สำนักข่าว Reuters รายงานว่า จีนจะไม่เข้าร่วมการประชุม Peace Summit ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ทั้งยังอ้างแหล่งข่าวนักการทูตหลายคนด้วยว่า จีนพยายามโน้มน้าวให้ผู้แทนประเทศและองค์กรต่างๆ ตัดสินใจไม่เข้าร่วมเวทีประชุมดังกล่าว พร้อมเสนอพื้นที่หารือใหม่ที่เปิดรับผู้เข้าร่วมจากทุกฝ่าย
เวทีประชุมสันติภาพที่สวิตเซอร์แลนด์ได้รับการตอบรับจากรัฐและองค์กรต่างๆ กว่า 90 แห่ง โดยพยายามจะผลักดันและสนับสนุนข้อเสนอสันติภาพของ โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน รวมถึงเรียกร้องให้รัสเซียถอนกองกำลังทหารทั้งหมดออกจากยูเครนโดยสมบูรณ์ หลังสงครามรัสเซีย-ยูเครนกำลังเข้าสู่ปีที่ 3
ขณะที่รัสเซียไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ พร้อมระบุว่า การประชุมที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ‘ไร้ประโยชน์’ ส่วนจีนซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับรัสเซียก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการประชุมที่สวิตเซอร์แลนด์ แม้ยูเครน สหรัฐอเมริกา และบรรดาชาติตะวันตก จะพยายามโน้มน้าวให้จีนเข้าร่วมก็ตาม โดยจีนไม่ได้วิพากษ์วิจารณ์การประชุม Peace Summit อย่างเปิดเผยหรือโน้มน้าวให้ประเทศอื่นๆ งดเข้าร่วมโดยตรง
ด้านกระทรวงการต่างประเทศจีน ระบุว่า “จีนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการประชุมสันติภาพจะไม่กลายเป็นพื้นที่ที่สร้างให้ฝักฝ่ายต่างๆ เผชิญหน้ากัน” พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า “การไม่เข้าร่วมไม่ได้หมายความว่าไม่สนับสนุนสันติภาพ”
ข้อเสนอของจีนเรียกร้องให้การประชุมสันติภาพระหว่างประเทศจัดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับจากทั้งรัสเซียและยูเครน ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน ตลอดจนมีการอภิปรายอย่างยุติธรรมเกี่ยวกับแผนสันติภาพทั้งหมด โดย เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย แสดงจุดยืนสนับสนุนให้จีนเป็นผู้จัดการประชุมดังกล่าว ซึ่งขณะนี้มีอย่างน้อย 45 ประเทศ สนับสนุนข้อเสนอของจีน
เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศเผย จีนได้ยื่นข้อเสนอให้ไทยและอีกหลายประเทศใช้เวทีทางเลือกอื่นตามแผนสันติภาพจีน เพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับสงครามและความขัดแย้งที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้
ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ในเอเชียหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมถึงไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และติมอร์ตะวันออก ต่างส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม Peace Summit ที่สวิตเซอร์แลนด์ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ ขณะที่มาเลเซียและกัมพูชา ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทางเศรษฐกิจกับจีน ปฏิเสธที่จะเข้าร่วม โดย ฮุน เซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระบุว่า ไม่ได้รับแรงกดดันจากทางการจีนแต่อย่างใด
แฟ้มภาพ: Sputnik / Sergei Bobylev / Pool via Reuters
อ้างอิง: