วันนี้ (20 มิถุนายน) ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) เป็นพิเศษ ที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 วงเงิน 3.752 ล้านล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอในวันที่สอง
ก้าวไกลชี้ ‘เด็กจน’ เสี่ยงหลุดนอกระบบมากที่สุด
ปารมี ไวจงเจริญ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รัฐบาลจัดงบประมาณปี 2568 ในสัดส่วนของการศึกษาว่าไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รายงานข้อมูลว่า มีเด็กที่ไม่ได้อยู่บนระบบการศึกษามากถึง 1.02 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 8.4% ของนักเรียนไทยในระบบทุกสังกัดที่มีอยู่ 12 ล้านคน สะท้อนว่า ใน 100 คนของเด็กไทย จะมีถึง 8 คนที่หลุดออกนอกระบบ โดยมีความยากจนเป็นสาเหตุหลัก
ทั้งนี้ เมื่อสำรวจความคิดเห็นพบว่า เด็กเหล่านี้ไม่มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน ต้องการฝึกอาชีพและต้องการทำงานมากกว่าเรียนหนังสือ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ระบบการศึกษาไทยไม่ตอบโจทย์ และได้ผลักกลุ่มคนเหล่านี้ตกหล่นข้างทางจนต้องออกนอกระบบ
ข้อมูลการสำรวจสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ปี 2566 ของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่า มีเด็ก 2.8 ล้านคนที่ยากจน อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่รายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเส้นความยากจน เป็นเด็กที่ยากจนรุนแรงที่สุดในประเทศ โดยกลุ่มที่กังวลใจมากที่สุดคือ 1 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุน ซึ่ง กสศ. กำลังจัดทำข้อเสนอเพื่อให้เด็กเหล่านี้เข้าระบบ
หากพิจารณาจากงบประมาณของ กสศ. ในปี 2568 รัฐบาลได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จากที่ของบประมาณทั้งสิ้น 7,800 ล้านบาท แต่รัฐบาลให้งบ กสศ. เพียง 6,900 ล้านบาท รัฐบาลบอกว่าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างเร่งด่วน แต่กลับจัดสรรงบให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการแก้ความเหลื่อมล้ำไม่เพียงพอ หากรัฐบาลอยากช่วยเด็กกลุ่มนี้ กสศ. ต้องได้รับงบประมาณเพิ่มมากกว่านี้
ปารมีกล่าวต่อว่า ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาไม่ได้พบแค่ในการศึกษาขั้นพื้นฐานเท่านั้น แต่ยังพบในระดับอุดมศึกษาด้วย ข้อมูลจาก กสศ. รายงานว่า ปี 2566 เด็กกลุ่มยากจนรุนแรงมากที่สุดกลุ่มนี้สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้เพียง 12.4%
“ยิ่งการศึกษาในระดับสูงขึ้น โอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะมีโอกาสในการเรียนต่อก็ยิ่งริบหรี่และน้อยลงไปเรื่อยๆ แทนที่การเรียนต่อจะเป็นหนทางที่พวกเขาจะไต่บันไดเลื่อนชนชั้นและลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ แต่กลับกลายเป็นระบบการศึกษาไทยที่มีราคาแพงแสนแพงทำลายโอกาสในการเลื่อนชนชั้น”
ปารมีกล่าวอีกว่า ค่าใช้จ่ายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบ TCAS มีราคาสูง เด็กที่มีฐานะดีสามารถเพิ่มโอกาสในการจ่ายได้ แต่เด็กที่ยากจนอาจไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการจ่ายและตัดโอกาสตั้งแต่ต้นทาง
ขณะเดียวกันแม้จะสามารถสอบเข้าเรียนได้ แต่ใช่ว่าจะมีเงินในการศึกษาต่อ เนื่องจากกองทุน กยศ. กำลังมีปัญหาใหญ่ เนื่องจากขาดสภาพคล่องหนักมาก ไม่แปลกใจที่เห็น กยศ. กลับมาขอรับงบประมาณในรอบหลาย 10 ปี โดยปีนี้ส่งคำของบมาสูงถึง 19,000 ล้านบาท
แต่รัฐบาลให้แค่ 800 ล้านบาท ซึ่งไม่ถึง 5% ของงบที่ขอมา รัฐบาลที่อ้างว่าต้องการลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาอย่างเร่งด่วน กลับเพิกเฉยต่อสภาพคล่องของ กยศ. และไม่จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ ซึ่งอาจจำเป็นต้องตัดเงินกู้ยืมในปีการศึกษานี้
หากปัญหานี้ยังไม่ถูกแก้ไข สิ่งที่น่ากังวลใจคือ กยศ. อาจจะต้องตัดเงินกู้ยืมของเด็กที่เข้าโครงการไปแล้ว ซึ่งจะไม่มีเงินเรียนต่อ เด็กต้องเลิกเรียนกลางคันทั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอุดมศึกษา
นอกจากนี้ประเทศของเรายังมีความเหลื่อมล้ำในคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบทอีกด้วย ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนครู แต่ครูกระจุกตัวอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมือง ทำให้โรงเรียนในชนบทขาดแคลนครูอย่างหนัก ครูในโรงเรียนชนบททำงานหนัก แต่เงินเดือนเท่ากับครูโรงเรียนในเมือง สถานการณ์เช่นนี้ยังจะนำไปสู่การทุจริตการจ่ายใต้โต๊ะ
ปารมีเห็นว่า รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาโรงเรียนในชนบทและโรงเรียนขนาดเล็กอย่างไร ไม่ใช่ปล่อยตามมีตามเกิด หากจะมีการควบรวมก็ต้องทำ เช่น การถ่ายโอนโรงเรียนให้กับท้องถิ่น มีงบอุดหนุนเฉพาะกิจ เพื่อให้ท้องถิ่นใช้ประโยชน์ได้ ความเหลื่อมล้ำสูงทั้งหมดเป็นปัญหาที่มีมายาวนาน หนีไม่พ้นที่จะต้องมีจินตนาการใหม่ในการจัดสรรงบประมาณใหม่ ไม่ใช่แค่ตัดๆ ลดๆ เพิ่มๆ เหมือนที่ผ่านมา พร้อมทั้งยังได้เสนอแนะแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 6 ข้อ ดังนี้
- ช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกนอกระบบอย่างเร่งด่วน จัดสรรงบประมาณให้ กสศ. เพื่อให้ดูแลเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างเพียงพอ
- การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องฟรีจริง ไม่ใช่การเรียนฟรีทิพย์
- เพิ่มสิทธิประโยชน์จูงใจครูให้สอนโรงเรียนขนาดเล็ก
- ปฏิรูปหลักสูตรและการศึกษาไร้รอยต่อ
- อุดหนุนค่าใช้จ่ายในการเข้ามามหาวิทยาลัยระบบ TCAS
- จัดงบประมาณให้ กยศ. อย่างเพียงพอ
ปารมีทิ้งท้ายว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับการจัดงบประมาณปี 2568 เพราะรัฐบาลเพิกเฉยต่อความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และคาดหวังว่ารัฐบาลจะจัดงบประมาณด้านการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ เพื่อทำลายความเหลื่อมล้ำให้หมดสิ้นไป และเพื่อไม่ให้เด็กไทยหลุดออกจากการศึกษาไทยและทุกโรงเรียนมีคุณภาพเสมอภาค
รัฐบาลทุ่มงบ หวังโอบรับเด็กทุกคน
ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 ในสัดส่วนของการศึกษาว่า การศึกษาคือการสร้างโอกาสให้กับชีวิต เพราะความจนไม่ใช่กรรมพันธุ์ รัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการโอบรับให้เด็กไทยไม่ตกหล่นจากการศึกษา จากข้อมูลพบว่า ในปี 2566 มีเด็กไทยกว่า 1.8 ล้านคนที่มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
ขณะเดียวกันยังพบว่า เด็กไทยยังมีสภาวะสุขภาพจิตซึมเศร้ามากยิ่งขึ้น โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินว่า มีคนไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า 10 ล้านคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ไม่มีผู้เชี่ยวชาญช่วยดูแล จนทำให้มีอัตราฆ่าตัวตายมากขึ้น ซึ่งอยู่ระหว่าง 15-19 ปี โดยในปี 2566 เยาวชนถูกดำเนินคดีกว่า 12,602 ครั้ง กว่า 57% ของอาชญากรรมทั้งหมดมาจากเด็กและเยาวชนที่หลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งรัฐบาลตระหนักดีว่าการเพิ่มทุนและลงทุนในทรัพยากรมนุษย์คือสิ่งที่สำคัญ
จากปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงกำหนดออกมาเป็นพันธกิจ 3 ประการ
- นโยบาย Thailand Zero Dropout ผ่านกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเชื่อมข้อมูลทะเบียนนักเรียนและฐานข้อมูลการปกครองรายบุคคล เพื่อนำเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษา ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นผ่านกองทุน กสศ. โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณกว่า 6,983 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา
- กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เพื่อประชาชน รัฐบาลกำหนดงบประมาณให้ กยศ. เป็นเงิน 800 ล้านบาท และกำหนดให้มีเงินอุดหนุนนอกงบประมาณอีก 42,987 ล้านบาท นอกจากนี้ยังแก้ไขร่าง พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2566 แก้ไขในดอกเบี้ยให้ไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และปรับลดเบี้ยปรับให้ไม่เกิน 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์ผู้กู้ยืม โดยสามารถกู้เรียนหลักสูตรระยะสั้นได้ มีทุนการศึกษา ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน นอกจากนี้รัฐบาลมีการเจรจาผ่อนผันหนี้จากผู้กู้ยืมหนี้สินในปี 2567 กว่า 60,000 คน ให้มีการปรับโครงสร้างหนี้และขยายเวลาชำระหนี้อีก 15 ปี
- การลดภาระและเพิ่มขวัญและกำลังใจครูผู้สอน โดยเพิ่มฝ่ายสนับสนุนและบรรเทาด้านอื่นๆ รวมทั้งเพิ่มภารโรงในทุกโรงเรียนกว่า 25,370 อัตรา โดยใช้งบประมาณไป 2,739.96 ล้านบาท และการแก้ปัญหาหนี้สินให้ครูอีก 100 ล้านบาท
ลิณธิภรณ์ยังได้เสนอแนะไปยังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อช่วยลดภาระผู้ปกครอง เช่น การสนับสนุนนโยบายเรียนฟรี ต้องฟรีจริงๆ ไม่ใช่นโยบายเพ้อฝัน โดยที่รัฐบาลสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยผ่านนโยบาย ‘Free Tablet for All’ เพื่อชดเชยการพิมพ์ตำรา และสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้
รวมถึงสนับสนุนเรื่องเสรีทรงผมและการแต่งกาย ด้วยคลายความกังวลและสร้างความมั่นใจให้นักเรียน แม้จะมีการกระจายอำนาจแล้ว แต่ยังไม่นำไปสู่การแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณ และสามารถลดรายจ่ายในส่วนงบประมาณเงินอุดหนุนเครื่องแบบนักเรียนได้กว่า 3,000 ล้านบาทด้วย
คลังยัน จัดงบ กยศ. ให้กู้เพียงพอ
ขณะที่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงว่า กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จากงบประมาณที่มีการขอมา โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ตนเองมีหน้าที่กำกับดูแลส่วนนี้ ซึ่งของบประมาณ 19,000 ล้านบาท จากการหารือร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งดูแล้วสามารถบริหารจัดการได้ภายใต้กรอบเงินที่คงเหลืออยู่ในกองทุน รวมถึงการรับเงินมาจากลูกหนี้หรือการบริหารจัดการอื่น สามารถจัดการบริหารได้ในกรอบอื่นๆ กว่า 800 ล้านบาท
จุลพันธ์กล่าวต่อว่า ยังมีกลไกอื่นๆ เช่น งบกลาง ที่สามารถรองรับได้ว่าจะไม่มีนักเรียนและนักศึกษาหลุดออกจากระบบการศึกษา เพราะไม่สามารถกู้ยืมจาก กยศ. ได้ เราตั้งเป้าการกู้ยืมที่ 620,000 กว่าราย เป็นนักเรียนเก่า 75% และอีก 25% เป็นนักเรียนใหม่ การปรับตัวเรื่อง พ.ร.บ.ใหม่ ยังค้างเงินคืนอยู่ ตอนนี้เกิดปัญหาขึ้นมา เพราะ กยศ. กลายเป็นหนี้สุดท้ายที่เขาจะจ่าย เนื่องจากไม่มีการฟ้อง ดอกเบี้ยถูก ทำให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการ แต่ขณะนี้เรายังไม่มีแนวความคิดในการปรับแก้กฎหมาย เนื่องจากว่าเป็นมติที่รัฐสภาให้ข้อคิดเห็นมาในสมัยที่แล้ว ยืนยันว่าสิ่งนี้เป็นประโยชน์กับผู้กู้และนักศึกษา
จุลพันธ์ระบุว่า ตอนนี้เราต้องหาแรงจูงใจในการทำให้ผู้กู้เป็นผู้กู้ที่ดีของ กยศ. โดยในวันนี้กำลังพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ธนาคารของรัฐอื่นๆ เช่น หากชำระดีกับทาง กยศ. จะถือเป็นลูกค้าเอลิสต์ มีโอกาสในการได้รับเงินกู้ที่ง่ายขึ้นและมากขึ้น เราพยายามสร้างกลไกเพื่อหาวิธีการให้กองทุนสามารถอยู่ได้อย่างมีความมั่นคง และยืนยันว่า ด้วยงบประมาณแค่นี้ที่ดูเหมือนว่าจะตึงตัว แต่หากดูดีๆ เราจัดแต่เพียงพอ ไม่มีที่ถมเงินไปกองทุนใดกองทุนหนึ่ง เพื่อเหลือเงินเป็นหมื่นล้าน เราจะไม่ทำ เพราะงบประมาณทุกบาทต้องเกิดประโยชน์กับประเทศมากที่สุด ยืนยันว่าทั้ง 600,000 กว่ารายในปีนี้จะต้องได้รับการกู้ยืม