กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นออกนโยบายเปิดช่องให้แรงงานต่างชาติที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ลงทะเบียนเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยมีเป้าหมายสร้างความมั่นคงให้ประชากรในระยะยาว
Nikkei Asia รายงานว่า ปัจจุบันในญี่ปุ่นมีแรงงานชาวต่างชาติอาศัยอยู่กว่า 3 ล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคนที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปีจะต้องลงทะเบียนในระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญเพื่อรับสวัสดิการต่างๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเข้าถึงกองทุนได้ทุกคน
เห็นได้จากการสำรวจพบว่า สัดส่วนของแรงงานชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนอยู่ที่ 4.4% สูงกว่าคนญี่ปุ่นในกลุ่มอายุเดียวกันมากถึง 4.4% สะท้อนให้เห็นว่า ยังมีพนักงานหลายกลุ่มอาชีพที่ไม่ได้ลงทะเบียนกองทุนบำเหน็จบำนาญ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นจึงเตรียมแก้ไขระบบกองทุนบำเหน็จบำนาญให้ลงทะเบียนได้ง่ายขึ้น เพื่อเปิดรับแรงงานต่างชาติที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ โดยมีเป้าหมายให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานในญี่ปุ่นทุกคนลงทะเบียนเข้าไปอยู่ในระบบ
ทั้งนี้ หากไม่ลงทะเบียนก็จะไม่สามารถรับผลประโยชน์ได้ ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเกษียณอายุ 65 ปี จะไม่สามารถรับเงินช่วยเหลือด้านทุพพลภาพ ซึ่งหากอ้างอิงข้อมูลของสถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติ ตั้งเป้าให้ชาวต่างชาติจะต้องเข้าสู่ระบบ 7.29 ล้านคนภายในปี 2050
ส่วนแรงงานชาวต่างชาติที่วางแผนจะทำงานในญี่ปุ่นเป็นเวลาระยะสั้นน้อยกว่า 5 ปี ก็จะได้รับการยกเว้นให้เข้ากองทุน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเริ่มออกนโยบายสั่งให้ประชากรตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปทุกสัญชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ลงทะเบียนในกองทุนบำเหน็จบำนาญมาตั้งแต่ปี 2019 ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจและสร้างความมั่นคงให้กับประชากรในระยะยาว
อ้างอิง: