วันนี้ (19 มิถุนายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นวันแรก จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ใช้สิทธิชี้แจงต่อที่ประชุมในกรณีที่ฝ่ายค้านพาดพิงงบประมาณดำเนินนโยบาย Soft Power (ซอฟต์พาวเวอร์)
จิราพรระบุถึงคำนิยามหรือความหมายของคำว่า ‘Soft Power’ ที่สมาชิกได้พยายามหยิบยกขึ้นมาอธิบายความ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถที่จะหาได้ตามหนังสือ ตำรา หรือแม้แต่สามารถหาได้ตามอินเทอร์เน็ตทั่วไป แต่การเปลี่ยนคำนิยามนั้นมาเป็นนโยบาย เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติจริงต่างหากคือสิ่งที่สำคัญที่สุด
จิราพรเชื่อว่าไม่มีคำตอบหรือวิธีการที่ตายตัวของ Soft Power เพราะแต่ละประเทศมีต้นทุนที่ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ดี จากการที่เราได้ศึกษาการทำนโยบาย Soft Power ของหลายๆ ประเทศ พบว่ามีหัวใจแกนหลักอยู่ 2 ประการ คือ
1. การพัฒนาคน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และ 2. การพัฒนาอุตสาหกรรม คือการทำให้ Eco Industry หรือระบบนิเวศเชิงอุตสาหกรรมเอื้ออำนวยให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power สามารถเติบโตได้ และนั่นคือสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในขณะนี้
ประการต่อมา คำกล่าวที่ว่ารัฐบาลทำนโยบาย Soft Power ต่อจากรัฐบาลชุดที่แล้ว เป็นคำกล่าวที่อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน มีข้อมูลไม่เพียงพอ เราได้มีการเริ่มวางรากฐานการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ Soft Power ของประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทย สมัยนั้นเรามีทั้งการทำโครงการ OTOP โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก โครงการกรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น ซึ่งโครงการเหล่านี้ก็สร้างคุณูปการให้กับประเทศไทยจนถึงทุกวันนี้
จิราพรกล่าวว่า เพียงแต่ว่าการทำรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้การพัฒนาของไทยดูไม่ต่อเนื่อง ดังนั้นโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 เชฟอาหารไทย ซึ่งคือโครงการที่เราใช้พัฒนาคนควบคู่กันไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรม ตั้งเป้าที่จะให้เชฟแต่ละหมู่บ้านมีแบรนด์แอมบาสเดอร์เป็นเซลส์แมนของหมู่บ้านในการขายผลิตภัณฑ์ แนะนำสินค้าเกษตรดีๆ ของชุมชนให้กับชาวโลกได้รู้จัก และจัดการใช้โซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยโปรโมตอาหารไทย เพื่อสร้างความต้องการของตลาด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพียงแต่อาจจะเป็นการมองแค่มิติเดียว
การโปรโมตการโฆษณารัฐบาลทำอยู่แล้ว แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาคน และที่สำคัญบางอย่างเราโปรโมตเพื่อสร้างอุปสงค์ในต่างประเทศได้โดยที่ไม่ต้องใช้งบประมาณของภาครัฐ
ส่วนที่ทำการพูดถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่มีการดึงเอาซีรีส์วายมาช่วยโปรโมตสินค้าของไทยนั้น เราจะเอาอาหารไทย ผลิตภัณฑ์ของไทย OTOP ไทย สถานที่ท่องเที่ยวของไทย ไปใส่ในฉากของซีรีส์วาย ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตลาดต่างประเทศ ดังนั้นรัฐบาลไม่ได้ทำมิติเดียวเท่านั้น เราทำทั้งมิติของการพัฒนาคน การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับ Soft Power ควบคู่กัน
จิราพรยังกล่าวถึงเรื่องการจัด Event หรือ Festival ต่างๆ ของรัฐบาลว่า อยากจะพาไปรู้จักกับคำว่า Festival Economy หรือเศรษฐกิจเทศกาล ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ผ่านการจัดเทศกาลหลากหลายรูปแบบที่มีศักยภาพ สามารถดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาภายใต้การนำรัฐบาลของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่พยายามจะดึงเอาเทศกาลนานาชาติมาจัดที่ไทย
“นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เรามีรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power ของประเทศอย่างจริงจังที่สุดเท่าที่เคยมีมา และเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบาย มีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณเพื่อขับเคลื่อน Soft Power ของประเทศ ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เราจำเป็นต้องให้ภาคเอกชนทำงานร่วมกันกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งหน่วยงานรัฐที่เป็นหน่วยรับงบประมาณข้าราชการก็พร้อมที่จะทำงานตามนโยบายของรัฐบาลอย่างเต็มที่” จิราพรกล่าว
จิราพรมองว่า ที่ผ่านมาเราพบว่าหลายหน่วยงานมีการทำเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับ Soft Power อยู่แล้ว แต่ว่าเป็นลักษณะของการต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างของบประมาณ ไม่ได้บูรณาการร่วมกัน เป็นเหตุผลที่เราต้องตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ Soft Power แห่งชาติขึ้นมา เพื่อมาทำให้การผลักดันยุทธศาสตร์ Soft Power เกิดการบูรณาการเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตอบโจทย์การพัฒนาแต่ละอุตสาหกรรมและงบประมาณที่เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลใช้ในการบริหาร
สำหรับนโยบาย Soft Power เป็นนโยบายใหญ่ ที่จะอาศัยเพียงงบประมาณจากรัฐบาลอัดฉีดอย่างเดียวก็คงไม่เพียงพอ เพราะว่างบประมาณภาครัฐมีจำกัด งบประมาณประเทศมีจำกัด สิ่งที่สำคัญเราต้องทำให้ทิศทางชัดเจน เพื่อชี้นำให้เอกชนเข้ามาลงทุน ดังนั้นที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้อาศัยเพียงแค่การทำงบประมาณ เพื่อจะพัฒนา Soft Power แต่รวมไปถึงการแก้กฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในการผลักดันเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อพัฒนา Eco Industry ที่เกี่ยวเนื่องกับ Soft Power เอื้อให้อุตสาหกรรมต่างๆ สามารถเติบโตไปได้
สำหรับ พ.ร.บ.THACCA เราทำร่าง พ.ร.บ. เสร็จตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการเตรียมที่จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ยืนยันว่าเป็นขั้นตอนที่เราต้องทำด้วยความรอบคอบ สามารถติดตามเพื่อรับทราบความคืบหน้าของนโยบาย Soft Power ของรัฐบาลได้ที่เพจ THACCA