×

จับตา 3Q67 มี 6 ประเด็นสำคัญกระทบเศรษฐกิจ-การลงทุน ติดตามคดีการเมืองร้อน หวั่นเกิดกรณีเลวร้ายถ่วงเศรษฐกิจไทย

11.06.2024
  • LOADING...

อินโนเวสท์ เอกซ์ แนะจับตาปัญหาสำคัญปัจจัยการเมือง ผลคดีนายกฯ เศรษฐา ตั้ง พิชิต ชื่นบาน นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีประจำสำนักฯ หวั่นจัดทำงบประมาณฯ ล่าช้า และกระทบความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ

 

ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Research หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ในไตรมาส 3/67 มีประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามใน 6 สถานการณ์ ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนดังนี้

 

ประเด็นที่ 1 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก สัญญาณการฟื้นตัวที่พร้อมเพรียงกันมากขึ้น หรือ Global Synchronized Recovery ซึ่งมีภาพการฟื้นตัวเริ่มต้นจากสหรัฐฯ ไปยังโลก และต่อเนื่องมายังภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะภาคการผลิตที่มีการฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งในจีนและภูมิภาคเอเชีย ดังนั้น เหมือนว่าเศรษฐกิจของเอเชียมีโอกาสที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องไปถึงปลายปีและต่อเนื่องไปถึงปี 2568 รวมถึงการฟื้นตัวของ Domestic Demand ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องหรือไม่

 

ประเด็นที่ 2 เริ่มเห็นการทยอยปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB), ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) และล่าสุดธนาคารกลางยุโรป (ECB) ที่ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยคาดว่า ECB มีโอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยลงประมาณ 3 ครั้ง หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัว ขณะที่เศรษฐกิจแม้เริ่มมีการฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในอัตราที่ชะลอลงเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

 

ประเด็นที่ 3 ภาคเศรษฐกิจของสหรัฐฯ​ ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีสัญญาณการชะลอตัวของตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น หลังจากแนวโน้มตัวเลขการว่างงานปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ชะลอความร้อนแรงลง รวมถึงภาพการผลิตซึ่งจะมีการชะลอตัว โดยคาดว่าธนาคารสหรัฐฯ (Fed) จะคงอัตราดอกเบี้ยไปจนกระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายนปีนี้ จากนั้นมีโอกาสที่ Fed จะเริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยได้จำนวน 1-2 ครั้ง

 

ทั้งนี้ในกรณีของสหรัฐฯ มีข้อมูลดัชนี ISM Manufacturing ที่ใช้ชี้วัดโมเมนตัมของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคตได้ค่อนข้างดี โดยปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาชะลอตัวค่อนข้างแรง ซึ่งต้องติดตามต่อว่าจะกดดันให้ภาคอื่นๆ ชะลอตัวลงด้วยหรือไม่ ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อเริ่มมีทิศทางชะลอตัวลงอยู่ 2.8% ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 4% เป็นไปตามเป้าของ Fed แล้ว จึงมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยได้

 

ประเด็นที่ 4 เศรษฐกิจจีนเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว แต่ยังเป็นในลักษณะเปราะบางหรือมีความอ่อนแอ โดยรัฐบาลจีนพยายามปรับรูปแบบของนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หันมาใช้มาตรการกระตุ้นผ่านนโยบายการคลังเพิ่มมากขึ้น โดยใช้วงเงินกระตุ้นราว 1 ล้านล้านหยวน รวมถึงออกมาตรการลดการวางเงินดาวน์และลดดอกเบี้ยสำหรับซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ วงเงิน 3 แสนหยวน เพื่อนำไปซื้อบ้านที่สร้างเสร็จแล้วนำมาเป็นโครงการบ้านเอื้ออาทร ซึ่งยังต้องติดตามว่ามาตรการต่างๆ เหล่านี้จะช่วยเศรษฐกิจของจีนได้มากน้อยอย่างไร 

 

อย่างไรก็ดีมีปัจจัยสำคัญคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะช่วยหนุนให้การส่งออกของจีนฟื้นตัวและการบริโภคภายในของจีนดีขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ประชาชนมีกำลังซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีภาคการเงินที่ต้องจับตาเป็นพิเศษหลังจากที่การเติบโตของสินเชื่อค่อนข้างชะลอตัวลงอย่างหนัก

 

ประเด็นที่ 5 ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งมีปัจจัยสำคัญของโลกที่ต้องติดตาม คือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 2567 หลังจากก่อนหน้านี้เริ่มเห็นปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทั้งประเด็นของการสู้รบทำสงคราม รวมถึงสงครามการค้าที่เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องจับตาว่ามีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นไปจนถึงช่วงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือไม่

 

ประเด็นที่ 6 ปัจจัยของการเมืองไทย แม้มีมุมมองว่าเศรษฐกิจของไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก แต่มีปัญหาที่สำคัญที่สุดต้องจับตา คือปัจจัยการเมือง โดยเฉพาะคดีความต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างคดีของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จากกรณีแต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นประเด็นสำคัญที่กระทบต่อการบริหารราชการ รวมทั้งการจัดทำงบประมาณฯ และความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ

 

 

ปัจจัยการเมืองกระทบเศรษฐกิจไทยแค่ไหน

 

สำหรับปัจจัยการเมืองในประเทศประเมินว่า มีผลกระทบค่อนข้างมากต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศ โดยมีการคาดการณ์สถานการณ์การเมืองต่างๆ ออกมา ดังนี้

 

  • สถานการณ์กรณีฐาน (Base Case) ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเป็นคุณกับ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน แต่งตั้ง พิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะทำให้กระบวนการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบันอย่างดำเนินการต่อไปได้ คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.5% ในปี 2567 และขยายตัว 3% ในปี 2568 ในเรื่องดังกล่าวประเมินว่ามีความเป็นไปได้ประมาณ 80%

 

  • สถานการณ์กรณีที่เลวร้าย หากศาลตัดสินเป็นคุณกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และนำมาสู่กระบวนการสรรหานายกฯ ใหม่แต่ยังได้นายกฯ มาจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งต้องมีกระบวนการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีใหม่ ส่งผลให้กระบวนการจัดทำงบประมาณปี 2568 ล่าช้าไป 1 ไตรมาส ดังนั้นคาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.3% ในปี 2567 และขยายตัว 2.7% ในปี 2568

 

  • กรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case) หากศาลตัดสินไม่เป็นคุณกับนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน และนำมาสู่กระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีใหม่ แต่ไม่สามารถสรรหานายกรัฐมนตรีได้ภายในไตรมาส 3/67 ซึ่งจะกระทบกับกระบวนการจัดทำงบประมาณปี 2568 ให้ล่าช้าออกไปอีก 2 ไตรมาสเป็นอย่างน้อย คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2% ในปี 2567 และขยายตัว 2.5% ในปี 2568 ซึ่งกรณีนี้มีความเป็นไปได้ประมาณ 5%

 

ทั้งนี้ จากการทำโมเดลจำลองเศรษฐกิจใหม่ของ บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คือ INVX Thailand GDPNow Model พบว่า ข้อมูลเดือนเมษายนบ่งชี้ว่า GDP ไตรมาส 2/67 จะเติบโต 2.3% ใกล้เคียงกับที่เคยคาดไว้ที่ระดับ 2.5% และในไตรมาส 3/67 จะเติบโต 3.1% และไตรมาส 4 เติบโต 2.9% แต่ยังต้องติดตามปัจจัยการเมืองว่าส่งผลต่อภารกิจอย่างไร

 

สำหรับกรณีที่ตลาดหุ้นไทยวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงทำจุดต่ำสุดในรอบ 4 ปี มองว่ามาจากปัจจัยการเมืองในประเทศที่กดดันการลงทุน เพราะหากดูปัจจัยเศรษฐกิจจะเห็นว่าเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่หากแยกออกเป็นกลุ่ม เช่น อสังหาริมทรัพย์หรือภาคการใช้จ่ายบางส่วนอาจยังไม่ฟื้น ขณะที่ภาพรวมการลงทุนทั่วโลกยังมีบรรยากาศที่ดีขึ้นต่อเนื่อง หลังจากสัญญาณดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ในอนาคตเริ่มมีทิศทางลดลง ส่งผลให้ตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วฟื้นตัวดีขึ้น รวมทั้งจีนและฮ่องกงที่ฟื้นตัวดีขึ้นจากมาตรการของรัฐบาล

 

ขณะที่มีเพียงตลาดหุ้นไทยเพียงแห่งเดียวที่ยังปรับขึ้นช้า (Laggard) เพราะถูกปัจจัยกดดันจากทางการเมืองอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด หากไม่มีปัจจัยการเมืองกดดัน รัฐบาลสามารถบริหารได้อย่างราบรื่น รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินนโยบายทางการเงินได้อย่างเหมาะสม คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน รวมถึงตลาดหุ้นไทยที่ควรจะดีขึ้นจากระดับปัจจุบัน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X