ผลการศึกษาโดย TransUnion ซึ่งสำรวจสถานการณ์ทางการเงินของแรงงาน Gen Z ที่อยู่ในช่วงวัย 22-24 ปี ด้วยการพิจารณาจากข้อมูลเครดิต พบว่า Gen Z สร้างรายได้ได้น้อยกว่าคนรุ่น Millennial ที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
โดยตัวเลข ณ ไตรมาส 4 ปี 2023 Gen Z มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 45,493 ดอลลาร์ ซึ่งตัวเลขรายได้ดังกล่าวยังได้น้อยกว่าคนรุ่น Millennial ในช่วงอายุเท่ากันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว โดยคนรุ่น Millennial ทำเงินได้ 51,825 ดอลลาร์ ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้สำหรับ Gen Z นั้นสูงกว่าคนรุ่น Millennial ถึง 4% โดยอยู่ที่ 16.05% เมื่อเทียบกับคนรุ่น Millennial ที่ 11.76%
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น TransUnion อธิบายว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ Gen Z ซึ่งหมายถึงผู้ที่เกิดระหว่างปี 1995-2012 เป็นวัยที่เข้าสู่ช่วงที่เศรษฐกิจมีอัตราเงินเฟ้อสูง โดยอัตราเงินเฟ้อสะสมเพิ่มขึ้น 32% นับตั้งแต่ปี 2013
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในเดือนมิถุนายน 2022 เมื่อดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐอเมริกาพุ่งขึ้น 9.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นที่เร็วที่สุดในรอบ 41 ปี โดยในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ Gen Z ส่วนใหญ่เริ่มเข้าสู่ตลาดงาน และอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง แม้จะมีการดำเนินนโยบายสู้เงินเฟ้อของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยราคาผู้บริโภคที่ไม่รวมอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นที่ 4.5% ต่อปีในไตรมาสแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งหมดกลายเป็นแรงกดดันต่อรายได้ของ Gen Z โดยในระหว่างการสำรวจของ TransUnion พบว่า 14% ของ Gen Z ระบุว่า รู้สึก “เครียดอย่างมาก” เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเงินของตนเอง ขณะที่คนรุ่น Millennial ที่อยู่ในช่วงวัยเดียวกันเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีความเครียดในลักษณะดังกล่าวเพียง 8%
ขณะเดียวกันมีเพียง 8% ของ Gen Z เท่านั้นที่รู้สึกมั่นใจกับสถานการณ์ทางการเงินของตนเอง เทียบกับคนรุ่น Millennial ซึ่งอยู่ที่ 13%
ความรู้สึกของ Gen Z ยังสอดคล้องกับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ในเวลานี้ โดยการสำรวจผู้บริโภคของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ซึ่งเป็นดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ถูกจับตามองอย่างมาก ปรับตัวดิ่งลงอย่างแรงถึง 13% ในเดือนพฤษภาคม แตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 6 เดือน ถือเป็นสัญญาณว่าอัตราเงินเฟ้อกำลังกดดันผู้บริโภคอีกครั้ง
นอกจากนี้ รายงานยังพบอีกว่า เพื่อเติมเต็มช่องว่างทางการเงินและคลายแรงกดดัน คนรุ่นใหม่จึงพึ่งพาบัตรเครดิตมากกว่าคนรุ่น Millennial เมื่ออายุเท่าๆ กัน โดยข้อมูลของ TransUnion พบว่า 84% ของผู้ที่มีอายุ 22-24 ปี มีบัตรเครดิตอเนกประสงค์อย่างน้อย 1 ใบในช่วงไตรมาส 4 ปี 2023 เทียบกับเพียง 61% ของผู้ที่มีอายุ 22-24 ปีในไตรมาสเดียวกันของช่วง 10 ปีที่แล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถาม Gen Z ยังจัดอันดับให้บัตรเครดิตเป็นผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีประโยชน์มากที่สุด เพิ่มขึ้นจาก 29% ของคนรุ่น Millennial ในปี 2013
Jason Laky รองประธานบริหาร และหัวหน้าฝ่ายบริการทางการเงินของ TransUnion กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ค่าครองชีพสูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับทศวรรษที่แล้ว ผู้บริโภคอายุน้อยหันมาใช้ผลิตภัณฑ์สินเชื่อมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของตนเอง โดย Gen Z คือกลุ่มประชากรที่มีอายุน้อยและใหม่มากสำหรับแรงงาน ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าจะได้รับเงินเดือนที่ต่ำกว่าในช่วงเริ่มต้นในอาชีพการงาน ซึ่งตราบใดที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงและราคาสินค้ายังคงแพงอยู่เช่นนี้ ยอดสินเชื่อในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล และรถยนต์ ก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตต่อไป
ทั้งนี้ TransUnion ได้สำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีผู้บริโภค Gen Z เข้าร่วมทั้งสิ้น 614 คน และมีคนรุ่น Millennial อีก 623 คน ซึ่งคนรุ่น Millennial หมายถึงผู้ที่เกิดระหว่างปี 1980-1994
อ้างอิง: