วานนี้ (12 มิถุนายน) ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง พิพากษายกฟ้องในคดี บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) ยื่นฟ้องคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรณีออกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565 (ครั้งที่ 2) และออกเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน โดยเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติและหลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชนให้แตกต่างจากหลักเกณฑ์เดิม ตามประกาศเชิญชวนฯ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2563 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นเหตุให้ BTSC เสียหาย
โดยศาลให้เหตุผลว่า จากการพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประกาศเชิญชวนฯ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนก่อนดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการที่พระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้แล้ว และไม่มีเหตุผลที่จะรับฟังว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายในลักษณะใด
อีกทั้งมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่เห็นชอบให้ยกเลิกประกาศเชิญชวนการร่วมลงทุนฯ และยกเลิกคัดเลือกเอกชนตามประกาศเชิญชวนฯ และเพิกถอนประกาศฯ ในการประชุมแต่ละครั้ง เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติในการคัดเลือกเอกชน เป็นเพียงขั้นตอนการเตรียมการและดำเนินการภายในของเจ้าหน้าที่ เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองทั่วไป ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของ BTSC ที่จะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากมติของคณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง
อย่างไรก็ตาม จากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ จะทำให้ รฟม. สามารถเซ็นสัญญากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ในฐานะผู้เสนอผลตอบแทนสูงสุดให้กับภาครัฐได้ภายในปีนี้