The Wall Street Journal (WSJ) รายงานว่า อีลอน มัสก์ แอบสานสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับหนึ่งในอดีตนักศึกษาฝึกงาน SpaceX ซึ่งกลายเป็นประเด็นคำถามถึงพฤติกรรมความเหมาะสมของบุคคลที่นั่งเก้าอี้ซีอีโอ และความเชื่อมั่นจากนักลงทุนเกี่ยวกับอนาคตของบริษัท
แม้ว่าตอนนี้ข่าวที่ออกมาจะยังไม่ได้สร้างผลกระทบเชิงธุรกิจกับ SpaceX หรือบริษัทที่มัสก์เป็นเจ้าของ แต่การกระทำดังกล่าวก็อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์องค์กรในด้านวัฒนธรรมการทำงานที่เข้าข่ายเป็น ‘Toxic’ ภายในบริษัท ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มลูกค้าและนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับองค์กรที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม (Ethical Corporate Behavior) ก็เลือกที่จะตีตัวออกหากจากบริษัท หรือแม้แต่ผู้ที่สนใจร่วมงานอีกด้วย
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มัสก์มีพฤติกรรมในทำนองนี้ เพราะเจ้าตัวเคยถูกกล่าวหาว่าพยายามย้ำกับอดีตพนักงานหญิงคนหนึ่งให้มีบุตรร่วมกับเขา แต่เธอปฏิเสธข้อเสนอ ก่อนจะลาออกจากบริษัทในปี 2013
ในปี 2021 อดีตพนักงาน SpaceX จำนวน 5 คน เคยรายงานกับ The Verge ไว้ว่ามีการล่วงละเมิดทางเพศภายในบริษัท โดยหนึ่งในนั้นให้ข้อมูลว่าเธอถูกแตะต้องร่างกายอย่างไม่เหมาะสม
แม้ว่าในปี 2022 อดีตพนักงานหลายคนจะฟ้องร้องไปยังคณะกรรมการไตรภาคีของสหรัฐอเมริกา ที่คุ้มครองแรงงาน แต่คำฟ้องของพวกเขากลับถูกเพิกเฉย เพราะผู้บริหารระดับสูงเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานและไม่ได้เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะกับซีอีโออย่างมัสก์ ซึ่งการเลือกปฏิบัติเช่นนี้ทำให้สภาพแวดล้อมการทำงานของพนักงานบางคนต้องตกอยู่ในความเสี่ยงของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
อย่างไรก็ตาม เกว็น ช็อตเวล ประธานและหัวหน้าฝ่ายดำเนินงานของบริษัท SpaceX ระบุว่า การรายงานของ WSJ ไม่เป็นความจริง และวัฒนธรรมการทำงานในองค์กรไม่ได้เป็นอย่างในข่าว ในขณะที่มัสก์ยังไม่ออกมาชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“ข้อมูลเท็จและความบิดเบือนต่างๆ ในประเด็นนี้ ทำให้เรื่องราวที่ถูกเขียนขึ้นผิดเพี้ยนไปอย่างมาก ดิฉันยังคงปลื้มและทึ่งกับความสำเร็จที่คนของเราทำในทุกวัน แม้ว่าพวกเขาจะต้องเจอกับความท้าทายมากมาย และสำหรับฉัน มัสก์คือหนึ่งในคนที่ดีที่สุดเท่าที่ฉันเคยรู้จักมา” ช็อตเวลกล่าว
ปัจจุบันสถานการณ์กำลังอยู่ระหว่างการสรุปข้อกล่าวหา แต่สิ่งที่น่าติดตามต่อคือนัยทางกฎหมายที่จะกระทบต่อธุรกิจได้หากมีการสู้คดี เนื่องจากทรัพยากรส่วนหนึ่งของบริษัทจะต้องถูกดึงไปใช้ในการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจหลักติดขัดหรือชะลอตัวได้ในบางจุด
นอกจากนี้ ความตื่นตัวทางสังคมกับแคมเปญ #MeToo ที่เป็นความเคลื่อนไหวเรื่องการกระทำผิดในที่ทำงานและความรับผิดชอบของบริษัทต่อสังคม ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรหลักที่คนให้ความใส่ใจมากขึ้น ในขณะที่ผลลัพธ์ของเรื่องนี้ยังไม่ออกมาเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน แต่ความเสี่ยงของอนาคตธุรกิจนั้นค่อนข้างชัด
กรณีของมัสก์ถือเป็นบทเรียนสำคัญของการมีผู้นำที่มีจริยธรรม การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้เกียรติซึ่งกันและกันในที่ทำงาน
ภาพ: Apu Gomes / Getty Images
อ้างอิง: