×

ปูตินถึงเวียดนาม เตรียมหารือผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ ท่ามกลางการต่อต้านจากสหรัฐฯ

20.06.2024
  • LOADING...
ปูติน เวียดนาม

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เดินทางถึงกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เช้าวันนี้ (20 มิถุนายน) ท่ามกลางการต้อนรับจากรองนายกรัฐมนตรีเจิ่น ฮอง ฮา และ เลอ หวาย จุง หัวหน้าคณะกรรมการกลางด้านการต่างประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม โดยถือเป็นการเยือนเวียดนามอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 7 ปี และเป็นจุดหมายสุดท้ายในทริปเยือนเอเชียของปูติน หลังจากที่เสร็จสิ้นภารกิจการเยือนเกาหลีเหนือ ซึ่งเขาและ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ มีการลงนามความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกัน

 

การเยือนเวียดนามของผู้นำรัสเซียมีขึ้นท่ามกลางการจับตามองจากสหรัฐฯ ที่เพิ่งยกระดับความสัมพันธ์กับเวียดนามสู่ระดับสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว และสหรัฐฯ ถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่และตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

 

ขณะที่ปูตินตั้งเป้ากระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศที่เป็นมิตร เพื่อแสดงให้เห็นว่า มาตรการคว่ำบาตรและโดดเดี่ยวรัสเซียของสหรัฐฯ และชาติตะวันตกนั้นไม่เป็นผล

 

สำหรับในวันนี้ วลาดิเมียร์ ปูติน มีกำหนดการพบปะหารือกับ เหงียน ฟู้ จ่อง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์, ประธานาธิบดีโต เลิม และนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิงห์ อีกทั้งยังมีกำหนดการเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาที่สุสานโฮจิมินห์ อนุสรณ์สถานที่ใหญ่ที่สุดในฮานอย ซึ่งเป็นที่เก็บศพของผู้ก่อตั้งเวียดนาม

 

ภารกิจการเยือนเวียดนามของปูตินในครั้งนี้คาดว่าจะมุ่งเน้นไปที่การพูดคุยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และพลังงาน โดยตัวเลขการค้าระหว่างทั้งสองประเทศในปี 2022 มีมูลค่าเพียงประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าระหว่างเวียดนามกับจีนที่สูงถึง 1.75 แสนล้านดอลลาร์ และกับสหรัฐฯ ที่สูงถึง 1.23 แสนล้านดอลลาร์

 

แต่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า มีแนวโน้มที่ผู้นำรัสเซียอาจหยิบยกประเด็นความร่วมมือด้านกลาโหมและกรณีสงครามในยูเครน มาหารือกับผู้นำเวียดนามด้วยเช่นกัน

 

จุดยืนที่ ‘เป็นเอกลักษณ์’ ของเวียดนาม

 

รัสเซียและเวียดนามนั้นมีความสัมพันธ์ทางการทูตที่ค่อนข้างลึกซึ้ง นับย้อนหลังไปถึงช่วงทศวรรษ 1950 โดยมอสโกเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่ของรัฐบาลฮานอยเป็นเวลาหลายทศวรรษ

 

อย่างไรก็ตาม การต้อนรับและพูดคุยกับปูตินท่ามกลางสถานการณ์สงครามในยูเครนที่ยังตึงเครียด อาจไม่ใช่การจับมือหรือเปิดพื้นที่สนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามรุกรานยูเครน ดังเช่นที่โฆษกสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงฮานอยออกมาต่อต้านก่อนหน้านี้

 

ในแง่หนึ่ง การต้อนรับผู้นำรัสเซียถือเป็นการตอกย้ำจุดยืนอันเป็นเอกลักษณ์ของเวียดนาม ที่พยายามสร้างสมดุลความสัมพันธ์ทั้งระหว่างรัฐเผด็จการอื่นๆ และประเทศประชาธิปไตยที่ถือเป็นคู่แข่ง

 

โดยเวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่อยู่ใกล้กับรัสเซียมากพอที่จะเป็นจุดหมายในทริปการเดินทางต่างประเทศของปูติน หลังจากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับเขาในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม

 

แต่สำหรับจุดยืนในสงครามยูเครน เวียดนามอาจมีท่าทีที่ ‘แตกแยก’ ออกไป

 

บทความชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Nhân Dân ของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ระบุว่า ปูตินแสดงความชื่นชมเวียดนามที่สนับสนุนแนวทางแก้ไขเชิงปฏิบัติสำหรับวิกฤตสู้รบในยูเครน และการมีจุดยืนในนโยบายต่างประเทศที่เป็นกลาง โดยไม่ประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งปูตินยังเน้นย้ำความร่วมมือระหว่างรัสเซียและเวียดนาม ทั้งในด้านการค้า ระบบการชำระเงิน และพลังงาน 

 

อย่างไรก็ตาม เวียดนามเองก็มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาและชาติตะวันตก รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อยูเครน ในขณะที่ไม่ประณามการตัดสินใจของชาติตะวันตกที่คว่ำบาตรรัสเซียแบบที่จีนทำ

 

เอียน สตอรีย์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ชี้ว่า ประเด็นหลักในการหารือระหว่างผู้นำเวียดนามกับปูติน “คือวิธีที่เวียดนามสามารถหลีกเลี่ยงมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินของชาติตะวันตกต่อรัสเซีย เพื่อที่จะสามารถจ่ายค่าอาวุธให้รัสเซียได้”

 

ส่วนจุดยืนของเวียดนามต่อการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจนั้นถือเป็นสิ่งที่ต้องรักษาสมดุลอย่างเหมาะสม 

 

โดย คัง หวู่ นักวิจัยจากศูนย์ความมั่นคงระหว่างประเทศน็อทร์ดาม (Notre Dame International Security Center) มองว่า สำหรับเวียดนาม รัสเซียเป็นอีกทางเลือกนอกเหนือจากมหาอำนาจ

 

“รัสเซียไม่ได้คุกคามความมั่นคงภายนอกของเวียดนามเหมือนที่จีนทำ และไม่ได้คุกคามความมั่นคงภายในของเวียดนามเหมือนที่สหรัฐฯ ทำ”

 

ข้อพิพาทระหว่างเวียดนามและจีนในทะเลจีนใต้ทวีความรุนแรงและตึงเครียดมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันทั้งสองประเทศก็เป็นคู่ค้ารายใหญ่ ทำให้เวียดนามยังคงไม่เข้าใกล้สหรัฐฯ มากจนเกินไป แม้จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างกัน

 

ซึ่งนอกเหนือจากนี้ ในแง่ผลประโยชน์ เวียดนามยังแสดงความสนใจในกลุ่ม BRICS ที่มีจีนและรัสเซียเป็นหัวหอก โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วเวียดนามได้ส่งคณะผู้แทนซึ่งนำโดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม BRICS ที่รัสเซีย

 

ภาพ: Athit Perawongmetha / Reuters

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X