ปตท.สผ. เซ็นสัญญาซื้อหุ้นสัดส่วน 10% ในพื้นที่สัมปทานกาชา นอกชายฝั่งยูเออี คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2030
มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด (PTTEP MENA Limited) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ.ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย (Sale and Purchase Agreement: SPA) เพื่อเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 10% ในพื้นที่สัมปทานกาชา (Ghasha) นอกชายฝั่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จากบริษัท วินเทอร์แชลล์ ดีอีเอ มิดเดิล อีสต์ จำกัด (Wintershall Dea Middle East GmbH) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของประเทศเยอรมนี การเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้นับเป็นความก้าวหน้าในการสร้างฐานการลงทุนที่แข็งแกร่งของ ปตท.สผ.ในยูเออี
รวมถึงการขยายการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง การซื้อขายสัดส่วนการลงทุนในครั้งนี้ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วของ ปตท.สผ.ได้ทันที
“พื้นที่สัมปทานกาชาเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ยูเออีให้ความสำคัญ การเข้าร่วมลงทุนครั้งนี้จึงเป็นอีกความก้าวหน้าสำคัญของ ปตท.สผ.ในการขยายฐานการลงทุนอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้งยังช่วยเสริมประโยชน์และประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการร่วมกับโครงการสำรวจอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งบริษัทลงทุนอยู่แล้ว โดยเราพร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลก เพื่อพัฒนาและผลักดันโครงการให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย” มนตรีกล่าว
สำหรับแปลงสัมปทานกาชาตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของเมืองอาบูดาบีในยูเออี คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2030 นอกจากนี้โครงการยังมีแผนการดำเนินงานในการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี (MMtpa) เพื่อให้เป็นโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
อีกทั้งแปลงสัมปทานกาชายังตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1, โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 ซึ่ง ปตท.สผ.ร่วมทุนอยู่แล้ว จึงเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการโครงการร่วมกัน
นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ปตท.สผ.ยังลงทุนในโครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ และโครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย ซี ในยูเออีด้วย ซึ่งอยู่ในระยะสำรวจ รวมทั้งยังมีโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติแอดนอค (AGP) ที่อยู่ในระยะผลิตด้วย