เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 มิถุนายน) ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเห็นกับสำนักข่าว Bloomberg ว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของทางรัฐบาลที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
โดย ดร.เศรษฐพุฒิ มองว่า กรอบเงินเฟ้อที่ระดับ 1-3% ในปัจจุบันนั้นเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทย ณ ขณะนี้แล้ว หากมีการปรับกรอบเงินเฟ้อขึ้น อาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของราคา และทำให้ต้นทุนการกู้ยืมต้องปรับขึ้นสูงตามมาในท้ายที่สุด
การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อาจมีการทบทวนกรอบเงินเฟ้อ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากกรอบเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 1-3% ใช้มาราว 3-4 ปีแล้ว
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อไทยเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรับตัวกลับเข้าสู่เป้าแล้ว ขณะที่คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ก็มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ตามเดิมเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน พร้อมกับมองว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีหลังของปี (2024) จะอยู่ที่ราว 1.1%
ดร.เศรษฐพุฒิ ยังกล่าวอีกว่า ระดับอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมให้ประเทศไทยกลับไปเติบโตได้ในระดับศักยภาพในระยะยาวแล้ว โดยหากสมมติฐานเปลี่ยนแปลงไป ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พร้อมจะปรับเปลี่ยน (อัตราดอกเบี้ย) ตามเช่นกัน ไม่ได้มีจุดยืนยึดมั่นถือมั่น (Dogmatic)
สำหรับประเด็นหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่ค่อนข้างสูง ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวไม่น่าจะหมดไปในเร็ววัน พร้อมกับเปรียบเทียบว่า ปัญหานี้เหมือนกับโรคเรื้อรัง แทนที่จะเป็นโรคเฉียบพลันและมีแนวโน้มจะดำเนินต่อไปเป็นระยะเวลานาน ยากที่จะแก้ แต่ไม่ใช่ปัญหาที่จะนำไปสู่วิกฤต
ท้ายที่สุดนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ ก็ได้ย้ำว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยที่ทำงานโดยอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงจากทางรัฐบาล จะสามารถส่งผลดีต่อประเทศทั้งในแง่เงินเฟ้อและเสถียรภาพมากกว่าการโดนแทรกแซง
อ้างอิง: