×

ค่ายเพลงดังรวมตัวฟ้องบริษัท AI สัญชาติอเมริกัน 2 แห่ง ข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ เรียกค่าเสียหาย 5.5 ล้านบาทต่อเพลง

25.06.2024
  • LOADING...
AI ละเมิดลิขสิทธิ์

ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่หลายแห่ง รวมถึง Sony Music, Universal Music Group และ Warner Records ได้ยื่นฟ้องบริษัท AI สัญชาติอเมริกัน 2 แห่ง ได้แก่ Suno และ udio ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์เพลงครั้งใหญ่ โดยกล่าวหาว่าซอฟต์แวร์ของทั้งสองบริษัทขโมยผลงานเพลงไปใช้สร้างสรรค์ผลงานที่คล้ายคลึงกัน และเรียกร้องค่าชดเชย 1.5 แสนดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 5.5 ล้านบาท) ต่อ 1 ผลงาน

 

การแพร่หลายของเครื่องมือ AI ที่สามารถสร้างเพลงได้อย่างสมจริง รวมถึงเพลงที่ใช้เสียงของศิลปินจริง ทำให้เกิดคำถามทางกฎหมายและจริยธรรมมากมายในอุตสาหกรรมดนตรี ศิลปินหลายคนแสดงความกังวลว่าเทคโนโลยี AI อาจบั่นทอนคุณค่าของงานที่มนุษย์สร้างสรรค์และส่งผลกระทบต่อรายได้

 

ขณะเดียวกันคดีความนี้เป็นส่วนหนึ่งของคดีฟ้องร้องจำนวนมากจากนักเขียน องค์กรข่าว และกลุ่มอื่นๆ ที่ท้าทายสิทธิ์ของบริษัท AI ในการนำผลงานของพวกเขาไปใช้

 

Suno ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐแมสซาชูเซตส์ เปิดตัวผลิตภัณฑ์แรกเมื่อปีที่แล้ว และอ้างว่ามีผู้ใช้เครื่องมือนี้ในการสร้างสรรค์เพลงมากกว่า 10 ล้านคน บริษัทนี้เป็นพันธมิตรกับ Microsoft และเรียกเก็บค่าบริการรายเดือน โดยล่าสุดเพิ่งประกาศระดมทุนจากนักลงทุนได้ 125 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.6 พันล้านบาท)

 

ส่วน udio หรือ Uncharted Labs ซึ่งตั้งอยู่ในนิวยอร์ก ได้รับการสนับสนุนจากนักลงทุนรายใหญ่หลายราย เปิดตัวแอปพลิเคชันสู่สาธารณะในเดือนเมษายน และโด่งดังในทันทีจากการเป็นเครื่องมือที่ใช้สร้าง ‘BBL Drizzy’ เพลงล้อเลียนความบาดหมางระหว่างศิลปิน Kendrick Lamar และ Drake

 

ก่อนหน้านี้บริษัท AI มักอ้างว่าการใช้เนื้อหาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายภายใต้หลักการ Fair Use ซึ่งอนุญาตให้ใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ภายใต้เงื่อนไขบางประการ เช่น การเสียดสี หรือการนำเสนอข่าว ผู้สนับสนุนเปรียบเทียบการเรียนรู้ของเครื่องมือ AI กับวิธีที่มนุษย์เรียนรู้จากการอ่าน ฟัง และเห็นผลงานก่อนหน้านี้

 

คดีความนี้ได้รับการประสานงานโดย RIAA (The Recording Industry Association of America) ซึ่งเป็นองค์กรการค้าที่ใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมการบันทึกเสียง โดยได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาในรัฐแมสซาชูเซตส์และนิวยอร์ก

 

ในคำร้องส่วนหนึ่ง ค่ายเพลงกล่าวหาว่า บริษัท AI เหล่านี้แสวงหาผลกำไรจากการคัดลอกเพลงของพวกเขา โดยระบุว่า “การใช้งานในที่นี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะไม่มีวัตถุประสงค์ในการใช้งานโมเดล AI ในการดึงข้อมูลเพลงที่มีลิขสิทธิ์ นอกจากจะสร้างไฟล์เพลงใหม่ที่เป็นคู่แข่ง”

 

Mitch Glazier ประธานและซีอีโอของ RIAA กล่าวว่า “วงการเพลงได้เปิดรับ AI และเรากำลังร่วมมือกับนักพัฒนาที่มีความรับผิดชอบในการสร้างเครื่องมือ AI ที่ยั่งยืน โดยให้ศิลปินและนักแต่งเพลงเป็นผู้ควบคุม แต่เราจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อนักพัฒนายินดีที่จะทำงานร่วมกับเรา”

 

คำร้องยังอ้างถึงเพลง prancing queen ที่ Suno สร้างขึ้น ซึ่งแม้แต่แฟนตัวยงของวง ABBA ก็ยังแยกไม่ออกว่าเป็นเพลงของวงจริงๆ หรือไม่ ส่วนเพลงที่ถูกกล่าวถึงในคดีฟ้องร้อง udio ได้แก่ All I Want For Christmas Is You ของ Mariah Carey และ My Girl ของ The Temptations

 

ค่ายเพลงระบุในคำฟ้องว่า “แรงจูงใจคือผลประโยชน์ทางการค้าอย่างโจ่งแจ้งและคุกคาม ที่จะแทนที่ศิลปะที่แท้จริงของมนุษย์ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการคุ้มครองลิขสิทธิ์”

 

ค่ายเพลงกล่าวว่า ไม่มีเหตุผลใดที่ AI จะได้รับการยกเว้นจากการเล่นตามกฎ และเตือนว่า การขโมยเพลงครั้งใหญ่นี้อาจคุกคามระบบนิเวศทางดนตรีทั้งหมด

 

คดีนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือน หลังจากที่ศิลปินเกือบ 200 คน รวมถึง Billie Eilish และ Nicki Minaj ลงนามในจดหมายเรียกร้องให้ยุติการใช้ AI ในอุตสาหกรรมดนตรี ที่พวกเขามองว่าเป็นการฉวยโอกาส

 

เมื่อเดือนที่แล้ว Sony Music ซึ่งเป็นเจ้าของค่ายเพลงชื่อดัง เช่น Columbia Records, RCA Records และ Epic Records ได้ออกจดหมายเตือนบริษัทหลายร้อยแห่งไม่ให้ฝึกอบรมโมเดล AI บนเนื้อหาของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

และเมื่อปีที่แล้ว Universal Music Group และผู้เผยแพร่เพลงรายอื่นๆ รวมถึง Concord และ ABKCO ได้ยื่นฟ้อง Anthropic บริษัทสตาร์ทอัพด้าน AI เกี่ยวกับการละเมิดเนื้อเพลงที่มีลิขสิทธิ์ของพวกเขาอย่างเป็นระบบและแพร่หลาย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X