมืองก็คือใบเสร็จยืนยันว่าท่านไม่ใช่คนที่มีคะแนนนิยมโดยตัวเองมาตลอด 20 ปีบนเส้นทางการเมืองที่ ‘เครือข่าย’ สำคัญกว่าความนับถือของประชาชน

 

แม้จะระดมเสียงประชาชนเพื่อสร้างความสนับสนุนทางการเมืองไม่ได้ อ.เอนก ก็สำคัญในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์สู่การเชื่อมต่อกับ ‘เครือข่าย’ ที่อยู่เบื้องหลังพรรคคุณสุเทพทั้งหมด เช่นเดียวกับ ม.ร.ว.จัตุมงคล

องค์ประกอบในพรรคคุณสุเทพทำให้พรรคนี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง แต่ความพ่ายแพ้ไม่ใช่ปัญหาของพรรคที่ตั้งเพื่อสร้างสถานการณ์เป็นหลัก เพราะมีแต่วิธีนี้ที่พรรคซึ่งคะแนนเสียงต่ำจะมีอำนาจต่อรองสูงจนผลักดันให้นายกฯ ที่ประชาชนไม่ได้เลือกขึ้นยึดครองประเทศตามที่พลังเบื้องหลังเครือข่ายนี้ต้องการ

ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของคุณสุเทพและพรรคแบบนี้ ทางเดียวที่คุณสุเทพจะทำพรรคเพื่อสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองอย่างที่คุณนิพิฏฐ์กล่าวไว้คือการใช้พรรคปลุกระดมมวลชนอย่างที่เคยทำ กปปส. จากนั้นก็สร้างสถานการณ์การเมืองให้การเลือกนายกฯ เกิดทางตันแล้วหนุน ‘นายกฯ คนนอก’ ที่เครือข่ายนี้ต้องการ

 

เห็นได้ชัดว่ายุทธศาสตร์คุณสุเทพจะประสบความสำเร็จได้ด้วยเงื่อนไขสองข้อ ข้อแรกคือการใช้พรรคเป็นกลไกสร้างขบวนการแบบพันธมิตรและ กปปส. ข้อสองคือการแย่งชิง ส.ส. จากพรรคใหญ่มาสนับสนุนคุณสุเทพแบบที่เคยวิ่งราวกลุ่มคุณเนวินจากไทยรักไทยมาหนุนคุณอภิสิทธิ์ตั้งรัฐบาล

 

เฉพาะในเรื่องแรก อ.เอนก ได้ประกาศในวันเปิดตัวพรรคแล้วว่าจะตั้ง ‘โรงเรียนการเมือง’ อันเป็นยุทธวิธีที่คุณสุเทพเคยทำ 1 ปีก่อนก่อม็อบ ส่วนเรื่องที่สองก็เป็นเรื่องที่ประชาธิปัตย์ต้องจัดการว่าจะทำอย่างไรกับ กปปส. ที่คุณสุเทพทิ้งไว้เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้ยกมือหนุนนายกคนนอกอย่างที่คุณสุเทพต้องการ

 

ภายใต้คนหน้าเก่าซึ่งทำหน้าที่ด้านภาพยิ่งกว่าจะนำมาซึ่งคะแนนเสียง คนกลุ่มใหญ่ในพรรคคุณสุเทพได้แก่นักปราศรัยและนักจัดม็อบที่เคยยึดทำเนียบ, ยึดสนามบิน, ล้มเลือกตั้ง ฯลฯ จนเกิดรัฐประหาร 2549 และ 2557 จนกล่าวได้ว่าบุคลากรที่ชำนาญการปลุกเร้ามวลชนเพื่อสร้างวิกฤตคือพลังของพรรคที่แท้จริง

 

ไม่เพียงพรรคคุณสุเทพจะเป็นที่รวมของผู้มีบทบาทระดมมวลชนอย่างคุณสุริยะใส, อดีต ส.ว. จากการแต่งตั้งอย่าง คุณประสาร มฤคพิทักษ์ หรือพิธีกรรายการ เดินหน้าประเทศไทย แม้แต่ทีมโฆษกหรือคณะทำงานของพรรคคุณสุเทพก็ประกอบด้วยนักปราศรัยบนเวทีขัดขวางการเลือกตั้งในปี 2557 หลายรายด้วยเช่นกัน

 

ไม่ควรมีใครถูกกีดกันการมีส่วนร่วมทางการเมืองเพราะเคยเคลื่อนไหวมวลชน แต่ในเมื่อคนเหล่านี้เคยมีบทบาทล้มล้างประชาธิปไตยมาแล้วสองครั้ง พรรคที่หนาแน่นไปด้วยบุคคลแบบนี้จึงไม่ปกติ เพราะเป็นสัญญาณของการตั้งพรรคโดยไม่หวังผลด้านเลือกตั้งเท่าการบีบประเทศสู่ระบบปฏิปักษ์ประชาธิปไตย

 

องค์ประกอบในพรรคคุณสุเทพทำให้พรรคนี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง แต่ความพ่ายแพ้ไม่ใช่ปัญหาของพรรคที่ตั้งเพื่อสร้างสถานการณ์เป็นหลัก เพราะมีแต่วิธีนี้ที่พรรคซึ่งคะแนนเสียงต่ำจะมีอำนาจต่อรองสูงจนผลักดันให้นายกฯ ที่ประชาชนไม่ได้เลือกขึ้นยึดครองประเทศตามที่พลังเบื้องหลังเครือข่ายนี้ต้องการ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising