×

ปมพิพาทจีน-ฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ สงครามใหญ่ในเอเชียมีโอกาสแค่ไหน

13.06.2024
  • LOADING...
จีน-ฟิลิปปินส์

หนึ่งในไฮไลต์จากเวทีประชุมความมั่นคง Shangri-La Dialogue ที่สิงคโปร์ในปีนี้คือ บรรยากาศความตึงเครียดจากปมพิพาทระหว่าง จีน-ฟิลิปปินส์ ในทะเลจีนใต้ที่ยังคุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ที่ปมขัดแย้งนี้ อาจลุกลามบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ครั้งใหม่ในเอเชีย

 

เฟอร์ดินานด์ บองบอง มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ระบุว่า สถานการณ์ในปัจจุบันเกือบจะถึงเส้นสีแดง (Red Line) มากยิ่งขึ้นทุกขณะ หากมีชาวฟิลิปปินส์ถูกสังหารจากการกระทำโดยเจตนาในทะเลจีนใต้ นั่นอาจเรียกได้ว่าเป็นเหตุแห่งสงคราม (Act of War)

 

การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของผู้นำฟิลิปปินส์มีขึ้น หลังจากที่กองเรือตรวจการณ์ของทั้งสองประเทศพิพาทกันบ่อยครั้งยิ่งขึ้นเหนือน่านน้ำในทะเลจีนใต้ ที่ทั้งจีนและฟิลิปปินส์ต่างอ้างกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของ

 

ท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นของจีน

 

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง แสดงความเห็นกับ THE STANDARD ว่า ปมพิพาทระหว่างจีนและฟิลิปปินส์เริ่มเด่นชัดขึ้นอย่างมาก ภายหลังจากที่บองบอง มาร์กอสก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ โดยท่าทีที่แข็งกร้าวขึ้นของจีน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เรือตรวจการณ์กระแทกใส่เรือฟิลิปปินส์ที่มีขนาดเล็กกว่า การใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง รวมถึงการใช้เลเซอร์ทางทหารที่มีระดับความเข้มข้นสูง สะท้อนว่าจีนไม่ต้องการเจรจาหรือประนีประนอมต่อประเด็นนี้

 

ท่าทีที่ดูเป็นภัยคุกคามมากขึ้นของจีน ผลักให้ฟิลิปปินส์ใกล้ชิดกับมหาอำนาจนอกภูมิภาคอย่างสหรัฐอเมริกามากกว่าในยุคสมัยของโรดริโก ดูเตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนก่อนหน้า โดยฟิลิปปินส์ยังคงเดินหน้าสร้างพันธมิตรด้านความมั่นคงใหม่กับอีกหลายประเทศทั้งในเอเชียและตะวันตก รวมถึงอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ สามารถประจำการในฐานทัพฟิลิปปินส์ได้มากขึ้นอีกด้วย

 

ต่งจวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน ประกาศเตือนว่า จีนไม่อนุญาตให้ใครนำความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์หรือสงครามใดๆ ไม่ว่าจะร้อนหรือเย็นมาสู่ภูมิภาคนี้ พร้อมทั้งยืนยันว่าวัฒนธรรมเชิงกลยุทธ์ที่จีนยึดถือมีรากฐานมาจากความรักที่เป็นสากลและการไม่รุกรานกัน

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีนยังระบุในที่ประชุมว่า แม้จีนจะสามารถยับยั้งชั่งใจต่อการละเมิดหรือการยั่วยุใดๆ ที่เกิดขึ้นได้ แต่ความยับยั้งชั่งใจนั้น ‘มีขีดจำกัด’

 

อิทธิพลจีนต่ออาเซียน

 

ศ.ดร.สุรชาติอธิบายว่า จากเดิมที่การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน มักจะมีแถลงการณ์ร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทะเลจีนใต้เป็นประจำทุกปี แต่วาระดังกล่าวกลับถูกลดทอนความสำคัญลง หรือไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วมกันในประเด็นนี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดจีน ได้นั่งเก้าอี้ประธานอาเซียนในปี 2012 บ่งชี้ว่าจีนมีอิทธิพลอย่างมากต่อเวทีการประชุมอาเซียน

 

จีนต้องการที่จะหารือกับประเทศคู่พิพาทในลักษณะทวิภาคี มากกว่าที่จะนำประเด็นนี้ขึ้นสู่โต๊ะเจรจา โดย ศ.ดร.สุรชาติเชื่อว่า ประเด็นพิพาทในทะเลจีนใต้ใหญ่เกินกว่าที่จะพูดคุยกันในแบบทวิภาคีแล้ว และบ่อยครั้งที่บรรดารัฐเล็กจะถูกบีบหรือกดดันให้ต้องทำตามรัฐใหญ่ที่มีอำนาจและอิทธิพลมากกว่า จึงเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐต่างๆ ในอาเซียนจะต้องหาทางแก้ไขร่วมกัน

 

โอกาสที่จะพัฒนาเป็นสงครามใหญ่

 

มุมมองที่ว่าทะเลจีนใต้เป็น ‘จุดร้อน’ และอาจบานปลายกลายเป็นสงครามใหญ่ในเอเชีย ‘ไม่ใช่สิ่งใหม่’ ในทัศนะของ ศ.ดร.สุรชาติ โดยอาจารย์เชื่อว่าปัญหาด้านความมั่นคงในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลนี้จะยังคงคาราคาซังต่อไป ทั้งยังเชื่อว่าการเจรจายังเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้ปมพิพาทนี้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

 

สอดคล้องกับความเห็นของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ซึ่งมองว่าโอกาสที่กองเรือของทั้งสองประเทศจะกระทบกระทั่งกันอาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคตอันใกล้ แต่จุดร้อนในทะเลจีนใต้นี้อาจไม่ขยายตัวกลายเป็นสงครามใหญ่อย่างที่ใครหลายคนกังวล โดยบรรยากาศของความขัดแย้งจะยังคงคุกรุ่นและอึมครึมต่อไปอีก

 

จีนทราบดีว่าหากเปิดฉากทำสงครามกับฟิลิปปินส์ อาจเป็นการนำสหรัฐฯ เข้ามาร่วมวงสงครามในภูมิภาค เนื่องจากทั้งสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ต่างมีข้อตกลงด้านความมั่นคงระหว่างกัน อีกทั้งมหาอำนาจอย่างจีนและสหรัฐฯ เองก็พยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากันโดยไม่จำเป็น

 

เวที Shangri-La Dialogue ในปีนี้ เปิดโอกาสให้ต่งจวินได้พบปะหารือกับลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ถือเป็นการพูดคุยกันแบบตัวต่อตัวครั้งแรกระหว่างผู้นำระดับสูงทางด้านกลาโหมของทั้งสองประเทศ นับตั้งแต่ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนตกต่ำลง จากกรณีที่แนนซี เพโลซี ประธานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ขณะนั้น เดินทางเยือนไต้หวันในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2022 ทำให้จีนไม่พอใจเป็นอย่างมาก 

 

ออสตินได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของช่องทางสื่อสารระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และการคำนวณที่ผิดพลาด ซึ่งอาจทำให้ความขัดแย้งขยายตัว จนนำไปสู่การเผชิญหน้ากันของมหาอำนาจ โดยต่งจวินเน้นย้ำว่า จีนเปิดกว้างสำหรับการแลกเปลี่ยนความร่วมมือกับกองทัพสหรัฐฯ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความพยายามจากทั้งสองฝ่าย

 

บทบาทอาเซียนกับปมพิพาททะเลจีนใต้

 

รศ.ดร.สมชายกล่าวว่า ที่ผ่านมาอาเซียนเคยเห็นพ้องกันอย่างน้อย 3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปมพิพาทเรื่องเส้นเขตแดนในทะเลจีนใต้ ได้แก่ 1. เห็นพ้องที่จะแก้ไขปัญหาด้วย ‘สันติวิธี’

 

  1. การแก้ไขปัญหาพิพาทในทะเลจีนใต้จะต้องตั้งคณะกรรมการเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างคู่พิพาท เช่น กรณีพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและมาเลเซีย จนนำไปสู่การจัดตั้ง ‘พื้นที่พัฒนาร่วมกัน’ (Joint Development Area: JDA)

 

  1. สนับสนุนหลักจรรยาบรรณและแนวปฏิบัติ (Code of Conduct) ในการเดินเรือทางทะเล

 

แต่อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.สมชายชี้ว่า แนวทางเหล่านี้ยังไม่ประสบผลสำเร็จมากนัก อีกทั้งสมาชิกอาเซียนบางประเทศที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดมหาอำนาจ เช่น กัมพูชาที่ได้รับผลประโยชน์จากการค้าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากจีนจำนวนมหาศาล อาจทำให้ ‘เอกภาพในอาเซียน’ หรือแม้แต่การออกแถลงการณ์ร่วมกันต่อปมพิพาทในทะเลจีนใต้นั้น ‘เป็นไปได้ยาก’

 

โดย รศ.ดร.สมชายทิ้งท้ายว่า ถึงแม้ว่าปมพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะที่บริเวณสันดอนสการ์โบโรห์ และสันดอนโทมัสที่ 2 อาจไม่ได้ลุกลามบานปลายเป็นสงครามใหญ่ในเร็ววันนี้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปมพิพาทในทะเลจีนใต้นี้ รวมถึงวิกฤตข้ามช่องแคบไต้หวัน จะเป็นจุดร้อนที่เราจะต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์ความตึงเครียดอย่างใกล้ชิด ซึ่งความขัดแย้งเหล่านี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับประชาคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ภาพ: Ezra Acayan / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X