×

นับถอยหลัง บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา 7 วิชา ปั้น 3 แสนล้าน

โดย THE STANDARD TEAM
01.07.2024
  • LOADING...

นับถอยหลัง บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา 7 วิชา ปั้น 3 แสนล้าน

 

ฝึกฝนเอง 10 ปี ไม่เท่าปรมาจารย์ชี้แนะ 1 ชั่วยาม

 

ผมใช้เวลากว่าสองชั่วโมงสนทนากับ คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เจ้าของฉายา ‘ราชาเครือสหพัฒน์’ 

 

เขามีบริษัทที่เขาดูแลในเครือมากกว่า 300 บริษัท รวมพนักงานกว่า 1 แสนคน และทำรายได้ต่อปีสูงถึง 3 แสนล้านบาท

 

ยกตัวอย่างธุรกิจที่ทุกคนน่าจะรู้จัก เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า, ขนมปัง Farmhouse, ยาสีฟัน SALZ และ SYSTEMA, ชุดชั้นใน Wacoal, เครื่องสำอาง BSC, Lacoste, โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ ไปจนถึงวิหารกวนอิม อี่ทงเทียนไท้

 

ตลอดการสนทนา เหมือนผมได้เข้าไปอยู่ในถ้ำฝึกวิชาที่กลั่นกรองมา 87 ปี จนได้ออกมาเป็น 7 วิชาที่เขาตั้งใจเตรียมส่งต่อให้จอมยุทธ์รุ่นต่อไป ก่อนวางกระบี่เมื่อตัวเองอายุครบ 88 ปี 8 เดือน 8 วัน ในวันที่ 2 เมษายน 2569

 

วิชาที่ 1: พื้นฐานของวิชาสารพัดค้า

 

 

ก่อนขึ้นมาเป็นราชาสินค้าปัจจัย 4 คุณบุณยสิทธิ์เริ่มเข้าสู่ยุทธจักรการค้าในวัย 17 ปีด้วยตำแหน่งพนักงานคลังสินค้าของบริษัท ‘สหพัฒนพิบูล’ ที่เพิ่งเปลี่ยนจากร้านขายสินค้าเบ็ดเตล็ด เฮียบเซ่งเชียง ในปี 2495

 

ในช่วงเวลานั้นเขาถือว่าอยู่ในตำแหน่งที่เล็กมากๆ ขององค์กร ได้รับเงินเดือนราวเดือนละ 300 บาท แต่กลับกลายเป็นช่วงเวลาสำคัญในการฝึกเดินลมปราณ ‘หลักพื้นฐาน 3 ข้อ’ ที่คนค้าขายจำเป็นต้องรู้ ซึ่งแม้จะเรียบง่าย แต่ล้วนเป็นเสาค้ำที่แข็งแรงจนถึงวันนี้ 

 

  1. ข้อมูล: ถึงแม้วันนั้นโลกจะยังไม่มี Big Data แต่คุณบุณยสิทธิ์ได้ใช้เวลาในโกดังเก็บของเรียนรู้ว่า ‘สินค้า’ ที่เราขายดี-ไม่ดีอย่างไร ทำไมคนถึงต้องซื้อสินค้าของเรา

 

  1. คลังลับ: พ่อค้าที่ดีต้องรู้ว่าจะหาสินค้าได้จากที่ไหน คุณบุณยสิทธิ์ใช้โอกาสจากการปั่นจักรยานส่งของรอบสำเพ็งทำความรู้จักกับ ‘ร้านค้า’ ว่าอยู่ตรงไหน สินค้าไหนขายดี รวมถึงนิสัยใจคอของเจ้าของร้านว่าเป็นอย่างไร

 

  1. คอนเน็กชัน: รู้สินค้าที่คนอยากได้ รู้ว่าจะหาจากไหน แต่จะทำอย่างไรให้ได้เปรียบกว่าคนอื่น คุณบุณยสิทธิ์ใช้โอกาสที่ได้ใกล้ชิดกับเจ้าสำนักคนก่อนอย่าง คุณพ่อเทียม โชควัฒนา เพื่อศึกษาวิธีการ ‘อ่านคน’ ที่จะเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจได้อย่างแม่นยำ 

 

ทั้ง 3 ข้อเป็นตำราพื้นฐานวิชาการค้า ไม่ต่างจากธุรกิจ Distributor ที่ต้องรู้ว่าสินค้าอะไรขายดี (Demand) และรู้ว่าแหล่งที่มา (Supply) ที่มีคุณภาพอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรถึงจะได้เปรียบกว่าคนอื่น

 

วิชาที่ 2: เร็ว ช้า หนัก เบา ฉบับต้นตำรับ

 

6 เดือนต่อมา ดร.เทียม ส่งคุณบุณยสิทธิ์ไปฝึกวรยุทธ์ที่ประเทศญี่ปุ่น นอกจากพัฒนาเรื่องการทำงานแล้ว คุณบุณยสิทธิ์ยังได้ฝึกเล่นหมากล้อม หรือโกะ งานอดิเรกที่ไม่ใช่แค่เล่นเพื่อชิงชัยบนกระดาน แต่สอนให้เขารู้จักการนำกลยุทธ์ ‘เร็ว ช้า หนัก เบา’ มาใช้กับธุรกิจ

 

ผมได้ยินชื่อวิชา ‘เร็ว ช้า หนัก เบา’ มาหลายครั้ง เพราะเป็นวิชาที่นามสกุล ‘โชควัฒนา’ มักจะกล่าวถึงเสมอว่าเป็น The Secret Sauce ของการบริหาร 

 

แต่คุณบุณยสิทธิ์ชวนผมมองลึกซึ้งถึงภาพเส้นตรง 19×19 ที่ลากตัดกันจนกลายเป็น 361 จุดบนกระดานหมากล้อม ทุกจุดนำมาซึ่งความเป็นไปได้ไม่รู้จบ และการตัดสินวางหมากเพียงเม็ดเดียวบนเส้นเหล่านั้น ไม่ว่าจะบุก ป้องกัน จับกิน หรือสร้างพื้นที่ ยังส่งผลต่อการแพ้-ชนะ 

 

ไม่ต่างจากการ ‘การตัดสินใจที่ถูกต้อง’ ในโลกธุรกิจที่มีสมการความสำเร็จ

 

คุณต้องรู้จักวิเคราะห์ภาพรวมทั้งกระดาน วิเคราะห์สถานการณ์ตรงหน้า จัดวางให้เหมาะสมว่าอะไรช้าได้หรือต้องเร็ว แล้วตัดสินใจวางหมากใน ‘จุดสำคัญที่สุด’ 

 

“คุณต้องมองให้ออกว่าเวลานั้นอะไรคือสิ่งสำคัญ และลงมือวางหมากตรงนั้นก่อน”

 

นี่คือกลยุทธ์ที่ทำให้ผมเข้าใจว่าเส้นทางการเติบโตของเครือสหพัฒน์อาจไม่ได้หวือหวาทุกช่วงเวลา แต่ไม่ว่าช่วงไหนของชีวิต เครือสหพัฒน์ก็จะอยู่รายล้อมเราเสมอ

 

วิชาที่ 3: โตแล้วแตก แตกแล้วโต

 

 

หลังกลับจากญี่ปุ่น คุณบุณยสิทธิ์ในวัย 27 ปีตัดสินใจเปิดเกมรุกด้วยการวางหมากในพื้นที่ใหม่ ด้วยการก่อตั้งบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค เน้นกลุ่มสินค้า ‘เครื่องสำอาง’ เพื่อต่อยอดจากธุรกิจเดิม 

 

ท่ามกลางตลาดที่มีผู้เล่นใหญ่คุมเกมอยู่แล้ว คุณบุณยสิทธิ์เริ่มใช้กลยุทธ์อบรมพนักงานขาย Beauty Advisor หรือ BA และสร้างความแตกต่างด้วยการจัดร้านค้าให้หรูหราประหนึ่งลูกค้าเดินเข้าร้านเพชร พร้อมพาแบรนด์บุกตลาดต่างจังหวัดที่มีคู่แข่งน้อยกว่า จนเครื่องสำอาง PIAS สามารถครองส่วนแบ่งอันดับหนึ่งในตลาดตอนปี 2531 

 

แต่การจะหลบยักษ์ไปพื้นที่ห่างไกลย่อมไม่สามารถใช้วิธีเดียวกับการตีเมืองกรุงได้ นั่นจึงทำให้คุณบุณยสิทธิ์ตัดสินใจเลือก BA ที่ต้องเป็นคน ‘พูดภาษาเดียวกับคนซื้อ’ จากเดิมที่จะเลือก BA ด้วยตัวชี้วัดอย่างวุฒิการศึกษา คุณบุณยสิทธิ์ตัดสินใจเลือก BA ด้วยตัวชี้วัดอื่น เน้นคนที่เข้าใจลูกค้า พูดภาษาเดียวกัน และเป็นที่ไว้วางใจของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งช่วยมัดใจลูกค้าได้ง่ายขึ้น

 

พร้อมรุกต่อเนื่องด้วยการจับมือกับบริษัท Wacoal มาเปิดโรงงานผลิตชุดชั้นในคุณภาพ ที่ตอนนั้นราคาตลาดอยู่ที่ประมาณ 20 บาท แต่ Wacoal ขาย 80 บาท ใช้เวลาเพียง 4 ปี ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่ง

 

พอรู้ตัวอีกครั้ง หมากที่วางไว้ก็แผ่ขยายไปทั่วกระดาน กลายเป็น ‘เครือสหพัฒน์’ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน

 

วิชาที่ 4: Big Data, Digital Transformation สู่ GenAI

 

นอกจากชอบเล่นโกะแล้ว คุณบุณยสิทธิ์ยังชอบถอด-ประกอบนาฬิกาและรถยนต์ เพื่อศึกษาการทำงานของเครื่องกลที่เขาสนใจ

 

จากเดิมที่เรียนรู้การสร้าง Big Data จากโกดัง วันนี้เมื่อเทคโนโลยีถึงพร้อมก็ได้เวลาที่คุณบุณยสิทธิ์จะได้เริ่มลงมือสร้าง Big Data ของจริงขึ้นมา 

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 กว่าปีก่อน เขาลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์ 16-bit เพื่อถอด-ประกอบ ศึกษาวิธีการทำงานอยู่ 3 วัน 3 คืน จนกลายเป็นคนแรกๆ ที่นำคอมพิวเตอร์มาใช้ช่วยงานเอกสาร เช่น ออกใบแจ้งหนี้และระบบสื่อสารบริษัทภายในเครือสหพัฒน์ เช่นเดียวกับ Big Data ที่เขาเริ่มศึกษาเพื่อรับมือกับ Digital Transformation ในวันที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึง ประหนึ่งยุคนี้ที่เรากำลังเรียนรู้ Generative AI หรือ GenAI ว่ามันสามารถนำมาใช้จริงในธุรกิจได้อย่างไร 

 

คุณบุณยสิทธิ์เล่าต่อว่า เมื่อก่อน Big Data คือข้อมูลสำคัญที่จะอยู่กับนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจ นักข่าว เหล่าคนวงใน หรือผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ทำให้โอกาสในการเข้าถึงข้อมูลของคนทั่วไปมีไม่มากนัก

 

แต่ตอนนี้มีเทคโนโลยีที่ช่วยจัดเก็บและทำให้เราเข้าถึง Big Data เข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น ไม่ต้องคิดแค่ว่าผลิตสินค้าออกมาแล้วจะดึงคนซื้อคนมาซื้อได้อย่างไร แต่เราเอา Big Data มาใช้วิเคราะห์ว่าคนต้องการสินค้าแบบไหน ไปจนถึงทำนายว่าในอนาคตลูกค้าจะอยากซื้อสินค้าแบบไหนได้จริงๆ 

 

เข้าศึกษาเรื่อง Big Data จนทำให้เกิดธุรกิจอย่างสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ศรีราชา, King’s College International School Bangkok, KingBridge Tower ไปจนถึงวิหารกวนอิม อี่ทงเทียนไท้

 

“สิ่งสำคัญคือคุณต้องโอบรับความเปลี่ยนแปลง เมื่อโลกเปลี่ยนต้องกล้าเรียนรู้ ถอดประกอบสิ่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคยก่อนใคร แล้วคุณจะกลายเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีในวันที่ทุกคนเพิ่งเริ่มต้นเรียนรู้”

 

วิชาที่ 5: ประสบการณ์สำคัญกว่ากำไร

 

ท่ามกลางการย้อนอดีตถอดรหัสหมากล้อมที่เครือสหพัฒน์เคยวางไว้ ผมเริ่มตั้งคำถามว่า แล้วอะไรคือเข็มทิศที่จะทำให้รู้ว่าเราควรบุกพื้นที่ตรงไหนก่อนหรือควรตั้งรับเมื่อใด 

 

ซึ่งถ้าเปรียบเป็นเชิงธุรกิจดูเหมือนว่าจากหลายๆ ธุรกิจที่ผ่านมาจะเห็นว่า หนึ่งในกระบวนท่าประจำสำนักเครือสหพัฒน์คือ สร้าง Engagement ก่อนผลกำไร

 

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอาณาจักรมาม่า เริ่มต้นจากลงทุนใช้รถบรรทุก 6 คัน เดินสายแจกมาม่าให้คนทั้งประเทศได้ชิมเป็นระยะเวลา 1 ปี จนคนเรียก ‘มาม่า’ แทนชื่อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทั้งหมด 

 

หรืองาน SAHA GROUP EXPORT ที่เกิดขึ้นเพราะอยากเชิญนักธุรกิจจากทั่วโลกมาทำความรู้จักสินค้าไทยที่พร้อมส่งออกในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งค่าเงินอ่อนจนส่งผลเสียกับธุรกิจนำเข้า 

 

ตอนหลังพ้นวิกฤตก็เปลี่ยนเป็น SAHA GROUP FAIR & FEST ที่ไม่เน้นขายสินค้า แต่ตั้งใจให้เป็นเทศกาลประจำปีที่ไม่ใช่แค่นักธุรกิจ ทุกคนสามารถมาซื้อสินค้าและร่วมสนุกได้ เป็นการสร้างปรากฏการณ์ โชว์ให้คู่ค้าต่างประเทศสนใจมาร่วมทุน เอาของเราไปขายต่างประเทศ และให้ผู้นำพรรครุ่นใหม่ได้ใช้เป็นเวทีประลองวรยุทธ์ 

 

‘ต้องสร้าง Engagement’ สินค้าถึงจะแมสและเป็นที่รู้จักจนใครๆ ก็เข้าถึงได้ คือเข็มทิศที่ใช้วางหมากของสำนักเครือสหพัฒน์

 

 

วิชาที่ 6: พัฒนากระบวนท่า อย่ายึดติดความสำเร็จ

 

หากมองที่ผลประกอบการ รายได้ 3 แสนล้านต่อปี มีบริษัทในเครือมากกว่า 300 บริษัท (15 แห่งเป็นบริษัทจำกัดมหาชน) เครือสหพัฒน์คือ ‘สำนักใหญ่’ ที่ประสบความสำเร็จในยุทธภพการค้ามาหลายทศวรรษ

 

แต่ในมุมผู้อาวุโสที่เห็นการเกิด ตั้งอยู่ และล่มสลาย ของสำนักต่างๆ มากมาย คุณบุณยสิทธิ์มองเห็นอีกด้านว่า ความสำเร็จในอดีตอาจเป็นกับดักให้บรรดาผู้นำพรรครุ่นต่อไป หากไม่คิดปรับตัวและพัฒนากระบวนท่า 

 

เหมือน 18 ฝ่ามือพิชิตมังกร ยุคเฉียวฟงแห่งพรรคกระยาจก ที่กระบวนท่าหล่นหายครึ่งหนึ่งในยุคหัวหน้าพรรครุ่นต่อๆ มา ก่อนได้อั้งฉิกกงดัดแปลงกลับมา และก๊วยเจ๋งผสานเคล็ดวิชาคัมภีร์เก้าอิมทำให้ลึกล้ำและสมบูรณ์

 

วิชาที่ 7: วางกระบี่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม

 

ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 คุณบุณยสิทธิ์จะอายุครบ 87 ปี และวางแผนทำงานต่อไปถึงวันที่ 2 เมษายน 2569 ก่อนจะอำลายุทธจักรธุรกิจเมื่อตัวเองอายุครบ 88 ปี 8 เดือน 8 วัน แล้วส่งไม้ต่อให้กับจอมยุทธ์รุ่นหลังนำพาเครือสหพัฒน์ให้อยู่คู่ยุทธภพต่อไป 

 

ปัจจุบันเขามีการจัดทัพ วางกำลังการบริหารให้กับลูกหลานไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่ผู้นำต้องทำให้สำเร็จก่อนถึงเวลาวางกระบี่และส่งต่ออย่างราบรื่น 

 

“สิ่งที่ยังคงเป็นความท้าทายและความกลัวคือ อนาคตที่ไม่อาจรู้ได้”

 

มีแต่เพียงลูกหลานของเครือสหพัฒน์ที่ต้องจับสัญญาณให้ออก และกล้าที่จะโอบรับความเปลี่ยนแปลง แล้วปรับตัวอยู่ตลอดเวลา 

 

คือความหวังของ ‘ราชาเครือสหพัฒน์’ ที่ฝากเอาไว้ให้ลูกหลาน เพื่อให้อาณาจักรแห่งนี้อยู่ต่อไปจนถึงร้อยปีหรือชั่วนิรันดร์

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X