แบงก์ชาติเผย เศรษฐกิจไทยมีโอกาสโตตามเป้ารัฐบาลที่ 3% หากมีการเร่งเบิกจ่ายจากภาครัฐ หรือมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ชี้อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเหมาะสม รองรับความเสี่ยงได้ทั้งด้านบวกและลบ มองการปิดตัวของโรงงานยังไม่เป็นปัญหา
วันนี้ (12 มิถุนายน) ปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตอบประเด็นกระแสข่าวการปิดโรงงาน โดยระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวต้องมองให้ครบทุกมุม ทั้งยอดการเปิดและปิด โดยพบว่า แท้จริงแล้วยอดการปิดโรงงานลดลงในช่วงที่ผ่านมา และอัตราการเปิดกิจการสูงกว่า หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) ประมาณ 8%
นอกจากนี้จำนวนธุรกิจในภาพรวมที่ปิดตัวลงก็มีน้อยกว่าปีก่อน และมีธุรกิจที่เปิดกิจการมากกว่าปีก่อน
“ในทุกเดือนจะพบว่า มีจำนวนการเปิดธุรกิจราว 4,000-5,000 รายต่อเดือน และปิดราว 1,000 รายต่อเดือน”
เมื่อพิจารณาเฉพาะโรงงานพบว่า จำนวนโรงงานที่เปิดมีสูงกว่าโรงงานที่ปิดในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
“กลไกการเปิดและปิดโรงงานเป็นหนึ่งในกลไกเศรษฐกิจ ในการโยกย้ายทรัพยากรที่อาจใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ไปสู่การใช้ทรัพยากรให้มีศักยภาพมากกว่า” ปิติกล่าว
พร้อมทั้งระบุอีกว่า ต้องดูเหตุผลที่ปิดโรงงาน และจะสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น จำนวนแรงงานที่ถูกปลดจากโรงงานที่ปิด และที่ถูกจ้างเข้าไปใหม่ สุทธิแล้วพบว่า จำนวนที่จ้างสูงกว่าจำนวนที่ปลดหลายหมื่นคนต่อเดือน
เศรษฐกิจไทยฟื้นต่อเนื่อง อาจเข้าเป้า 3% ถ้าเร่งเบิกจ่าย-มีดิจิทัลวอลเล็ต
ปิติกล่าวอีกว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3% ในปีนี้ หากมีการเร่งการเบิกจ่ายจากภาครัฐ หรือมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามา
อย่างไรก็ดี ปิติยืนยันว่า ในคาดการณ์ GDP พื้นฐาน (Baseline) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รวมมาตรการภาครัฐต่างๆ ที่ชัดเจนเข้าไปแล้ว ตัวอย่างเช่น งบลงทุน และงบเบิกจ่ายการบริโภคภาครัฐ
ส่วนมาตรการเสริมต่างๆ จากภาครัฐที่ประกาศออกมาทั้งหมด กนง. ก็นำไปร่วมพิจารณาแล้วว่าจะมีผลกระทบมากแค่ไหน โดยมองว่า จุดยืนนโยบายการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันสามารถรองรับความเสี่ยงด้านสูงได้ (มาตรการภาครัฐ) รวมไปถึงความเสี่ยงด้านต่ำที่มาจากภาคส่งออก
ทั้งนี้ในการประชุม กนง. วันนี้ ธปท. ได้คงประมาณการ GDP ไทยปีนี้ไว้ที่ 2.6% แต่ปรับลดคาดการณ์การส่งออกลงเหลือ 1.8% จาก 2.0%
มองกรอบเงินเฟ้อปัจจุบันเหมาะสม-ชี้ปรับบ่อยมีผลกระทบ
ปิติยังมองว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% เป็นระดับที่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจ นอกจากนี้เมื่อเทียบกับต่างประเทศ 1-3% ก็เป็นระดับปกติ
โดยแม้จะทบทวนทุกปี แต่คงไม่ได้ปรับเปลี่ยนทุกปี เนื่องจากหากปรับเปลี่ยนทุกปีอาจกระทบกับคาดการณ์เงินเฟ้อ และอาจเป็นการสร้างความผันผวนและความไม่แน่นอนให้กับระบบ
ทั้งนี้ย้อนกลับไปเมื่อเดือนพฤษภาคม พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้พูดคุยกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในหลายประเด็น โดยหนึ่งในนั้นคือเรื่องเป้าหมายกรอบเงินเฟ้อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เนื่องจากกรอบเงินเฟ้อปัจจุบันที่ 1-3% ใช้มาราว 3-4 ปีแล้ว
ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายในอนาคต
ปิติยืนยันว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันเป็นอัตราที่เหมาะสม และเป็นกลาง (Neutral Rate) ไม่ได้ฉุดรั้งหรือเป็นอุปสรรคของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และไม่ได้ทำให้ภาวะการเงินหรือการขยายตัวของสินเชื่อหดตัวสะดุดจนฉุดรั้งเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี กนง. ไม่ได้ยึดมั่นว่าอัตราดอกเบี้ยจะต้องอยู่ในระดับนี้ไปตลอดกาล
“อัตราดอกเบี้ยไทยไม่ได้สูงเกินไป เห็นได้จากบางประเทศมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 4-5% เช่น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Fed) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และเพื่อนบ้านหลายประเทศ
“อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ย (ที่เหมาะสม) ควรเทียบกับสถานการณ์และโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นสิ่งที่ กนง. ถกและสอบทานทุกครั้งที่มีการประชุมว่า อัตราดอกเบี้ยที่กำหนดสอดคล้องกับการเติบโตตามศักยภาพและแนวโน้มเงินเฟ้อ”