ตั้งแต่การทำงานเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบ Hybrid Work คนทำงานจำนวนไม่น้อยก็รู้สึกถึงความกดดันจากปริมาณงานและความเร่งด่วนที่เพิ่มมากขึ้น ปรากฏการณ์นี้ทำให้คนกว่า 46% รู้สึกหมดไฟ
รายงาน Work Trend Index 2024 ที่ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จัดทำร่วมกับ LinkedIn เผยผลการสำรวจแนวโน้มการทำงานในยุค AI ของประเทศไทยได้อย่างน่าสนใจว่า พนักงานคนไทยกว่า 92% นำ AI มาใช้ในที่ทำงานแล้ว มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 75% โดยคนไทยกลุ่มนี้มีถึง 81% ที่เลือกนำ AI ของตัวเองมาใช้งาน
แต่การเลือกนำ AI มาใช้เองของพนักงานก็มีทั้งข้อดีและความเสี่ยง เพราะแม้พนักงานจะได้ประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องแลกมาก็คือความเสี่ยงการรั่วไหลของข้อมูลความลับบริษัท หาก AI ที่พนักงานเลือกใช้เองมีการนำข้อมูลไปฝึกฝนโมเดล
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารในประเทศไทยกว่า 64% มองว่า องค์กรของตนยังขาดแผนงานกับวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในด้านการนำ AI มาใช้ พร้อมทั้งวิธีการประเมินผลลัพธ์ทั้งข้อดี-ข้อเสียจากการใช้ AI ให้ออกมาเป็นตัวเลขหรือตัวเงินที่วัดผลได้อย่างชัดเจน ถึงแม้ว่า 9 ใน 10 ของผู้บริหารเชื่อว่า บริษัทตนจำเป็นต้องนำนวัตกรรม AI มาใช้เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาดก็ตาม
“ถ้าเราดูแนวโน้มการยอมรับ AI ณ ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า การใช้งานระดับบุคคลมีความแพร่หลายอย่างมาก แต่การใช้ในระดับองค์กรอย่างมีกลยุทธ์ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่ เพราะพนักงานตอนนี้ใช้ AI แค่เพื่องานของตัวเอง และองค์กรส่วนใหญ่ก็ยังลังเลที่จะใช้ทรานส์ฟอร์มขั้นตอนการทำงาน” ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าว
นอกจากนี้ โครงสร้างสนับสนุนการใช้งาน AI ขององค์กรไทยนั้นมีความต่างเมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากทั่วโลก โดยกลุ่มคนที่ใช้ AI เป็นประจำทุกวันเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน (AI Power Users) ในประเทศไทย มีเพียง 28% เท่านั้นที่ได้รับรู้ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับบทบาทของ AI ภายในที่ทำงานของตัวเอง ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 40%
ในขณะเดียวกัน การเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะเพิ่มเติมของเหล่า AI Power Users ในประเทศไทย มีเพียง 22% เท่านั้นที่ได้รับโอกาสจากองค์กรให้ฝึกฝนทักษะด้าน AI เพิ่มเติม ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 42%
จากความต่างระหว่างการเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีกับการลังเลที่จะนำมาใช้จริงทำให้ธนวัฒน์แชร์มุมมองว่า วันนี้เทคโนโลยี AI เข้ามาในที่ทำงานแล้ว และเข้ามาแบบที่พนักงานส่วนใหญ่เป็นฝ่ายค้นคว้าเอง หมายความว่า AI ไม่ใช่โจทย์ของเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่เป็นโจทย์ของทั้งธุรกิจด้วย
“องค์กรควรตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนในการนำ AI มาช่วยปลดล็อกโอกาสการทำงานของพนักงาน โดยผู้บริหารจะต้องคิดว่า ควรทำอย่างไรที่จะช่วยเพิ่มทักษะด้าน AI ให้กับบุคลากร และเตรียมความพร้อมในการจัดหาเครื่องมือ AI ที่มีประสิทธิภาพ”
ในช่วงท้าย ธนวัฒน์พูดถึงแนวโน้มการจ้างงาน โดยระบุว่า ทักษะการใช้งาน AI ได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดแรงงานไปแล้ว ทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก โดยผู้บริหารในไทยกว่า 74% ไม่ต้องการจ้างพนักงานที่ไม่มีทักษะทางด้าน AI ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 66%
นอกจากนี้ หากต้องเลือกระหว่างทักษะ AI กับประสบการณ์การทำงาน ผู้บริหารไทยกว่า 90% ก็เลือกที่จะจ้างพนักงานที่มีประสบการณ์น้อยแต่มีทักษะด้านการใช้ AI แทนที่จะเลือกพนักงานที่มีประสบการณ์สูงกว่าแต่ขาดทักษะในด้านนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 71%
โดยผลสำรวจระบุว่า ผู้บริหารทั่วโลกราว 55% มีความกังวลว่าจะเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานที่มีความสามารถในปีนี้ โดยเฉพาะในสาขาความปลอดภัยทางไซเบอร์ วิศวกรรม และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นสาขาที่กังวลว่าจะขาดแคลนมากที่สุด
ข้อมูลจากผู้ใช้ LinkedIn ทั้งในระดับองค์กรและคนทำงาน ยังเผยอีกว่า
- ข้อมูลจากช่วงปลายปีที่แล้ว พบว่าจำนวนสมาชิก LinkedIn ทั่วโลกที่ใส่ข้อมูลเกี่ยวกับทักษะการใช้งาน AI อย่าง ChatGPT และ Copilot ในโปรไฟล์ของตนเอง มีมากขึ้นถึง 142 เท่าตัว
- ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา พบว่าตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัครทาง LinkedIn หากมีการระบุถึงทักษะการทำงานที่เกี่ยวกับ AI ด้วย จะมีผู้สมัครเพิ่มขึ้นถึง 17%
- ในกลุ่ม 10 ตำแหน่งงานที่เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับทักษะด้าน AI มากที่สุดนั้น พบว่าเป็นตำแหน่งในสายงานด้านเทคโนโลยีโดยตรงเพียง 2 ตำแหน่ง (นักพัฒนาระบบ Front-End และนักพัฒนาเว็บ) ขณะที่ 3 อันดับแรกเป็นตำแหน่งงานด้านการเขียนคอนเทนต์ กราฟิกดีไซน์ และการตลาด
อ้างอิง:
- ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย