×

ศิริกัญญาหวั่นรัฐบาลส่อขยายเพดานหนี้สาธารณะอีกรอบ เพื่อดิจิทัลวอลเล็ตนโยบายเดียว พาประเทศไปเสี่ยง

โดย THE STANDARD TEAM
19.06.2024
  • LOADING...
ศิริกัญญา ดิจิทัลวอลเล็ต

วันนี้ (19 มิถุนายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 2 (สมัยวิสามัญ) วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นวันแรก ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการจัดสรรงบประมาณปี 2568 ที่ทำให้ประเทศไทยทำลายสถิติใหม่ทางการคลังหลายตัว นอกเหนือจากที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไปเมื่อเช้าแล้ว ว่ารายจ่ายลงทุนต่องบประมาณของไทยสูงที่สุดในรอบ 17 ปี

 

แต่การตั้งงบขาดดุล หรือการกู้ขาดดุลต่อ GDP ก็สูงที่สุดในรอบ 36 ปีเช่นเดียวกัน ซึ่งคือการกู้เพื่อนำมาใช้จ่ายในแต่ละปี แต่เมื่อเทียบกับ GDP หรือความสามารถในการหารายได้ กลับมีการกู้สูงถึง 4.5% ของ GDP อีกทั้งยังย้อนกลับไปกู้เงินของปี 2567 อีก 4.3% หมายความว่า 2 ปีแล้ว เรากู้เพื่อชดเชยรายจ่ายที่มากกว่ารายได้ของเราสูงถึง 4%

 

ศิริกัญญาย้ำว่า เราไม่เคยต้องทำแบบนี้มาก่อน เป็นความกล้าหาญมาก แม้จะมีหลายปีที่เกิดวิกฤต และทำให้เราต้องกู้ขาดดุล แต่การวางแผนงบประมาณในปีปกติ เราไม่เคยกู้มากมายขนาดนี้มาก่อน รัฐบาลเองก็ดูจะเหมือนเริ่มเสพติดกับการขาดดุลแล้ว เพราะมีการกู้เต็มเพดานทุกปี ตั้งแต่ปี 2557

 

“ปัญหาคือ พอเราใช้จ่ายเงินเกินตัว แต่หาเงินไม่ทัน จะทำให้ชีวิตเราเสี่ยง รอบนี้เราไม่ได้เสี่ยงแค่คนเดียว เพราะรัฐบาลที่ใช้เงินมือเติบแบบนี้กำลังพาประเทศไปเสี่ยงด้วย การกู้จนเต็มเพดานแบบนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือเหตุการณ์ที่เราไม่คาดฝัน จะไม่เหลือพื้นที่และงบประมาณที่จะไปรองรับสถานการณ์เช่นนั้นได้เลย สิ่งที่รัฐบาลทำคือ โนสนโนแคร์ว่าจะทำให้ประเทศอยู่ในภาวะเสี่ยง เพียงเพื่อทำให้มีเงินมากพอที่จะไปทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโครงการเดียว”

 

ศิริกัญญากล่าวถึงสัดส่วนรายจ่ายลงทุน 24% สูงสุดในรอบ 17 ปี ว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีขนาดนั้น จริงอยู่ว่าเราอยากเห็นการใช้จ่ายที่นำไปสู่การลงทุนออกดอกออกผลมากกว่าที่จะใช้กับการบริโภคหรือรายจ่ายประจำ แต่การที่สัดส่วนรายจ่ายลงทุนสูงขนาดนี้ เพราะไปรวมกับ 80% ของงบดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งหากตัดงบส่วนนี้ออกไป จะเหลือเพียง 20.8% เท่านั้นเอง ปริ่มๆ กับเกณฑ์ขั้นต่ำ เป็นการยัดงบ เพื่อทำให้รายจ่ายดูโป่ง ดูดีหรือไม่

 

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลจงใจตัดรายจ่ายบางตัว เพื่อเปลี่ยนให้เป็นรายจ่ายลงทุนหรือไม่ เพราะมีรายจ่ายประจำบางตัวที่ได้งบต่ำกว่าที่จะต้องใช้ กว่า 167,000 ล้านบาท ซึ่งหากงบส่วนนี้ถูกใช้ตามที่ควรจะเป็น ก็จะเหลือเพียง 16.4% หรืออาจจะน้อยกว่านั้น

 

ศิริกัญญากล่าวต่อไปว่า พรรคก้าวไกลเคยถูกกล่าวหาว่าเป็นพรรคที่จะตัดบำนาญข้าราชการ แต่คนที่ตัดจริงคือรัฐบาลนี้ ท่านบอกว่า ถ้าไม่พอ ไปใช้งบกลางเอาก็ได้ หรือถ้างบกลางยังไม่พออีก ให้ไปใช้เงินคงคลังก็ได้ แต่ปัญหาคือ การจัดลำดับความสำคัญ ถ้าจะให้เจ้าหนี้ที่รอดอกเบี้ย ข้าราชการ ไปลุ้นจากการของบกลางหรือเงินคงคลัง แบบนี้ก็เรียกว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับพวกเขา แม้ว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่ปีนี้หนักขึ้น เพราะต้องประดิษฐ์ตัวเลขทุกอย่างให้อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง จึงต้องหยิบเอางบเข้า-ออก เพื่อตบให้ตัวเลขดูดี

 

“ปีที่แล้วดิฉันเคยเตือนเอาไว้ว่า อย่าทำพลาดเหมือนรัฐบาลประยุทธ์ เพราะงบพวกนี้มักจะถูกตั้งไว้ไม่เพียงพอ ทำให้ต้องชดใช้เงินคงคลัง แต่สุดท้ายในปี 2567 ก็เกิดเหตุการณ์ตามที่ได้เตือนไว้จริงๆ เพราะมีการจัดสรรไม่เพียงพอ ทำให้ต้องไปใช้เงินคงคลังสูงถึง 39,000 ล้านบาท และคาดว่าน่าจะมีเพิ่มอีก เพราะก็เห็นแล้วว่างบประมาณในส่วนต่างๆ ไม่พอที่จะใช้ รวมถึงการใช้งบประมาณฉุกเฉิน ก็อาจจะเป็นไปไม่ได้แล้วเช่นเดียวกัน เพราะงบประมาณต้องถูกกันเอาไว้เพื่อทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และคงต้องใช้เงินคงคลังในปี 2569 ต่อไป”

 

ศิริกัญญากล่าวถึงการตั้งงบชำระคืนเงินต้นหนี้สาธารณะไว้ที่ 4% ของงบประมาณ สูงสุดในรอบ 20 ปี ก็ต้องขอชื่นชม แต่ที่น่าประหลาดใจคือ การจัดสรรงบประมาณในครั้งแรก จาก 3.6 ล้านล้านบาท มีการตั้งงบชำระเงินต้นไว้เพียง 140,000 ล้านบาท พอขยายเป็น 3.752 ล้านล้านบาท กลับคงเอาไว้เท่าเดิม แต่ไปลดงบชำระดอกเบี้ยแทน จึงถึงบางอ้อ การตั้งงบชำระคืนเงินเอาไว้สูง เพื่อเอาไปขยายกรอบการกู้ขาดดุล

 

“ปี 2570 ปีสุดท้ายของรัฐบาล คือการพยายามส่งมอบหนี้สาธารณะก้อนใหญ่ที่เกือบจะเต็มเพดานนี้ให้กับรัฐบาลต่อไป แบบนี้มีความรับผิดชอบทางการคลังหรือไม่ นี่คือผลที่รัฐบาลกู้ชดเชยขาดดุลเต็มเพดาน 2 ปีติด ที่พาเรามาถึงจุดนี้ จุดที่แม้ว่าประเทศจะไม่ได้เจอวิกฤตเศรษฐกิจอะไรเลย เราก็อาจจะจำเป็นที่จะต้องขยายเพดานหนี้สาธารณะกันอีกครั้ง จาก 70% เป็นเท่าไรก็ไม่รู้ ซึ่งก็อาจจะเอาไม่อยู่แล้ว เพียงเพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโครงการเดียว”

 

ศิริกัญญากล่าวถึงสัดส่วนดอกเบี้ยต่อรายได้สูงที่สุดในรอบ 14 ปี ที่ดูเหมือนจะทำสถิติใหม่ไปเรื่อยๆ ทุกปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเลย เพราะสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะไปเบียดบังงบประมาณในส่วนอื่นๆ ในปีต่อๆ ไป เงินที่จะใช้พัฒนาประเทศในโครงการอื่นก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะจำเป็นที่จะต้องมานั่งรับภาระดอกเบี้ย เป็นไปอย่างที่ สส. ฝ่ายรัฐบาลได้พูดไว้ว่า โครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ได้ทำแค่ครั้งเดียวแล้วจะจบ เพราะผลกระทบในเชิงลบจะอยู่กับเราไปยาวๆ ลองคิดดูว่า เก็บภาษี เก็บรายได้ได้เท่าไร ก็ต้องเอาไปจ่ายดอกเบี้ยแล้วกว่า 10%

 

“5 ตัวชี้วัดทางการคลัง ที่งบประมาณปี 2568 ได้ทำลายสถิติลงไปอย่างสวยงาม อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลังทุกประการ ไม่มีอะไรผิดพลาด แต่ถ้าเกิดขึ้นหลายตัวหลายแหล่งพร้อมกันแบบนี้ ไต่เส้นไต่ขอบไปหมดทุกตัวแบบนี้ มันคือภาวะความเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไม่มีความพร้อม เหมือนคนภูมิคุ้มกันไม่ดี หรือไม่มีภูมิคุ้มกัน พอมีอะไรมากระทบหน่อยหนึ่งก็เจ็บป่วยรุนแรง อาจจะไม่ได้เกิดผลกระทบทันที แต่ประเทศที่ดีต้องมีการเตรียมความพร้อมรับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น”

 

ศิริกัญญากล่าวถึงงบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่กลับเหลืองบใช้ได้จริงแค่ 1 ใน 4 ของงบประมาณ เพราะมีรายจ่ายอื่นๆ ที่ไปยุ่ง ไปตัดไม่ได้ งบประมาณที่จะเอาไปคิด ไปทำ ไปพัฒนาประเทศ สุดท้ายจะเหลือไม่ถึง 1 ล้านล้านบาท ทางออกเดียวคือ เราจำเป็นจะต้องเพิ่มรายได้ แสดงศักยภาพในการหาเงินให้ประเทศได้แล้ว

 

ศิริกัญญายกตัวอย่างโครงการต่างๆ ของรัฐบาล ซึ่งมีเพิ่มขึ้นไม่กี่โครงการ และวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND ที่ไม่เป็นรูปธรรมชัดเจน ว่าถ้าท่านจะผลักดันขับเคลื่อนนโยบายอื่นๆ ของตัวเองให้ได้จริงจังสักครึ่งหนึ่งของที่ผลักดันดิจิทัลวอลเล็ตก็จะดีมาก เพราะเห็นได้ชัดมากว่าไม่ใช่แค่งบประมาณ ภาระทางการคลัง ทรัพยากร แต่รวมถึงสมาธิของคณะรัฐมนตรีที่หายไป เพราะถูกทุ่มไปให้กับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตโครงการเดียว

 

แต่เราคงต้องลุ้นกันต่อไปว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จ หรือจะได้ทำหรือไม่ เพราะเป็นการกู้เต็มจำนวน ไม่มีการบริหารจัดการ ตัดลบงบประมาณที่จำเป็น แทนที่จะตั้งโครงการใหม่ใส่ไว้ในหน่วยงานรับผิดชอบ ก็กลับเพิ่มรายการใหม่มาในงบกลาง

 

ทำให้คิดไป 3 เรื่อง ได้แก่

 

  1. หาทางหนีทีไล่เอาไว้ หากท้ายที่สุดไม่ได้ทำ จะได้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นง่ายขึ้น

 

  1. ไม่ใส่ไว้ในเงินใช้จ่ายฉุกเฉินจำเป็นของงบกลางเช่นเดียวกัน เพราะหากใส่จะเกินกรอบวินัยการเงินการคลัง

 

  1. หาเจ้าภาพไม่ได้ เลยมาแปะลอยๆ ไว้ก่อน แถมการใช้งบกลางก็อาจจะผิดตามมาตรา 22 หรือไม่ พร้อมทั้งไหลย้อนกลับไปกู้งบประมาณปี 2567 เพิ่มอีก
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising